กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอกให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของหน่วยงานและมหาวิทยาลัย” ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2553 ณ หอประชุม 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ซึ่งจะมีการบรรยายในหัวข้อ ตัวบ่งชี้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 และ การสร้างตัวบ่งชี้และเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มเติมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย โดย รศ.ดร.สมบูรณ์วัลย์ สัตยารักษ์วิทย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงวิเศษ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่จะต้องดำเนินการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีระบบการควบคุม ติดตามตรวจสอบ และประเมินคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอก ประกอบกับปัจจุบันมีการประกาศมาตรฐานการศึกษาของชาติและมาตรฐานการอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จึงพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการอุดมศึกษาในเรื่องการพัฒนาและทบทวนระบบกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ให้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเชื่อมโยงกับการประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก โดยกำหนดให้มีการสร้างตัวบ่งชี้เพิ่มเติม การพัฒนาตัวบ่งชี้ เกณฑ์การประเมินคุณภาพที่เหมาะสม และเป็นอัตลักษณ์ของหน่วยงานและมหาวิทยาลัย เนื่องจากตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอกที่ได้พัฒนาใหม่นั้น กำหนดเกณฑ์มาตรฐานสูงเกินกว่าที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการให้ได้มาตรฐานได้ทั้งหมด และบางตัวบ่งชี้ยังไม่สอดคล้องกับภารกิจและบริบทของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายในอย่างแท้จริง
ดังนั้น สำนักพัฒนาคุณภาพและระบบบริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จึงจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอกให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของหน่วยงานและมหาวิทยาลัย ขึ้น เพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้สำหรับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ให้ดำเนินการได้ตามศักยภาพและสอดคล้องกับภารกิจ และบริบทของมหาวิทยาลัย และมีมาตรฐานตามกรอบของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษาและประกันคุณภาพ (สมศ.) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสอดคล้องภารกิจของมหาวิทยาลัยให้ครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบด้านปรัชญา ปณิธาน วัตถุประสงค์ และแผนดำเนินงาน ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบด้านการเรียนการสอน ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบกิจกรรม???การพัฒนานิสิตนักศึกษา ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบด้านการวิจัย ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบด้านการบริการทางวิชาการแก่สังคม ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบด้านการบริหารและการจัดการ ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบด้านการเงินและงบประมาณ และตัวบ่งชี้ องค์ประกอบระบบและกลไกการประกันคุณภาพ