"กิตติรัตนพรรณ เพิ่มมูลค่าใบมันสำปะหลังผลิตแทนนิน รายแรกของไทย"

ข่าวทั่วไป Thursday December 2, 2010 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--สวทช. บจก.กิตติรัตนพรรณ เพิ่มมูลค่าใบมันสำปะหลังผลิตสารแทนนินจากใบมันฯ รายแรกของไทย แก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้ง โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) บจก.กิตติรัตนพรรณ เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งจากภาคเกษตร ผลิต “สารแทนนินจากใบมันสำปะหลังนวัตกรรมจากฝีมือคนไทยรายแรก แก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งด้วยวิธีธรรมชาติ ลดอัตราความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ระบุ ผลสำเร็จที่ได้เกิดจากการวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ iTAP ‘มันปะหลัง’เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศมีมูลค่าการส่งออกปีละหลายหมื่นล้านบาทมากว่า 40 ปี เป็นพืชที่ปลูกได้ดีในดิร่วนและดินทราย แม้แต่บริเวณที่แห้งแล้งไม่สามารถปลูกพืชอื่นได้ มันสำปะหลังก็สามารถเจริญเติบโตได้ ผลผลิตจากหัวมันสำปะหลังนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ ส่วนใบมันสำปะหลังซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการผลิตในไร่ นอกจากใช้เป็นอาหารสัตว์แล้ว ล่าสุดมีการนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นอีก โดยมีเอกชนไทยเห็นความสำคัญถึงประโยชน์นำมาสู่งานวิจัยและพัฒนาวิธีการสกัดสารแทนนินจากใบมันสำปะหลัง เพื่อลดการระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง นอกจากเพิ่มมูลค่าแล้วยังสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกด้วย แทนนิน (tannin) เป็นสารที่มีโมเลกุลใหญ่และโครงสร้างซับซ้อน มีสถานะเป็นกรดอ่อน รสฝาด มีอยู่ในต้นพืชหลายชนิด ซึ่งสารนี้จะมีอยู่ทั้งในใบ,ลำต้น,เปลือก,ราก และฝัก โดยแทนนินมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ คอนเดนส์แทนนิน (condensed tannin) และไฮโดรไลซ์แทนนิน (hydrolysable tannin) ประโยชน์ของแทนนินที่นิยมนำมาใช้กันในอุตสาหกรรมฟอกหนัง เพราะมีคุณสมบัติตกตะกอนโปรตีนทำให้หนังสัตว์ไม่เน่าเปื่อย นอกจากนี้ ยังนำมาใช้ในการยับยั้งการเจริญโตเติบของจุลินทรีย์ , ย้อมผ้า , บำบัดน้ำเสีย , กาว , ปุ๋ย , ยารักษาโรค และธุรกิจปลาสวยงาม เป็นต้น แต่แทนนินที่สกัดได้ส่วนใหญ่สกัดมาจากพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่ “ใบมันสำปะหลัง” บริษัท กิตติรัตนพรรณ จำกัด เป็นบริษัทของคนไทยรายแรกและรายเดียวที่สามารถพัฒนาสารแทนนินที่สกัดจากใบมันสำปะหลังออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ ถือเป็นนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ร่วมกับอาจารย์จากภาควิชาพฤษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยและพัฒนาขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายสุดชาย กำเนินมณี รองประธานกรรมการ บริษัท กิตติรัตนพรรณ จำกัด ในฐานะผู้ที่ศึกษาวิจัยเรื่องมันสำปะหลังมานานกว่า 14 ปี และเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นว่า ตนเองนั้นจบการศึกษาจากคณะเกษตร สาขาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมีความสนใจเรื่องมันสำปะหลังมานานแล้ว จนเมื่อมีการจัดทำปัญหาพิเศษของนิสิตจากภาควิชาพฤษศาสตร์ ที่ต้องการศึกษาวิจัยเรื่องปริมาณของสารแทนนินในใบมันสำปะหลังเมื่อปี 2549 จึงให้เข้าใช้พื้นที่แปลงทดลองของตนที่ อ.สีคิ้ว เพื่อทำการศึกษาดังกล่าว จากการคลุกคลีกับเรื่องดังกล่าวมานาน นำมาสู่การทำธุรกิจ โดยเริ่มก่อตั้งบริษัทฯ ขึ้นเมื่อประมาณปี 2548 เน้นจำหน่ายท่อนพันธุ์ และผลิตใบมันสำปะหลังบดคัดพิเศษบรรจุกระสอบจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ให้กับฟาร์มโคนม โคเนื้อ และฟาร์มปลาสวยงาม และจากปัญหาพิเศษฉบับดังกล่าว จึงเกิดแนวคิดใหม่ในการเพิ่มมูลค่าใบมันฯ การพัฒนาสารสกัดแทนนินจากใบมันสำปะหลัง โดยทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการและในไร่มันสำปะหลัง พบว่า การใช้สารสกัดแทนนินนี้ช่วยให้ต้นมันสำปะหลังสะอาด ไล่เพลี้ยแป้ง แตกยอดใหม่ได้ดี ไม่หงิกงอ ลำต้นยืดยาวได้เป็นปกติและมีการแตกทรงพุ่มได้ดี เนื่องจากแทนนินมีคุณสมบัติ ช่วยยับยั้งการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง (ป้องกันการระบาดของเพลี้ยแป้ง) นอกจากนนี้ยังช่วยส่งเสริมการดูดซึมธาตุอาหาร ทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตสมบูรณ์พ้อมที่จะลงหัวได้อย่างเต็มที่ นายสุดชาย กล่าวว่า ผลการศึกษาปริมาณของแทนนินในใบมันสำปะหลังจากรายงานปัญหาพิเศษฉบับดังกล่าว เป็นที่มาของการเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.)โดยมีรศ.ดร.วัลลภ อารีรบ อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ โดยเริ่มโครงการแรกปี 2552 เพื่อศึกษาวิธีการสกัดสารแทนนินจากใบมันสำปะหลังในเชิงพาณิชย์ จนประสบผลสำเร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 รวมทั้งสิ้น 4 โครงการ ประกอบด้วยโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบมันสำปะหลัง เพื่อศึกษาวิธีการและชนิดของสารที่ใช้ในการสกัดสารแทนนินในระดับห้องปฏิบัติการ ซึ่งปริมาณที่ได้ยังไม่เพียงพอที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงเกิดเป็นโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการสกัดแทนนินจากใบมันสำปะหลังตามมา เพื่อพัฒนาเครื่องสกัดต้นแบบขนาด 10 ลิตร จากนั้นยังได้ดำเนินการต่อในโครงการพัฒนาสกัดแทนนินจากใบมันสำปะหลังเพื่อการควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้สารสกัดแทนนินจากใบมันสำปะหลัง สำหรับควบคุมการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังปลอดภัยกับเกษตรกร และยังช่วยปรับปรุงบำรุงดินอีกทางหนึ่ง จากผลวิจัยและทดลองนำสารแทนนินที่สกัดได้ไปฉีดพ่นในไร่มันสำปะหลัง พบว่า มีผลในการลดจำนวนการเข้ามากัดกินทำลายต้นมันสำปะหลังของเพลี้ยแป้งได้กว่า 75% หรือจากความรุนแรงระดับ 5 เหลือระดับ 1 ซึ่งสาเหตุที่เพลี้ยแป้งลดลงเพราะคุณสมบัติของสารแทนนินนั้น มีรสฝาด เมื่อแมลงเจาะเข้าไปเพื่อดูดน้ำเลี้ยงในลำต้นของมันสำปะหลังก็จะขม แมลงจะไม่ชอบ ทำให้ไม่อยากดูด เกิดอาการท้องอืดและเบื่ออาหาร เพลี้ยก็จะค่อยๆ หายไป เป็นการไล่เพลี้ย ช่วยลดการระบาดของเพลี้ยแป้งที่กำลังเป็นปัญหาอย่างมากของเกษตรกรและโรงงานผลิตแป้งมัน เพราะปัจจุบันยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างแท้จริง แม้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้มีความพยายามหาวิธีการควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งแทนการใช้สารเคมีก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ แต่ผลงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการยืนยันถึงความปลอดภัยในการใช้สารแทนนินแทนการใช้สารเคมีในการไล่เพลี้ยแป้งได้จริง บริษัทฯ จึงสนใจพัฒนาสารแทนนินบริสุทธิ์เพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป นายสุดชาย กล่าวว่า“ แทนนินในประเทศไทยยังไม่มีใครทำ บริษัทฯ จึงถือเป็นรายแรกที่ผลิตและจำหน่ายสารแทนนินสกัดจากใบมันสำปะหลัง ส่วนที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาดขณะนี้เป็นแทนนินที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยแทนนินที่สกัดจากเปลือกไม้โกงกางมีเพียง 2 ประเทศ คือ บราซิลและนิวซีแลนด์ ส่วนผลิตภัณฑ์ Back Water ที่นิยมใช้กันในธุรกิจปลาสวยงามนั้นนำเข้าจากเยอรมนีซึ่งสกัดจากพีสมอส มีราคาแพง ลิตรละ 1,200 บาท ส่วนของไทยราคาเพียง 500 บาท เพราะนอกจากความได้เปรียบเรื่องของต้นทุนการผลิตแล้ว วัตถุดิบที่ใช้ คือ ใบมันสำปะหลัง ยังเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง โดยใช้เวลาว่างเก็บใบในช่วงเช้าและเย็น นำใบตากแห้งมาขาย ปัจจุบันบริษัทรับซื้ออยู่กิโลกรัมละ 5-10 บาท ( การเก็บใบจะเริ่มเก็บได้เมื่อมันสำปะหลังมีอายุตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป จนถึงฤดูการเก็บเกี่ยว โดยเก็บเพียงต้นละ 5-10 ใบเอาเฉพาะใบที่โตเต็มที่เท่านั้น ซึ่งเกษตรกรจะต้องมีวิธีการเก็บใบและการตากแห้งที่ถูกต้อง เพราะหากเก็บใบออกจนหมดจะทำให้ผลผลิตของหัวมันลดลง) เชื่อว่าผลิตภัณฑ์นี้จะเข้ามาเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง หากได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร สนใจนำสารแทนนินจากใบมันสำปะหลังไปใช้กำจัดเพลี้ยแป้ง จะช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีอันตรายให้กับเกษตรกรได้ ” ที่สำคัญสารแทนนินที่สกัดจากใบมันสำปะหลังนี้เป็นการเอาของเหลือจากภาคเกษตรคือ“ใบ”ปกติจะตกหล่นอยู่ในไร่หรือถูกเผาทิ้ง การนำมาสกัดสารแทนนินโดยกากที่เหลือจากการสกัด ยังสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพราะในใบมันฯ จะให้ธาตุอาหารสูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์ปกติ จึงเป็นที่มาของโครงการที่ 4 ซึ่งผลการศึกษายังพบว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรในเขตภาคอีสานได้ 30% สำหรับดินทราย และ 32% สำหรับดินร่วนปนทราย ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสร้างโรงงานผลิต คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2554 ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้มีการทดลองตลาดและออกวางจำหน่ายบ้างแล้ว ทั้งที่ตลาดนัดสวนจตุจักร และร้านขายผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงบางแห่ง หรือสั่งซื้อโดยตรงกับทางบริษัท “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการพัฒนาซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งหมดทุกขั้นตอนของการดำเนินงานผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยกับเกษตรกรผู้ใช้ ไม่เป็นพิษ ไม่มีผลตกค้างต่อผู้ใช้ ไม่ทำลายระบบนิเวศวิทยาเหมือนสารเคมี และกากที่เหลือยังสามารถนำไปใช้ได้หมดไม่เหลือทิ้งให้สูญเปล่า การนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่ายังสร้างงานและสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร เพราะเป็นการรับซื้อของที่ไม่มีราคาจากเกษตรกรโดยตรง นำมาพัฒนาสร้างนวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังได้ศึกษาพัฒนาต่อยอดในอีกหลายด้าน เช่น การบำบัดน้ำเสีย การใช้ดับกลิ่นสัตว์เลี้ยง การช่วยติดสีในผ้าไหมย้อมธรรมชาติ และกาวไม้อัดที่ปราศจากสารก่อมะเร็ง เพราะประโยชน์ของแทนนินนั้นยังมีอยู่มาก” รองประธานกรรมการ บจก.กิตติรัตนพรรณ กล่าว สำหรับความเห็นต่อโครงการ iTAP นายสุดชาย กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดี เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยลดภาระด้านต้นทุนในการวิจัยให้กับผู้ประกอบการ เพราะงานวิจัยบางอย่างต้องทำอย่างต่อเนื่องกว่าจะเห็นผล เช่นกรณีของบริษัทที่ต้องทำวิจัยอย่างต่อเนื่องถึง 4 โครงการจึงจะได้ผลผลิตออกมา เพื่อพัฒนาออกมาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางบริษัทฯ จะยังคงพัฒนาต่อไปบริษัท กิตติรัตนพรรณ จำกัด เลขที่ 31/5 หมู่ 7 ซ.ผู้กองอารักษ์ ถ.ศาลาธรรมสพน์ ต.ศาลาธรรมสพน์ อ.ทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10170 โทรศัพท์ 02-889-6614 แฟ็กซ์ 02-889-6615 สำหรับผู้สนใจขอรับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP ติดต่อได้ที่โครงการ iTAP โทร. 2-564-7000 ต่อ โครงการ iTAP หรือที่เครือข่ายiTAP-มทส. โทร. 044-224-921 และ 044-224-818 หรือ เข้าดูผลงานที่ผ่านมาและสาระความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ที่เว็บไซต์ www.creativeenterprise.in.th ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 115,114

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ