กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--สวทช.
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดันเครือข่าย iTAP และ MTEC (สวทช.) เข้าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน พร้อมระดมความเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างเป็นระบบทดแทนการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และพัฒนาวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมาใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ปาล์มใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ตอบสนองนโยบายของรัฐในการผลักดันให้จังหวัดกระบี่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มครบวงจรของไทย
‘ปาล์มน้ำมัน’ เป็นพืชน้ำมันที่สำคัญของไทยและนิยมปลูกกันมากในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ , สุราษฎร์ธานี , ชุมพร , สตูล และบางพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจังหวัดกระบี่ถือเป็นจังหวัดที่รัฐบาลผลักดันให้เป็นออยปาล์มซิตี้ หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดกระบี่เป็นแหล่งเพาะปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุด โดยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 7แสนกว่าไร่ มีผลผลิตปาล์มถึงกว่า 2 แสนต้นต่อปีและยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่ครบวงจรอีกด้วย ไม่เฉพาะเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของไทยเท่านั้น
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้กระบี่เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ขณะเดียวกันความสำคัญของปาล์มน้ำมันที่เริ่มเปลี่ยนจากการใช้ในการบริโภคเพียงอย่างเดียวในอดีต คือ น้ำมันพืช แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของพลังงานทดแทน ทำให้ สวทช. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะเครือข่าย iTAP ที่มีโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนบนและตอนล่างของไทย ได้มองเห็นร่วมกันในการที่จะพัฒนาขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่มีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ และพร้อมที่จะพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย เชื่อว่า หากมีการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแล้ว จะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศต่อไปในอนาคต
ดังนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะเครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ จัดสัมมนาเรื่อง “การนำวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมาใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่า” และ “Carbon credit…ผลประโยชน์ที่ไม่ควรมองข้าม”ขึ้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของวัสดุเหลือใช้จากปาล์มน้ำมันนำมาเพิ่มมูลค่าซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในจังหวัดกระบี่ และยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เพื่อรวบรวมผลที่ได้มาจัดทำเป็นแผนการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบในแต่ละด้านให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป
รศ.คำรณ พิทักษ์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ และการจัดการระบบคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดกระบี่อย่างมาก นอกจากนำมาสกัดเป็นน้ำมันพืชสำหรับบริโภคแล้วทุกส่วนของต้นปาล์มยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ แม้แต่ของเหลือใช้ต่างๆ อาทิ ลำต้น กาก ใบ ทะลาย เปลือก หรือเส้นใยปาล์ม รวมถึงน้ำเสียจากโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันยังสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานชีวภาพหรือไบโอแมส เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนนำมาผลิตไบโอดีเซลใช้แทนน้ามันดีเซล ซึ่งกำลังมีการรณรงค์ให้หันมาใช้พลังงานทดแทนกันมากขึ้นในยุคที่ราคาน้ำมันแพงเช่นนี้
“ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงมาก สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งในรูปของผลิตภัณฑ์ และพลังงานมากมายกว่าที่เห็น แต่ที่ผ่านมาเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมานานนับสิบปี อีกทั้งเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ใช้อยู่เป็นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่เราสามารถผลิตขึ้นได้เองในประเทศ เป็นเพราะขาดแรงผลักดันและสนับสนุนอย่างเนื่อง นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย ”
นายชูชัย คนซื่อ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยขึ้น เพราะนอกจากต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากมาเลเซียแล้ว ประเทศไทยยังประสบปัญหาเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรและองค์ความรู้ทางด้านอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อกำหนดทิศทางการส่งเสริม การสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
“ที่ผ่านมาทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ได้มีการรวมกลุ่มกันของเอกชน และเชิญวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมันชั้นนำจากประเทศมาเลเซียเข้ามาให้ความรู้เทคนิคด้านการจัดการภายในโรงงงาน การกำจัดต้นเหตุความสูญเสียทั้งเรื่องของวัตถุดิบ และของเสีย รวมทั้งเรื่องของเทคนิคด้านพลังงานที่ใช้ในโรงงาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสูญเสียของอุตสาหกรรมในบ้านเราอย่างมาก ในฐานะผู้ประกอบการจึงมีแนวคิดร่วมกันที่จะปรับปรุงและพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย”
สำหรับการผลักดันให้จังหวัดกระบี่ไปสู่จังหวัดปาล์มน้ำมันต้นแบบ หรือ ออยปาล์มซิตี้ ทางจังหวัดฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนของกลุ่มฯ ทั้งทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร จึงต้องการดึงองค์ความรู้ที่มีอยู่ในประเทศเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุน อาทิ ในเรื่องของบุคลากร ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ จัดหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันขึ้น โดยจะเปิดสอนหลักสูตรใหม่ดังกล่าวในปีการศึกษาที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้ เพื่อพัฒนาบุคลากรป้อนให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันสนองยุทธศาสตร์จังหวัด
ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีนั้น ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า “ได้รับความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้ามาช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน พร้อมกันนี้ยังเป็นโอกาสดีที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สวทช. เข้ามาช่วยทางด้านผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และเงินสนับสนุน ซึ่งการจัดการสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในการตั้งโจทย์ หรือปัญหา และความต้องการโดยรวมของกลุ่มที่ชัดเจน เพื่อให้ภาครัฐนำไปดำเนินการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบต่อไป”
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ ยังกล่าวเสริมว่า “ สิ่งที่ต้องการเห็นมากที่สุดขณะนี้ คือ การทำงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย หรือ การตอบโจทย์เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มฯ จึงต้องการเห็นความมีส่วนร่วมของกลุ่มมากกว่าโดยการนำเทคโนโลยี หรือ การนำบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านปาล์มน้ำมันของไทยเข้ามาช่วยเหลือหรือต่อยอดให้เกิดเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกรในฐานะต้นน้ำที่จะได้รับการเพิ่มมูลค่าในเรื่องของพันธุ์ปาล์มที่มีคุณภาพให้ผลผลิตที่สูงขึ้น และจะส่งผลให้มูลค่าของผลิตภัณฑ์สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่มีการดำเนินการค่อนข้างเป็นรูปธรรมชัดเจน ตั้งแต่การพัฒนาคน การพัฒนาระบบการจัดการ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี และการวิจัยเพาะพันธุ์ปาล์ม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดต่อไป”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net