กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--ปภ.
อุบัติเหตุจราจรถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา พบว่า เด็กต้องประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะการซ้อนท้ายรถไปกับผู้ปกครอง และซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างในเวลาตอนเช้าเพื่อไปโรงเรียน ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็ก กล่าวคือ ผู้ปกครองมักเป็นผู้ใส่หมวกนิรภัยเอง แต่กลับไม่ให้ความสำคัญในการจัดหาหมวกนิรภัยให้เด็กได้สวมใส่ ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากต่อการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับและผู้ซ้อนจะพุ่งลอยไปข้างหน้า โอกาสที่ศีรษะจะกระแทกวัตถุข้างหน้ามีมาก จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะและสมอง ส่งผลให้เกิดความพิการและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
หมวกนิรภัยหรือที่เรียกกันว่า หมวกกันน็อค ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่มีไว้สำหรับลดความรุนแรงของการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะได้เป็นอย่างดีหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ ดังนั้น ผู้ปกครองควรให้เด็กสวม ใส่หมวกนิรภัยทุกครั้งที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เพื่อเป็นการลดอันตรายและการบาดเจ็บทางสมองจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็ก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะนำผู้ปกครองให้ใส่ใจกับความปลอดภัยของเด็ก โดยเลือกใช้หมวกกันน็อคที่มีขนาดพอดีและเหมาะสมกับศีรษะของเด็ก รวมทั้งมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เปลือกนอกมีความแข็งแรงป้องกันแรงจากการกระแทกได้ดี น้ำหนักหมวกก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากกล้ามเนื้อต้นคอของเด็กยังไม่แข็งแรง หมวกที่หนักเกินไปจะทำให้เกิดการหักของกระดูกต้นคอ เมื่อเกิดการชนกระแทก โดยก่อนซื้อหมวกควรให้เด็กทดลองสวมหมวกนิรภัย คาดสายรัดคางให้แน่น ซึ่งสายรัดใต้คางที่ดีต้องไม่หลุดง่าย และทดลองผลักหมวกไปทางด้านหน้าและด้านหลัง ถ้าขอบหมวกเลื่อนขึ้นไปจนถึงกลางศีรษะหรือมากกว่านั้น ควรเปลี่ยนขนาดของหมวกใหม่ให้พอดี รวมทั้งควรเลือกหมวกที่มีสีสันสดใส เพื่อให้คนขับรถอื่นๆ มองเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน และควรเปลี่ยนหมวกใหม่ทุก 3- 5 ปี เพราะหากนานเกินกว่านี้หมวกจะเสื่อมอายุการใช้งาน ที่สำคัญ ห้ามนำหมวกที่เคยผ่านการกระแทกหรือประสบอุบัติเหตุมาแล้วมาใช้งานอีกเด็ดขาด เพราะอาจได้รับอันตราย ที่เพิ่มมากขึ้นจากหมวกที่ไม่ได้มาตรฐาน สุดท้ายนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่เด็ก ผู้ปกครองควรให้เด็กสวมใส่หมวกนิรภัยอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำข้างต้นทุกครั้งที่โดยสารรถจักรยานยนต์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ โทร./โทรสาร.0-2243-0674 e-mail : public@ disaster.go.th