กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารยูโอบี (ไทย) จำกัด มหาชน (UOB (Thai)) เป็น ‘AAA(tha)’ จาก ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency IDR ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ UOB (Thai) สะท้อนถึงการทบทวนระดับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ที่มีต่อบริษัทลูกในประเทศไทย แม้ว่าจะมีการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติที่ 49% อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าข้อจำกัดดังกล่าวไม่น่าจะเป็นปัญหาในการเพิ่มทุนของ UOB (Thai) หากมีความจำเป็นในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงิน สัดส่วนการถือหุ้นของ UOB เป็นนโยบายการลงทุนระยะยาว และ UOB ได้มีการควบคุมการบริหารงานผ่านทางคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของ UOB (Thai) UOB ได้ทำการเพิ่มทุนจำนวน 2.3 พันล้านบาทให้กับ UOB (Thai) ในเดือนมีนาคม 2551 เพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกลดสัดส่วนการถือหุ้น (Dilution) ในอนาคต เนื่องจากข้อจำกัดในด้านการถือหุ้นของต่างชาติในกรณีที่มีการเพิ่มทุนอีก เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและฐานะทางการเงินของ UOB ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น หากมีความจำเป็น
อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตสนับสนุนของ UOB (Thai) มีพื้นฐานมาจากการที่ UOB ยังคงมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ UOB หรือระดับการสนับสนุน อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ UOB (Thai) สำหรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและ อันดับเครดิตสนับสนุนของ UOB (Thai) ถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศ (Country Ceiling) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของเพดานอันดับเครดิตของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสนับสนุนของ UOB (Thai) นอกจากนี้หากผลกำไรและคุณภาพสินทรัพย์มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารได้รับการปรับเพิ่ม ในขณะเดียวกันหากผลกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลให้ต้องมีการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร
ผลการดำเนินงานของธนาคารในครึ่งแรกของปี 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 720 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 83% เนื่องจากการตั้งสำรองที่ลดลง ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ของ UOB (Thai) ยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอ โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 8.7 พันล้านบาทหรือ 5.9% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เทียบกับ 8.7 พันล้านบาทหรือ 6.0% สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษมีจำนวน 3.8 พันล้าน หรือ 2.6% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เทียบกับ 4.6 พันล้าน หรือ 3.2% ณ สิ้นปี 2552 ในส่วนของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ มีจำนวน 6.2 พันล้าน ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2553 (73% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้)
การระดมเงินและสภาพคล่องของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยมีเงินฝากเป็นสัดส่วน 83% ของเงินทุน ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2553 สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่ 100% ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2553 (92% หากนับรวมตั๋วแลกเงิน) ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูง อย่างไรก็ตามสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากและหนี้สินระยะสั้นยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ระดับกว่า 30% นอกจากนี้ UOB (Thai) ยังมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเป็นอันดับต้นๆของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 19.4% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่ 20.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าระดับเงินกองทุนของธนาคารน่าจะลดลง เนื่องจากกลยุทธที่เน้นการเติบโตของสินเชื่อในระยะปานกลาง UOB (Thai) ยังไม่เคยมีการจ่ายเงินปันผลให้กับ UOB แต่ธนาคารอาจพิจารณาที่จะเริ่มจ่ายเงินปันผลในจำนวนที่ไม่สูงนักในระยะปานกลาง
UOB (Thai) ก่อตั้งในปี 2482 โดยใช้ชื่อธนาคารเอเชีย ต่อมา UOB ของสิงคโปร์ได้เข้าซื้อกิจการในปี 2547 UOB (Thai) เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศไทยโดยมีสาขา 145 สาขา และมีส่วนแบ่งการตลาด 2% ในระบบสินเชื่อและเงินฝากในประเทศไทย ปัจจุบัน UOB ถือหุ้น 99.66% ใน UOB (Thai)