ก.ล.ต. กับนวัตกรรมในตลาดทุนและพัฒนาการการกำกับดูแลสู่มาตรฐานสากล ภาค 2

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 3, 2010 15:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--ก.ล.ต. ก.ล.ต. แถลงความสำเร็จในการพัฒนาสินค้าในตลาดทุน โดยล่าสุดคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้อนุญาตให้ออกและเสนอขายตราสารศุกูก และอีทีเอฟต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ที่ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีคุณภาพ หลากหลาย ครบถ้วน และทัดเทียมกับตลาดทุนในภูมิภาค โดยจะมีการออกประกาศบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ 1. การพัฒนาศุกูก เนื่องจากตลาดศุกูกได้มีการเติบโตอย่างสูงและต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศมุสลิมและประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมต่างให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดศุกูก เพื่อเป็นช่องทางการระดมทุนและขยายฐานผู้ลงทุนไปสู่ประเทศตะวันออกกลาง ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดตลาดศุกูกสำหรับผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนในประเทศไทย ก.ล.ต. จึงอนุญาตให้มีการออกและเสนอขายศุกูก สำหรับหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายศุกูกในไทยจะใช้รูปแบบทรัสต์ โดย “ทรัสตีผู้ออกศุกูก” ซึ่งอาจเป็นคนเดียวกับผู้ระดมทุนหรือเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ จะทำหน้าที่ก่อตั้งกองทรัสต์ ออกและเสนอขายศุกูก โดยนำเงินทุนที่ระดมได้ไปหาประโยชน์ในรูปแบบที่เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม เช่น นำไปลงทุนในทรัพย์สินเพื่อผลตอบแทนในรูปค่าเช่า กำไรจากการขายทรัพย์สิน ค่าขายผลิตภัณฑ์หรือบริการหรือผลตอบแทนจากเงินลงทุนหรือร่วมลงทุน และต้องมีการแต่งตั้ง “ศุกูกทรัสตี” ที่เป็นอิสระจากผู้ระดมทุนและทรัสตีผู้ออกศุกูก เพื่อทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ให้กับผู้ถือตราสารโดยมีบทบาทเทียบเคียงได้กับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ หลักเกณฑ์การออกและเสนอขายศุกูกและการเปิดเผยข้อมูล มีลักษณะเช่นเดียวกับการเสนอขายหลักทรัพย์โดยทั่วไป ซึ่งต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากการจัดโครงสร้างของศุกูกต้องเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม รวมทั้งศุกูกเป็นตราสารใหม่ที่มีความซับซ้อน ก.ล.ต. จึงออกหลักเกณฑ์ การออกศุกูกเพิ่มเติม ดังนี้ 1) ต้องมี “ที่ปรึกษาชะรีอะฮ์” เพื่อให้ความเห็นว่าโครงสร้างของศุกูกที่ออกเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม 2) ต้องมี “ที่ปรึกษากฎหมาย” ให้ความเห็นว่า ร่างสัญญาก่อตั้งทรัสต์สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย โดย “ที่ปรึกษาทางการเงิน” จะต้องรับรองถึงความเหมาะสมในการคัดเลือกที่ปรึกษาชะรีอะฮ์และที่ปรึกษากฎหมาย นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดให้มีการจัดทำเอกสาร (fact sheet) เพื่ออธิบายให้ผู้ลงทุนเข้าใจถึงลักษณะเฉพาะของศุกูก และความเสี่ยงทั่วไป ซึ่งจัดทำด้วยภาษาที่กระชับและเข้าใจง่าย และให้ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์แจกจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนพร้อมกับใบจองซื้อ ทั้งนี้ การจัดทำ fact sheet เป็นแนวโน้มที่ตลาดทุนของประเทศที่พัฒนาแล้วหลาย ๆ ประเทศนำมาใช้สำหรับตราสารหนี้ที่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อความสะดวกของผู้ลงทุนในการศึกษาและทำความเข้าใจตราสารดังกล่าว 2. อีทีเอฟต่างประเทศ อีทีเอฟจัดเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการนำเอาข้อดีของการจัดการกองทุนรวมที่เน้นการกระจายความเสี่ยงมาผนวกเข้ากับข้อดีของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยราคา real time และมีสภาพคล่องสูง ซึ่งมีผลต่อเนื่องให้หลักทรัพย์นี้เป็นที่นิยมในการนำไปจดทะเบียนเพื่อซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์หลาย ๆ ประเทศที่ไม่ใช่ประเทศผู้ออกหลักทรัพย์นั้นเอง ล่าสุด ก.ล.ต. ได้อนุญาตให้มีการเสนอขายอีทีเอฟต่างประเทศในประเทศไทยได้ในรูปแบบ (1) การนำมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยตรง (direct listing) และ (2) การเสนอขายอีทีเอฟต่างประเทศในตลาดแรก (public offering) ภายหลังจากก่อนหน้านี้ได้อนุญาตการขายอีทีเอฟต่างประเทศในรูปแบบการจัดตั้งกองทุนรวมอีทีเอฟในไทย เพื่อไปลงทุนในอีทีเอฟต่างประเทศ (Thai ETF on foreign ETF) ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในตลาดทุน และเพิ่มทางเลือกในการลงทุน อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่จะนำไปสู่การเชื่อมโยงกับตลาดทุนต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต อีทีเอฟต่างประเทศที่จะนำมาจดทะเบียนซื้อขายหรือเสนอขายในตลาดแรกต้องมีลักษณะไม่ซับซ้อนและบริหารจัดการในเชิงรับ รวมทั้งมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หลักที่เป็นสมาชิกขององค์การตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) โดยอีทีเอฟต่างประเทศและบริษัทจัดการต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นสมาชิกขององค์กร ก.ล.ต. โลก (International Organization of Securities Commission: IOSCO) เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ