กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--วีโร พีอาร์
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ ได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลสาธารณะขององค์กรธุรกิจแต่ละแห่ง พบว่าองค์กรธุรกิจ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้น และดำเนินคดี ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 โดยเฉลี่ย มีรายรับต่อปีสูงและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีความสามารถที่จะซื้อซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องมาใช้ในการดำเนินธุรกิจได้
จากการศึกษาวิเคราะห์ยังพบว่า การลงทุนในซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.63 ของรายรับทั้งปี ขององค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เหล่านี้ ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจเหล่านี้แต่ละแห่ง มีรายรับเฉลี่ยต่อปี มากกว่า 480 ล้านบาท และมูลค่าของสินทรัพย์ที่แจงออกมา โดยเฉลี่ย มีสูงกว่า 267 ล้านบาท เทียบกับมูลค่าการลงทุนในซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องโดยเฉลี่ย คือ 3 ล้านบาทต่อองค์กรธุรกิจแต่ละแห่ง
คุณวารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้แทนและที่ปรึกษากลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ กำลังดำเนินธุรกิจในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมกับคู่แข่งขันทางธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องในอุตสาหกรรมเดียวกัน และเอาเปรียบลูกค้า เพราะองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ต่ำ นอกจานี้ องค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินภาษีให้กรมสรรพกรและรัฐบาล และทำลายระบบเศรษฐกิจทั้งต้นน้ำและปลายน้ำในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และ ไอที ที่สมควรจะได้รับประโยชน์จากการที่องค์กรธุรกิจเหล่านี้ใช้ซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ข้อมูลทางธุรกิจของลูกค้า เผชิญกับความเสี่ยงจากความบกพร่องในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งอาจมาพร้อมกันกับการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์
“ในเมื่อองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้สามารถรายงานผลประกอบการที่ดี โดยมีรายรับต่อปีเกือบ 500 ล้านบาท องค์กรธุรกิจเหล่านี้ก็น่าจะสามารถลงทุนในซอฟต์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องได้ แทนที่จะไปใช้ซอฟต์แวร์ที่เถื่อน หรือซื้อซอฟต์แวร์มาหนึ่งไลเซ็นต์ แต่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์หลายสิบเครื่อง” คุณวารุณี กล่าว “ในเมื่อซอฟต์แวร์ช่วยให้องค์กรธุรกิจเหล่านี้ ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับผลกำไรสูง นักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็สมควรได้รับผลตอบแทนจากงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่พวกเขาสร้างขึ้นมาด้วยเช่นกัน”
องค์กรธุรกิจ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้น และดำเนินคดี ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ประกอบด้วยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กรวมอยู่ด้วย แต่สถิติโดยรวม ชี้ให้เห็นว่า องค์กรธุรกิจเหล่านี้ล้วนมีกระแสรายรับที่แข็งแกร่ง และสถานะทางสินทรัพย์มูลค่าสูง
“การศึกษาวิเคราะห์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึง ความไม่สัมพันธ์กันระหว่างมูลค่าที่ซอฟต์แวร์สร้างให้แก่องค์กรธุรกิจในประเทศไทย และมูลค่าที่องค์กรธุรกิจในประเทศไทยลงทุนไปกับซอฟต์แวร์” คุณวารุณีกล่าว “อีกข้อสรุปหนึ่งที่เราได้จากการศึกษาวิเคราะห์ คือ ผู้บริหารองค์กรธุรกิจต่างไม่ตระหนักถึงเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร และต่างไม่ใส่ใจกับผลลัพธ์ร้ายแรงที่เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์”
การศึกษาวิเคราะห์ในครั้งนี้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในแง่ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยกำลังเพิ่มความพยายามในการบังคับใช้กฏหมายกับองค์กรธุรกิจที่ทำผิดพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ไทย ทั้งนี้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเริ่มดำเนินการกวาดล้างองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วประเทศ โดยมีรายชื่อองค์กรธุรกิจที่ต้องสงสัยว่าใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 2,000 รายชื่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้รวบรวมไว้ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อาจนำไปสู่โทษปรับหรือจำคุกได้
อัตราการละเมิดลิขสิทธิซอฟต์แวร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 75 และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยผู้ประกอบการธุรกิจซอฟต์แวร์เชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทว่าผลการศึกษาวิเคราะห์ที่ระบุว่า องค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอตฟ์แวร์จำนวนมาก มีฐานะการเงินที่มั่งคั่งนั้น ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยเสียกำลังใจไปไม่น้อย
“ผมยอมรับว่าแม้แต่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ๆ ก็อาจเผชิญปัญหากับการจัดการกระแสเงินสดได้” คุณสมพร มณีรัตนะกูล ผู้ก่อตั้งบริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และสมาชิกของบีเอสเอ กล่าว “แต่พอมาเห็นว่าองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ผลิตโดยบริษัทของผมนั้น มีรายได้ถึงเกือบ 500 ล้านบาทต่อปี ทำให้ผมสงสัยว่าผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจเหล่านั้น เข้าใจปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และสิ่งที่เกิดขึ้นภายในแผนกไอทีของพวกเขาจริงๆ หรือไม่”
ซอฟต์แวร์เพื่อการดำเนินธุรกิจถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เพิ่มผลกำไร ลดค่าใช้จ่าย นับตั้งแต่ยุคแรกๆ ซอฟต์แวร์ได้สร้างผลกำไรมหาศาลแก่องค์กรธุรกิจทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ CAD-CAM ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ซอฟต์แวร์ซัพพลายเชน หรือแม้แต่โปรแกรมประมวลผลคำแบบง่าย ซอฟต์แวร์มีบทบาทอย่างมากในการก่อร่างสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการผลิต การดำเนินงานในสำนักงาน และธุรกิจอย่างกว้างขวาง
“ซอฟต์แวร์มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจ ซอฟต์แวร์ช่วยเพิ่มผลผลิต และโดยเฉลี่ยแล้วการลงทุนด้านซอฟต์แวร์นั้นคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของค่าใช้จ่ายประจำปีในธุรกิจ” คุณสมพรกล่าว “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าองค์กรธุรกิจต่างๆ มีความสามารถและสมควรอย่างยิ่งที่จะจัดหาซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องมาใช้งาน พวกเขาไม่ควรได้ถูกปล่อยให้ทำผิดกฏหมาย และเอาเปรียบธุรกิจที่สุจริตอื่นๆ อย่างเช่นธุรกิจของผมอีกต่อไป”