ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตธนาคารทหารไทย และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday December 4, 2010 11:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ที่ ‘BBB-’ และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นมีเสถียรภาพจากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ รายละเอียดการประกาศอันดับเครดิตอื่นๆ แสดงอยู่ในส่วนท้าย การคงอันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) และอันดับเครดิตอื่นๆ ของ TMB สะท้อนถึงเครือข่ายการดำเนินงานที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term foreign currency Issuer Default Rating (IDR)) สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอเมื่อเทียบกันธนาคารพาณิชย์อื่น ฟิทช์คาดว่าธนาคารจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น ต่อเนื่องจากการที่ธนาคารได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงและประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น TMB มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 2.4 พันล้านบาท (คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมที่ 0.6%) ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2553 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง เนื่องจากสินเชื่อของธนาคารปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปริมาณสินเชื่อเริ่มอยู่ในระดับคงที่ โดยยอดสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 ได้ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ทั้งนี้คาดว่าธนาคารจะมีการเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นในปี 2554 แม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์ได้ปรับตัวดีขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอ โดย TMB มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.3 พันล้านบาท หรือ 11.6% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 (เทียบกัน 54.4 พันล้านบาท หรือ 12.6% ณ สิ้นปี 2552) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการจำหน่ายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 9.3 พันล้านบาทในเดือนเมษายน 2553 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สินเชื่อของธนาคารลดลงมากกว่า 25% จากปี 2550 นอกจากนี้สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ แม้ว่าจะปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 27 พันล้านบาท หรือ 7.6% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 (เทียบกับ 47.7 พันล้านบาท หรือ 12.9% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2552) นอกจากนี้สำรองหนี้สูญของ TMB ที่ระดับ 21.8 พันล้านบาท (52.8% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งแสดงว่าธนาคารอาจมีความเสี่ยงที่จะต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเนื่องจากการที่ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษในระดับที่สูง อย่างไรก็ตามอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ปรับขึ้นมาจากสินเชื่อสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษนั้นอยู่ในระดับที่ไม่สูง ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2554 ซึ่งจะช่วยให้กำไรของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้น ความสามารถในการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ TMB ยังคงมีเสถียรภาพ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารยังคงอยู่ต่ำกว่า 90% ในขณะที่อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากและหนี้สินระยะสั้น ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 30% นอกจากนี้เงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมของ TMB ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 12.3% และ 17.8% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 ซึ่งน่าจะช่วยรองรับผลขาดทุนได้อย่างดี หากจำเป็น อันดับเครดิตของตราสารหนี้และตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการจัดอันดับเครดิต โดยที่ตราสารหนี้ดังกล่าวยังสามารถชำระดอกเบี้ยได้ตามปกติ อันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว 5 อันดับ แม้ว่าระดับความแตกต่างระหว่างอันดับเครดิตดังกล่าวจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนอื่นๆ ที่มีคุณลักษณะคล้ายคลึงกันที่ได้รับการจัดอันดับโดยฟิทช์ ระดับของความแตกต่างของอันดับเครดิตดังกล่าว สะท้อนถึงเงื่อนไขในรองรับผลขาดทุนและความเป็นไปได้ที่เงื่อนไขดังกล่าวอาจถูกนำมาใช้เนื่องจากผลกำไรที่ไม่สูงและความเสี่ยงที่อาจต้องมีการตั้งสำรองเพิ่ม อีกทั้งยังคงมีความเสี่ยงในด้านการตั้งสำรองหนี้สงสัยสูญเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หากธนาคารพาณิชย์มีผลการดำเนินงานขาดทุน การจ่ายดอกเบี้ยจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายกรณีไป โดยพิจารณาจากฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ เช่น ระดับเงินกองทุน ความสามารถในการทำกำไร และกำไรสะสม เป็นต้น การปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องของกำไรและกำไรสะสม รวมทั้งการรักษาเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อาจส่งผลให้ระดับความแตกต่างของอันดับเดรดิตดังกล่าวปรับตัวแคบลงได้ แต่อย่างไรก็ตามการปรับระดับความแตกต่างของอันดับเครดิตนั้นขึ้นอยู่กับการปรับของอันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ทั้งนี้การปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์อาจส่งผลในเชิงบวกต่ออันดับเครดิต TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศไทย โดยมีสินทรัพย์รวม 565 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 ING Bank NV (ING ที่ ‘A+’/‘F1+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดในสัดส่วน 30% ผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่น ประกอบด้วย กระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นอยู่ 26% และ DBS Bank ของสิงคโปร์ที่ 7% ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น รายละเอียดการประกาศคงอันดับเครดิตของฟิทช์มีดังนี้: - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว Issuer Default Rating (IDR) ที่ ‘BBB-’ แนวโน้มอันดับเครดิตปรับขึ้นเป็นมีเสถียรภาพ จาก แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ - อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C/D’ - อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’ - อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ‘BB+’ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BB+’ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ที่ ‘B’ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘A(tha)’

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ