เยาวชนรุ่นใหม่ สถาปนิกหนุ่ม ผู้เดินตามฝันของตนเอง เผยประสบการณ์เป็นนักเรียนไทยในลอนดอนและแนะนำการเรียนต่อนอก

ข่าวทั่วไป Thursday February 22, 2007 17:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--สสวท.
การที่ได้เรียนต่อต่างประเทศ หลายคนมองว่าโก้เก๋ เท่ ดูดีไม่น้อย แต่กว่าจะผ่านประสบการณ์นั้น มาได้อย่างประสบความสำเร็จนั้น ต้องอาศัยความอดทนไม่น้อย
วันนี้สถาบันนิวเคมบริจ ซึ่งเป็นสภาบันภาษาที่ให้ข้อมูลคำปรึกษาเพื่อวางแผนการศึกษาต่อ รวมทั้งช่วยเหลือในการติดต่อกับมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการสมัครศึกษาต่อในสหราชอาณาจักร และ ออสเตรเลีย โดยทีมงานที่มีประสบการณ์ตรงจากระบบการศึกษาของทั้งสองประเทศ ได้แนะนำเยาวชนคนเก่งคนนี้มาให้เล่าสู่กันฟังด้วยความภาคภูมิใจ
นายชนินทร์ เขมกวัฒน์ หรือ ป๋ำ วัย 27 ปี ปัจจุบันเป็น ผู้ช่วยสถาปนิกที่ Martin Brudnizki Design Studio กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร หนุ่มน้อยคนนี้เรียนจบปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบภายในจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จบประกาศนียบัตรการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน วิทยาลัยอินช์บาล สหราชอาณาจักร และปริญญาโทการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จากสมาคมสถาปัตยกรรม สหราชอาณาจักร โดยมีสถาบันนิวเคมบริจเป็นผู้แนะแนวให้คำปรึกษาก่อนเดินทางไป ศึกษาต่อดังกล่าว
“ตั้งแต่ตอนเด็กๆ ผมชอบวาดรูป และมีความสนใจในเรื่องศิลปะโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอาคารเก่าโบราณ เวลาไปเที่ยววัด วัง หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพสวยงาม ผมมักจะกลับมาสเก็ตซ์ภาพเก็บไว้ รวมทั้งผมมีความคุ้นเคยกับเรื่องการสร้างบ้าน งานไม้ และงานออกแบบ ตั้งแต่เด็กจนโตเพราะที่บ้านทำธุรกิจทางด้านนี้ การเลือกเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์จึงตอบโจทย์ทั้งสองข้อในเรื่องความชอบส่วนตัว และบริบทของครอบครัว”
ชนินทร์ กล่าวถึง แง่มุมที่ต่างกันระหว่างระบบการเรียนของประเทศไทยและสหราชอาณาจักรว่า ในภาพรวมแล้วทางอังกฤษเปิดกว้างทางด้านความคิดและเน้นหนักด้านการถกเถียงเพื่อหาเหตุผลร่วมกัน นักเรียนสามารถนำเสนองานที่สอดคล้องกับแนวความคิดแบบสุดขั้วโดยไม่ถูกปิดกั้นหรือจำกัดวิธีการ ถึงแม้อาจารย์จะยังไม่เห็นด้วยก็ตาม สิ่งที่เห็นว่าได้ประโยชน์มากอีกอย่างก็คือ การได้สัมผัสความหลากหลายทางความคิดทั้งจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน อาจารย์ รวมทั้งสภาพแวดล้อม เพราะความแปลกแยกที่เรารู้สึกนั้นจะสร้างแรงผลักดันให้เราต้องท้าทายตัวเองเพื่อพิสูจน์ความสามารถในระดับนานาชาติ
“การเรียนการสอนที่อังกฤษเน้นหนักที่กระบวนการมากพอ ๆ กับผลลัพธ์ที่ได้ นักเรียนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นมากพอ ๆ กับการตั้งคำถามและโต้แย้ง ในการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอก นักเรียนมักจะใช้เวลาส่วนมากกับการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเองประกอบกับการบรรยายเสริมแล้วแต่หลักสูตร ไม่มีสูตรเฉพาะตายตัวในการได้มาซึ่งความรู้แต่อยู่ที่การจัดระบบการเรียนรู้และการวิเคราะห์หาคำตอบด้วยตัวเอง โดยอาจารย์เป็นผู้แนะแนวทางและสอนถ่ายทอดความรู้ดิบ ส่วนที่เหลือเป็นความท้าทายที่นักเรียนต้องเผชิญเอง”
การเก็บข้อมูลเพื่อทำรายงานหรือการทำวิจัยนั้นก็มีความคล้ายคลึงกับทางเมืองไทย เพียงแต่การใช้ภาษาอังกฤษสำหรับเขียนรายงานอาจต้องอาศัยการฝึกฝนและตรวจตราอย่างถี่ถ้วนมากกว่า ส่วนการนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการหรืออาจารย์นั้น อาจมีเฉพาะบางสาขาวิชา ซึ่งนักเรียนต้องฝึกพูด ฝึกการจัดลำดับการเล่าเรื่อง และต้องกล้าแสดงออก ตอบคำถาม และโต้แย้งด้วยเหตุผล นำมาซึ่งความสำเร็จในการนำเสนอผลงาน นับเป็นการฝึกทักษะที่เป็นประโยชน์มากในอนาคตการทำงาน
การศึกษาต่อที่อังกฤษนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง บางคนอาจต้องหารายได้พิเศษจากการทำงานเสริม แต่ต้องรักษาสมดุลระหว่างการเรียนและการทำงานพิเศษด้วย งานพิเศษอาจช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดซ้ำซากจากการเรียนหรืออาจเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ศึกษาอยู่เป็นประโยชน์ในเชิงต่อยอด ซึ่งตามกฎหมายของอังกฤษนักเรียนสามารถทำงานพิเศษได้ไม่เกินอาทิตย์ละ 22 ชั่วโมง สำหรับหนุ่มน้อยคนนี้ลดค่าใช้จ่ายของตัวเองด้วยการใช้จักรยานและการทำอาหารกินเอง
สำหรับการทำงานประจำต่อหลังจากเรียนจบนั้น ชนินทร์บอกว่าจำเป็นต้องวางแผนให้รัดกุม เนื่องจากการขอใบอนุญาตทำงานในประเทศอังกฤษมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและใช้เวลานาน แต่การได้ทำงานในสาขาที่เรียนจบในต่างประเทศสักช่วงเวลาหนึ่งก็เป็นเหมือนการตอกย้ำความรู้ให้แน่นขึ้นจากการปฏิบัติจริงและเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกช่วงหนึ่งของชีวิตก่อนที่จะนำความรู้กลับมาเป็นประโยชน์ในเมืองไทย
“ผมถือว่าผมโชคดีที่มีโอกาสได้ทำงานในสหราชอาณาจักร สำนักงานสถาปนิกที่ผมทำอยู่นั้นมี ชาวสแกนดิเนเวียเป็นเจ้าของ เพื่อนร่วมงานก็มาจากหลายชาติในยุโรป ลูกค้าก็มีทั้งในลอนดอนและยุโรป ซึ่งผมคาดหวังช่วงเวลานี้จะเป็นประสบการณ์ที่ดีในการเรียนรู้การทำงานกับผู้คนที่มาจากหลายเชื้อชาติ หลากวัฒนธรรม เป็นการต่อยอดประสบการณ์ในสิ่งที่เรียนมา และสร้างเครือข่ายกับผู้คนในวิชาชีพนี้ แต่สุดท้ายแล้วผมตั้งใจว่าจะกลับมาเมืองไทยเพื่อทำงานด้านสถาปนิกต่อไป”
ท้ายสุด ชนินทร์ฝากไปถึงเพื่อนๆ ที่อยากเรียนต่อนอกว่าการวางแผนที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งในเรื่องการเรียนและการเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตต่างแดน ในส่วนของเรื่องเรียนอยากให้หาข้อมูล และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าอยากทำงานในสายงานไหนแล้วกลับมาสรุปว่าวิชาที่เรียนแล้วจะเป็นประโยชน์กับงานนั้นๆ คืออะไร ผมไม่อยากให้ตามค่านิยมหรือตามเทรนด์ หลายๆ คน ยังใช้อิทธิพลของกลุ่มเพื่อน หรือความนิยมของสังคมเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะหลักสูตรของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรนั้นแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีความโดดเด่นทางสาขาวิชาแตกต่างกันไป อยากให้ศึกษาข้อมูลรายละเอียดของหลักสูตรว่าตรงกับความต้องการของเราแค่ไหน การจัดลำดับมหาวิทยาลัย (ranking) เป็นเพียงข้อมูลอ้างอิงคร่าวๆ
ผู้อ่านท่านใดที่สนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมและคำแนะนำเกี่ยวกับการเรียนต่อต่างประเทศ คลิกไปดูได้ที่เว็บไซต์วิชาการดอทคอม ( www.vcharkarn.com ) ใน Section ห้องแนะแนว “เรียนต่อต่างประเทศ”
หรือต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาต่อประเทศสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย รวมทั้งแนวทาง การสอบ IELTS คลิกไปที่เว็บไซต์สถาบันนิวเคมบริจ (ประเทศไทย) www.newcambridge.net ได้เลย
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณกฤตผล สถาบันนิวเคมบริจ โทร. 02-253-3133 ต่อ 25
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ