ปภ.แนะวิธีการป้องกันอัคคีภัยในสถานศึกษา

ข่าวทั่วไป Tuesday January 23, 2007 12:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--ปภ.
กรมป้องกันฯ แนะผู้บริหารโรงเรียน ครู และนักเรียน ร่วมป้องกันการเกิดอัคคีภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสถานศึกษา ด้วยการร่วมกันวางมาตรการป้องกันอัคคีภัย การให้ความรู้และฝึกทักษะในเรื่องการดับไฟ และชักชวนให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นผู้เฝ้าระวัง แจ้งข่าวสาร แจ้งเหตุร้าย เพื่อป้องกันอัคคีภัยจากการถูกลอบวางเพลิง
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นในสถานศึกษาบ่อยครั้ง เนื่องจากสภาพอาคารที่เก่าและเป็นไม้จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีต่อการเกิดอัคคีภัย ประกอบกับสายไฟฟ้าที่เก่าและชำรุด และไม่มีการติดตั้งระบบตัดไฟอัติโนมัติ รวมทั้ง การขาดความระมัดระวังและการควบคุมดูแลในการใช้ไฟฟ้า
การลอบวางเพลิง จึงทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในสถานศึกษาหลายแห่ง กรมป้องกันฯ จึงขอเสนอแนะให้ผู้บริหารโรงเรียน
ครู เจ้าหน้าที่ และนักเรียน ร่วมกันป้องกันและแก้ไขการเกิดอัคคีภัยโดยปฎิบัติดังนี้ วางมาตรการในการป้องกันอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้น เช่น การจัดเวรยามเฝ้าในบริเวณโรงเรียนเวลากลางคืน โดยเฝ้าระวังสถานที่เก็บอุปกรณ์
บ้านพักอาศัย และสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยในโรงเรียน จัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการป้องกันอัคคีภัย และฝึกทักษะให้กับนักเรียนในเรื่องการดับไฟ การแจ้งเบาะแสเมื่อพบสิ่งผิดปกติให้กับผู้รับผิดชอบทราบทันที ศึกษาวิธีการหนีไฟ และการค้นหาผู้ติดค้างอยู่ในอาคารที่กำลังถูกเพลิงไหม้ วิธีการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ ซึ่งควรมีการฝึกปฎิบัติจริงอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ตลอดจนจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่จัดเก็บวัสดุเชื้อเพลิงและสารเคมีไวไฟไว้มากเกินและควรจัดเก็บไว้ในที่ที่ห่างไกลจากแหล่งพลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้า ควรติดตั้งเครื่องดับเพลิงเคมีในโรงเรียนไว้หลายจุดและเพียงพอต่อขนาดของพื้นที่ในการควบคุมเพลิง นอกจากนี้ ควรตรวจสอบสภาพของสายไฟฟ้า และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่ใช้งานภายในอาคารให้มีความปลอดภัย หากพบว่าเกิดการชำรุดควรเปลี่ยนใหม่ และต้องดำเนินการแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย รวมทั้ง วางแผนรับสถานการณ์การเกิดเพลิงไหม้ไว้ล่วงหน้า และตั้งผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ผู้ปกครอง นักเรียน และทำการประชาสัมพันธ์แผนงานป้องกันอัคคีภัยกับให้ครูและนักเรียนทุกคนในโรงเรียนได้รับรู้ เพื่อจะได้ทำงานประสานกันอย่างถูกต้อง และติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัย สุดท้ายควรให้ความรู้และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัยของโรงเรียนและสถานที่สำคัญของชุมชน การให้ข้อมูลข่าวสารในการแจ้งเตือนภัย แจ้งเหตุ แจ้งเบาะแสของสิ่งบอกเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการเฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัยจากการถูกลอบวางเพลิงได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ