กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเผยบริษัทต่างชาติมีแผนซื้อชิ้นส่วนไทยกว่า 10,000 ล้านบาท ในงาน Subcon Thailand 2007 คาดจะมีการเจรจากว่า 200 คู่ โดยบริษัทผู้ซื้อชั้นนำอย่าง DaimlerChrysler, BMW, Panasonic Motor, Isuzu, Electrolux, Bosh, Hitech-High-Technologies, Emerson Electric เนื้อหอมมีคิวนัดหมายเจรจามากที่สุด ด้านนักธุรกิจไทยแห่จองฟังสัมมนาล้นหลามจนต้องขยายพื้นที่รองรับ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม A2B โชว์ผลงานวิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัย เช่น โมเดลดาวเทียมถ่ายภาพทางภูมิศาสตร์ เครื่องจักรเจาะCNC แผ่น Printed circuit board
นายชนินทร์ ขาวจันทร์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (BUILD: BOI Unit for Industrial Linkage Development) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงการจัดงาน Subcon Thailand 2007 ระหว่างวันที่ 9 — 13 พฤษภาคมนี้ ที่ไบเทค บางนา ว่า งานนี้ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทย เพราะบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศที่เข้าร่วม มีแผนจะซื้อชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทย รวมมูลค่ากว่า10,000 ล้านบาท
ภายในงาน คาดว่าจะมีการเจรจาธุรกิจระหว่างบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ และผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย 170 คู่ ซึ่งเป็นจำนวนที่มีการนัดหมายล่วงหน้า แต่คาดว่าตลอดระยะเวลา 5 วันของงาน จะมีการเจรจาธุรกิจมากกว่า 200 คู่ โดยบริษัทชั้นนำที่เข้ามาซื้อชิ้นส่วนหลายรายได้รับความสนใจนัดหมายจองเวลาในการเจรจาธุรกิจตลอดทั้งวัน อาทิ DaimlerChrysler, BMW, Panasonic Motor, Isuzu, Electrolux, Bosh, Hitech-High-Technologies, Emerson Electric
อีกทั้งผู้ซื้อรายใหญ่จะได้นำเสนอนโยบายการจัดซื้อชิ้นส่วนให้กับผู้ร่วมออกบูธและผู้สนใจทั่วไปเพื่อให้รับทราบแนวโน้มความต้องการเพื่อเป็นแนวทางในการร่วมธุรกิจในฐานะซัพพลายเออร์ ที่สำคัญอย่างยิ่งงาน Subcon Thailand ยังถือเป็นโอกาสซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก ที่ผู้จัดซื้อรายใหญ่มารวมอยู่ในงานเดียวกัน
สำหรับการจัดสัมมนาทางธุรกิจ 18 หัวข้อภายในงานนั้น ขณะนี้มีผู้สนใจสำรองที่นั่งเกือบเต็มทุกหัวข้อแล้ว ทำให้ต้องสำรองที่นั่งเพิ่มเติมให้กับผู้ที่สนใจ โดยหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ประกอบด้วย 1. บริหารการจัดซื้ออย่างไรให้ถูกใจผู้บริหาร 2. ทางออกของการผลิตที่มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ และส่งมอบสินค้าตรงเวลา 3. การลดต้นทุนสินค้า และเทคนิคการคัดเลือก Supplier 4. ISO 9004 กับการเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน และ 5. Outsourcing Supply Chain Strategies.
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเชื่อมโยงภาคสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยจะมีการนำผลงานวิจัยมาแสดงภายในงานด้วย อาทิ งานวิจัยมิเตอร์วัดพลังงานไฟฟ้าพร้อมระบบอ่านอัตโนมัติ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผลงานวิจัย
ของคณาจารย์ที่มีการพัฒนาเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาริฯย์มาเผยแพร่ให้กับผู้ประกอบการ คณะวิศวกรรมสาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และผลงานวิจัยเครื่อง CNC สำหรับเจาะแผ่น PCB Model ดาวเทียมไทยพัฒน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
อีกทั้ง ยังมี Industrial Clinic คลินิกให้คำปรึกษาและแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนและการพัฒนาธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ อาทิ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนดลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) EXIM BANK สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สสว.เป็นต้น