ฟิทช์ลดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีประกันของบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)

ข่าวทั่วไป Monday February 12, 2007 13:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของหุ้นกู้มีประกันของบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF ซึ่งมีมูลค่า 350 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เป็น “BB+(tha)” จาก “BBB-(tha)” (BBB ลบ (tha)) ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้มีประกันอีกชุดหนึ่งของ PF มูลค่า 450 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนเดือนกุมภาพันธ์ 2551 (หุ้นกู้ชุดนี้ มีการค้ำประกันในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินต้นโดยธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบัน ฟิทช์ให้อันดับเครดิตระยะยาวภายในประเทศที่ระดับ A(tha) และระยะสั้นที่ระดับ F1(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) เป็น “BBB(tha)” จาก “BBB+(tha)” แนวโน้มเครดิตของหุ้นกู้มีประกันของ PF เป็นลบ
การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลประกอบการที่ต่ำกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้และการเพิ่มขึ้นอย่างมากของอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทในปี 2549 ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีความคล่องตัวทางการเงินลดลงไปอีกและมีความเสี่ยงในการกู้เงินใหม่เพื่อชำระคืนหนี้เดิม (Refinancing Risk) เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังต้องประสบกับสภาวะการดำเนินธุรกิจที่น่าจะอ่อนตัวลงไปอีกในปี 2550 PF มียอดขายและกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงอย่างมากในปี 2549 โดยเฉพาะในช่วงเก้าเดือนแรก โดยมียอดขายลดลง 17% และ EBITDA ลดลง 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยรวม ต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งทำให้รายได้จากการขายบ้านเดี่ยวและอัตราส่วนการทำกำไรของ PF ลดลง ในขณะที่ผลประกอบการไตรมาสที่สี่ของปี 2549 ซึ่งบริษัทจะประกาศในระยะเวลาอันใกล้นี้น่าจะมียอดขายและ EBITDA ที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทน่าจะปรับตัวดีขึ้นเพียงแค่เล็กน้อย อันเป็นผลจากระดับหนี้สินที่ยังคงสูงอยู่
อย่างไรก็ตาม PF คาดว่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นมากในปี 2550 อันเป็นผลมาจากยอดขายที่ยังไม่ได้รับรู้เป็นรายได้ที่แข็งแกร่งโดยอยู่ที่ระดับ 3.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 โดยยอดขายดังกล่าวจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2550 เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้การที่บริษัทมีแผนการซื้อที่ดินที่ลดลงและการคาดการณ์ว่าบริษัทจะงดจ่ายเงินปันผลในปี 2550 น่าจะทำให้ระดับหนี้สินสุทธิของบริษัทลดลง โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (Net Debt to EBITDA) น่าจะปรับลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 7 เท่า ภายในสิ้นปี 2550 อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งรวมถึงอุปสงค์ของบ้านที่ลดลงและระยะเวลาในการขายโครงการที่ยาวขึ้น น่าจะยังมีผลกระทบในทางลบต่อกระแสเงินสดของ PF ปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นยังรวมถึงความสามารถในการบริหารสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท แม้ว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีเงินสดจำนวน 313 ล้านบาทและวงเงินที่สามารถเบิกจ่ายได้จากธนาคาร (Undrawn Credit Facilities) จำนวน 2.8 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2549
แนวโน้มเครดิตเป็นลบของหุ้นกู้มีประกันของ PF สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ยังคงอ่อนไหว โดยเฉพาะต่ออัตราการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมที่อาจมีแนวโน้มลดลงไปอีก อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ให้ความเห็นว่าถ้าบริษัทมียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีอัตราส่วนหนี้สินที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จะช่วยให้อันดับเครดิตของ PF ปรับตัวดีขึ้นได้
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ วสันต์ ผลเจริญ, โสมสิริ ชฎาวัฒน์, Vincent Milton, +662 655 4755
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ