ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทฟินันซ่า จำกัด (มหาชน)

ข่าวทั่วไป Thursday June 23, 2005 13:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) (“FNS”) ที่ระดับ ‘BBB(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F3(tha)’ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุมัติการขออนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารของบริษัทเงินทุนฟินันซ่า (“FC”) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ FNS จากการที่ FC ไม่ได้รับอนุมัติแผนการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารดังกล่าว แผนการควบรวมกิจการระหว่าง FC และบริษัทเงินทุนกรุงเทพ ธนาทร (“BFIT”) จึงได้ถูกระงับลง
ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุมัติแผนการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารของ FC ในเดือนเมษายน 2548 ด้วยเหตุผลที่ว่า FC มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ผู้มีสิทธิที่จะขอยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ ข้อ 4.2 ตามประกาศของกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ ซึ่งครอบคลุมถึงบทบาทและพฤติกรรมของกรรมการและผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป การบริหารความเสี่ยง การดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง โครงสร้างองค์กรและระบบงาน การควบคุมภายในและการตรวจสอบ การปฏิบัติตามกฎระเบียบที่สำคัญ การให้ความร่วมมือกับทางการ และพฤติกรรมไม่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้มีการเจาะจงว่า สาเหตุที่ FC ไม่ได้รับการอนุมัติเนื่องมาจากข้อกำหนดใดในข้อ 4.2
ในขณะที่การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุมัติแผนการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารของ FC ได้เพิ่มความกังวลของฟิทช์ต่อ FNS การไม่อนุมัติแผนดังกล่าว ยังไม่ปรากฎว่าส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการระดมเงินทุน สภาพคล่อง และการดำเนินงานของบริษัท อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังคงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้ FC สามารถดำเนินธุรกิจโดยใช้ใบอนุญาตดำเนินธุรกิจเงินทุนต่อไป ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้อนุมัติให้ FNS ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการกองทุนในเดือนมกราคม 2548 ซึ่งอาจมองได้ว่าหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารนั้นเข้มงวดกว่า ในขณะที่มีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจเงินทุนอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในการกำกับดูแลของภาครัฐ รายได้จากธุรกิจดังกล่าวค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของบริษัท ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขอให้ FC ยื่นแผนการดำเนินธุรกิจสำหรับในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้าภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2548 แผนการดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ FC จะยังคงดำเนินธุรกิจเงินทุนต่อไป และจะยังสามารถยื่นขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์อีกครั้งหลังจาก 3 ปี
อันดับเครดิตของ FNS สะท้อนถึงโครงสร้างของบริษัทที่เป็นบริษัทโฮลดิ้ง การกระจายความเสี่ยงของรายได้ และเงินกองทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่ได้ประกอบไปด้วยสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง ความเสี่ยงทางด้านเครดิตและความเสี่ยงทางด้านตลาด (market risk) ที่อาจเกิดขึ้นได้ และการพึ่งพารายได้ค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์ และรายได้จากการลงทุนและการค้าหลักทรัพย์เพื่อบริษัทเอง (proprietary trading) ที่ค่อนข้างผันผวน
FNS มีกำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2548 ที่ 58.7 ล้านบาท ลดลงจาก 157.4 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2547 ในขณะที่แนวโน้มของรายได้และผลกำไรในปี 2548 อ่อนแอลง ความผันผวนของรายได้ได้ถูกนำมาประกอบการพิจารณาในอันดับเครดิตแล้ว ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ FNS ลดลงอยู่ที่ระดับ 332.2 ล้านบาทหรือ 11.5% ของสินเชื่อทั้งหมด จากระดับ 15.4% ณ สิ้นปี 2547 อย่างไรก็ตาม ระดับสำรองหนี้สูญของบริษัทอยู่ในระดับต่ำที่ 119.3 ล้านบาทหรือเทียบเท่ากับ 35.9% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่บริษัทอาจต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมในอนาคต
การที่ FNS ขาดการสนันสนุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงที่จะอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ต่างๆ เช่นการไม่ได้รับอนุมัติแผนการขออนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารหรือในช่วงที่สภาวะตลาดผันผวน บริษัท แนเชอรัล พาร์ค ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ FNS โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนการถือหุ้น 18% มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอ และได้ประกาศว่ามีความประสงค์ที่จะขายหุ้นใน FNS ส่วนกลุ่มผู้บริหารของ FNS มีสัดส่วนการถือหุ้น 34% ใน FNS
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton,
กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า ‘AAA’ ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย
คำจำกัดความของอันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ท่านสามารถหาได้จาก www.fitchratings.com รวมทั้ง อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต และนโยบายที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวไว้ตลอดเวลา เอกสารนี้จะปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ