TMB Analytics เตือนรายย่อยจากความเสี่ยงกองทุนตราสารหนี้เกาหลี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 7, 2010 09:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยและการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ผลตอบแทนในกิมจิบอนด์ลดความน่าสนใจลง ในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมา ความตึงเครียดจากกรณีพิพาทในคาบสมุทรเกาหลี ส่งผลต่อความมั่นใจต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลเกาหลีใต้หรือไม่ เนื่องจากนักลงทุนไทยทั้งรายย่อยและสถาบันลงทุนในตราสารหนี้ของเกาหลีใต้ผ่านกองทุนรวมสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรภาครัฐ ได้รับความนิยมมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนที่ดีและความเสี่ยงต่ำเพระเป็นการลงทุนในตราสารภาครัฐ อีกทั้งเมื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินแล้ว ไม่น่าที่จะเกิดการพักชำระหนี้เช่นปี 2541 อีก อย่างไรก็ดี ในครั้งนี้แม้จะไม่ใช่ประเด็นปัญหาการเงินของเกาหลีใต้ แต่ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีใต้และเหนือที่อาจก่อให้เกิดการไหลบ่าออกของเงินทุน (capital flight) ซึ่งนำไปสู่มาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกมาใช้เพื่อไม่ให้ระบบการเงินของประเทศไร้เสถียรภาพจากผลของความตระหนกของนักลงทุนที่ต้องการรีบนำเงินของตนออก ซึ่งมาตรการนี้อาจทำให้เกิดความน่าจะเป็นที่จะไม่ได้รับชำระหนี้คืน (probability of default) ของการลงทุนในตราสารหนี้เกาหลีใต้มีสูงขึ้น TMB Analytics หรือ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB พบว่าในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 3 พ.ย. 53) การลงทุนของกองทุนรวมไทยยังคงมีการกระจุกตัวในตราสารหนี้ของเกาหลีใต้ค่อนข้างสูง ถึงร้อยละ 26 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดตามมูลค่าเงินลงทุนเริ่มแรก (IPO) โดยมียอดกองทุนบนตราสารหนี้เกาหลีใต้ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท โดยลดลงประมาณ 1.3 แสนล้านบาทจากตัวเลข ณ สิ้นปี 2552 จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยและการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ผลตอบแทนในกิมจิบอนด์ลดความน่าสนใจลง ทั้งนี้เรามองว่า ถึงแม้เงินลงทุนจากนักลงทุนไทยในตราสารหนี้เกาหลีใต้มีแนวโน้มลดลง แต่การกระจุกตัวยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องระวัง ทั้งในแง่ของรายย่อยและภาพรวมต่อระบบเศรษฐกิจไทย ในส่วน exposure ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในตราสารหนี้เกาหลีใต้มีประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.2 ของสินทรัพย์รวมมูลค่า 9.5 ล้านล้านบาท ซึ่งสถานะการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ในตอนนี้ก็ไม่ต่างจากเมื่อครั้งเกิดวิกฤติซับไพร์ม ในเดือนสิงหาคม 2551 โดยครั้งนั้นตราสาร CDO เป็นประเด็นวิตกหลักว่าธนาคารพาณิชย์ไทยถือไว้มากน้อยเท่าใด ซึ่งผลปรากฎว่ามีการถือครองตราสารดังกล่าวเพียงร้อยละ 0.04 ของสินทรัพย์รวมเท่านั้น จึงไม่เกิดผลประทบลูกโซ่กับระบบการเงินไทยแต่อย่างใด ในขณะนี้ ภาพรวมของเกาหลีใต้ผ่านมุมมองของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อย่าง Standard & Poor's และ Moody’s ก็ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินต่างประเทศของเกาหลีใต้ไว้ที่ A และ A1 ด้วยมุมมองคงที่ บนพื้นฐานของการเติบโตของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและสถานะทางการคลังที่ดี โดยขาดดุลงบประมาณในปี 2010 เพียงร้อยละ 2 ต่อ GDP และหนี้ต่างประเทศในสัดส่วนเพียงร้อยละ 40 ของ GDP แต่ถ้าหากสถานการณ์ความตึงเครียดกับเกาหลีเหนือปรับตัวแย่ลง ปัจจัยนี้ก็คงนำมาสู่การลดการจัดอันดับลงได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ