รัฐตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงทำงานการเมือง แนะสังคมยอมรับความสามารถ เปลี่ยนทัศนคติ “ผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ”

ข่าวทั่วไป Tuesday December 7, 2010 10:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program: UNDP) กำหนดจัดการประชุมระดับชาติ เรื่อง “การกำหนดสัดส่วนหญิงชายในการเลือกตั้งของประเทศไทย” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ รวมทั้งให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับข้อดี-ข้อเสีย ของระบบสัดส่วนในการเลือกตั้ง โดยมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด และกล่าวคำปราศรัย ว่า ประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของทั้งประเทศไทยและทั่วโลก จากแต่เดิมที่สังคมให้ความสำคัญต่อบทบาทของผู้หญิงในฐานะที่เป็นภรรยาและแม่ที่มีภาระหลัก ในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมือง หรือกิจกรรมสาธารณะเป็นบทบาทของผู้ชายมาโดยตลอด แต่เมื่อเป็นที่ตระหนักมากขึ้นว่า ขอบข่ายของการเมืองนั้น เกี่ยวข้องไม่เฉพาะแต่เรื่องการพัฒนาในระดับชาติ แต่จะเชื่อมโยงไปถึงระดับการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคล การให้ความสนใจต่อการเมืองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่เพียงแต่เฉพาะผู้ชาย หากแต่ผู้หญิง ก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ในฐานะที่เป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งความเสมอภาคของสตรีและบุรุษในทางการเมืองนั้น มีสองประการ คือ ความเสมอภาคในการเป็นผู้แทน และความเสมอภาคในการได้รับประโยชน์จากการกำหนดนโยบายและแผน นายองอาจ กล่าวต่อว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างนานาประเทศ ในการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเด็นต่างๆ ก็มีประเด็นการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายร่วมอยู่ด้วย โดยประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะส่งเสริมให้มีผู้หญิงในตำแหน่งทางการเมืองการบริหารให้ได้เป็นสองเท่า จาก ในช่วงปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ มี สัดส่วนผู้หญิงในรัฐสภา เป็น ส.ส. ร้อยละ ๑๐.๖๐ และเป็น ส.ว. ร้อยละ ๒๓.๕๐ แต่ทั้งนี้ ยังมีอุปสรรคสำคัญ ก็คือ ค่านิยมของสังคมซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนทั่วไป รวมทั้งผู้หญิงเองไม่อยากเข้ามาทำงานการเมือง โดยมักถูกมองว่า “ผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ”ตัดสินใจช้า ไม่กล้าโต้แย้ง ไม่สามารถเป็นผู้นำได้ ดังนั้น สังคมจึงต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มี และยอมรับว่าผู้หญิงก็มีศักยภาพ สามารถทำงานร่วมกับผู้ชายได้เช่นกัน ด้านนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า งานการเมือง นับเป็นงานสำคัญที่ต้องการความร่วมแรงร่วมใจจากทุกคน ทั้งเพศหญิงและชาย ในฐานะพลเมืองของประเทศ โดยเฉพาะผู้หญิงที่สามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ในหลายบทบาท ตั้งแต่การแสดงออกทางความคิดเห็น การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไปจนถึงการลงสมัครรับเลือกตั้ง และการทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนในสภา ซึ่งจากข้อมูลพบว่าตัวเลขสถิติผู้ไปออกเสียงเลือกตั้ง เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่เมื่อไปถึงระดับการเป็นผู้แทนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ กลับพบว่า มีผู้หญิงจำนวนน้อยที่เข้าไปมีส่วนร่วม โดยผู้หญิงที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ไปจนถึงผู้หญิงที่เป็นนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ในประเทศไทย ปรากฏว่ามีจำนวนประมาณร้อยละ ๑๑-๑๒ เท่านั้น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีผู้หญิงเข้าไปสู่การเมืองถึงร้อยละ ๑๕-๒๗ และสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย มีผู้หญิงเข้าไปสู่การเมืองเกินร้อยละ ๓๕ ขึ้นไป ซึ่งประเทศเหล่านี้ ประชาชนทุกกลุ่มล้วนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ฉะนั้น จึงควรสนับสนุนให้ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยส่งเสริมผู้หญิงให้เป็นผู้แทนของประชาชนมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ