กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
สถิติมะเร็งปากมดลูกยังแรง คร่าชีวิตหญิงไทยเพิ่มขึ้น 100%ผนึกกำลัง 5 องค์กรแพทย์และเครือข่ายประชาชนร่วมรณรงค์ จัดกิจกรรม “The Tour of Hope รวมพลังปกป้องหญิงไทยจากภัยมะเร็งปากมดลูก”
แม้ว่าปัจจุบันมะเร็งปากมดลูก จะเป็นมะเร็งเพียงชนิดเดียวที่สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรองเป็นประจำร่วมกับการฉีดวัคซีน แต่มะเร็งปากมดลูกกลับยังเป็นมะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตของหญิงทั่วโลกในอันดับต้นๆ โดยทุกๆ 2 นาทีจะมีผู้หญิงเสียชีวิต 1 คน ขณะที่หญิงไทยพบอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆจนน่าตกใจ โดยเพิ่มขึ้นจาก 7 คนต่อวัน เป็น 14 คนต่อวัน หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นถึง 100%
สืบเนื่องจากปัญหามะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยดังกล่าว ทางสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย จึงได้ร่วมกับ กรมอนามัยและกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ (ไทย), เครือข่ายภาคประชาชนของสมาคมฯ และโครงการผู้หญิงปกป้องผู้หญิงจากมะเร็งปากมดลูก จัดกิจกรรม “รวมพลังปกป้องหญิงไทยจากภัยมะเร็งปากมดลูก” และได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมปั่นจักรยานการกุศล ในโครงการ The Tour of Hope, the Fight against Cervical Cancer เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยได้ตระหนักถึงอันตรายของมะเร็งปากมดลูก และได้รับทราบแนวทางในการป้องกันที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และชี้ให้เห็นความสำคัญของการป้องกันมะเร็งปากมดลูก
งานนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นประธานเปิดงาน โดยมีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานมากมาย อาทิ นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย, นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์, ศ.กิตติคุณ พญ.คุณหญิงกอบจิตต์ ลิมปพะยอม ประธานมูลนิธิ Jhpiego, รศ.พญ.อรวรรณ คีรีวัฒน์ นายกสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ (ไทย), คุณนวรัตน์ กิติยากร ณ อยุธยา, คุณหญิงสุภา และดร.วีรภา กิจจาทร, ม.ร.ว.อัจฉรา ขจรวิทยา, ม.ร.ว.จิราภรณ์ จันทรทัต, รศ.อรุณีประภา และคุณอรญา หอมเศรษฐี,คุณพิริยาภรณ์ ธรรมมารักษ์, คุณลักษณ์ประไพ หัสดินทร, Countess Susanne von Korff และตัวแทนจากโครงการผู้หญิงปกป้องผู้หญิงจากมะเร็งปากมดลูก และประชาชนผู้สนใจอีกคับคั่ง ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเมื่อเร็วๆนี้
ภายในงานมีการร่วมปั่นจักรยานรณรงค์ต่อต้านมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยของนักปั่นชาวไทยกว่า 100 คน ซึ่งมาจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น องค์กรแพทย์ เครือข่ายประชาชน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ นักเรียนนักศึกษา ร่วมด้วยนักปั่นจักรยานการกุศลนานาชาติจากคณะ The Tour of Hope, the Fight against Cervical Cancer ซึ่งประกอบด้วยไปกลุ่มนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จาก 8 ประเทศอีก 40คน ที่ได้ร่วมปั่นจักรยานรณรงค์ต่อต้านโรคมะเร็งปากมดลูก จากจังหวัดกาญจนบุรี มาสิ้นสุดที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พร้อมระดมเงินบริจาคเงินจำนวน1,000,000.-บาท ให้แก่องค์กรเพื่อสุขภาพเจไปโก้ (JHPIEGO) แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และรณรงค์ในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกของ Johns Hopkins University ประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ในงานยังมีการเสวนา “มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้” โดย รศ.นพ.ชัยยศ ธีรผกาวงศ์ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ร่วมกับ 4 สาว GET DIVAS (หัทยา วงศ์กระจ่าง สาลินี ปันยารชุน วินรัตน์ ศันสนะเกียรติ และ อัจฉริยา สินรัชตานันท์) โดย รศ.นพ.ชัยยศ ธีรผกาวงศ์ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ระบุว่า ปัญหาสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยคือ ความเข้าใจผิดของผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ ที่คิดว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง คิดว่าตนเองมีคู่นอนเดียว สามีไม่เจ้าชู้ ก็ไม่น่าจะเกิดโรคร้ายนี้ ทำให้ไม่เห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งในความเป็นจริง มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีชนิดก่อมะเร็ง ซึ่ง 50-80% ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้ในช่วงชีวิตหนึ่ง การมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวหรือผู้หญิงที่มีคู่นอนคนเดียวก็มีโอกาสในการรับเชื้อเอชพีวีเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่มักอายและกลัวที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นกว่าจะรู้ตัวว่ามีอาการผิดปกติ ความรุนแรงของโรคก็มักอยู่ในระยะลุกลามแล้ว ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตต่ำ อันที่ตริงแล้ว ผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเพื่อให้ได้ผลดีที่สุดก็ควรฉีดวัคซีนร่วมด้วย
คุณหญิงสุภา กิจจาทร ให้ความเห็นว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่น่ากลัวและควรให้ความสำคัญ เพราะมีอัตราการตายสูงและมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ด้วยนิสัยของหญิงไทยมักจะอายเมื่อต้องตรวจภายใน จึงเป็นการดีที่มีโครงการฯ มาสนับสนุน ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงไทยมาก นอกจากหน่วยงานต่างๆ ของไทยแล้วยังมีชาวต่างชาติมาร่วมกันรณรงค์ปกป้องหญิงไทยและมอบเงินบริจาคให้ นับเป็นความเอื้อเฟื้อห่วงใยที่มีต่อหญิงไทยทุกคน” ในขณะที่ คุณพิริยาภรณ์ ธรรมรักษ์ กล่าวว่า “เราควรให้ความสำคัญกับการตรวจร่างกายเป็นประจำ เพราะปัจจุบันโรคภัยต่างๆมีเยอะและสำหรับขึ้น สำหรับผู้หญิงเราอย่าละเลยเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำด้วย และการที่มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกัน ก็สามารถช่วยให้เราสบายใจขึ้นได้ว่าโอกาสที่จะเป็นโรคนี้มีน้อยลง
มะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายใกล้ตัวผู้หญิงทุกคน
มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) นับเป็นภัยร้ายใกล้ตัวผู้หญิงทุกคน และเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในบรรดามะเร็งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงไทย ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 10,000 ราย ครึ่งหนึ่งจากจำนวนนี้เสียชีวิต หรือเฉลี่ยแล้วหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเป็นจำนวนมากถึงวันละ 14 คน โดยมะเร็งปากมดลูกนี้เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก ซึ่งหากไม่ได้รับการตรวจพบและรักษาได้ทันเวลา ก็อาจเกิดการลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญภายในช่องท้อง (เช่น ต่อมน้ำเหลือง ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่) ทำให้ยากแก่การรักษา และมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง
สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส ที่ชื่อว่า เอชพีวี (HPV: Human Papilloma Virus) ชนิดก่อมะเร็ง ซึ่งติดต่อได้ง่ายผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่ และสามารถติดต่อได้แม้เพียงสัมผัสกันทางผิวหนัง การใช้ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% โดยผู้หญิงสามารถติดเชื้อนี้ได้ในทุกช่วงอายุ จากสถิติพบว่า 50-80% ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว มีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีได้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชพีวีส่วนใหญ่จะสามารถกำจัดเชื้อออกไปได้เอง แต่ในบางกรณีที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ เซลล์บริเวณปากมดลูกก็อาจมีการพัฒนาไปเป็นระยะก่อนมะเร็ง จนกลายไปเป็นเซลล์มะเร็ง และลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ โดยตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนพัฒนาไปเป็นมะเร็ง อาจใช้เวลานาน 10-15 ปี โดยผู้ติดเชื้อในระยะแรกมักไม่มีอาการใดๆ เลย เมื่อเริ่มมีอาการ ก็มักจะเป็นมะเร็งในระยะลุกลามแล้ว ซึ่งอาจมีความเสี่ยงสูงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้
1. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ปากมดลูก หากพบความผิดปกติ แพทย์จะได้รักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่เซลล์จะเปลี่ยนเป็นมะเร็ง
2. ฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ก่อมะเร็ง
ทั้งนี้การป้องกันเพียงวิธีใดวิธีหนึ่งไม่สามารถป้องกันได้ 100% การป้องกันที่ดีที่สุดคือทำทั้ง 2 วิธีร่วมกัน คือการตรวจคัดกรองเป็นประจำร่วมกับการฉีดวัคซีน