ตามไปดูบัณฑิตอาสา มอ. ตะลุยพื้นที่สึนามิ พัฒนาชุมชน

ข่าวทั่วไป Tuesday December 7, 2010 12:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ล่องใต้ ไปดู บัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “พลเมืองของชาติ ยุคใหม่” ที่ตัดสินใจหันหลังออกจากเมือง เดินลงชุมชน ใช้เวลาหนึ่งปีศึกษา และเรียนรู้ หวังยกระดับชุมชนเข้มแข็ง มูลนิธิสยามกัมมาจลขอร่วมหนุนบัณฑิตอาสา มอ.ลงพื้นที่สึนามิ 9 แห่ง สานต่องานฟื้นฟูพื้นพิบัติภัย ทันทีที่ได้รับปริญญาบัตรอันทรงเกียรติ เป็นบัณฑิตผู้มีความรู้อย่างเต็มความภาคภูมิแล้ว บัณฑิตหนุ่มสาวส่วนใหญ่ก็มักจะมุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อแสวงหาหน้าที่การงานที่มั่นคงตามที่วาดหวังไว้ ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ชุมชนท้องถิ่นไว้ข้างหลัง สถานการณ์เช่นนี้เป็นวังวนที่เกิดและเติบโตขึ้นเป็นสภาวะการณ์อันนำมาซึ่งความล่มสลายของสังคมชนบท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็มีโครงการบัณฑิตอาสา “โครงการ บอ. มอ.” ส่งเสริมบัณฑิตอาสาให้ลงไปทำงานในชุมชนชนบทซึ่ง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของบัณฑิตร่วมกับการพัฒนาชุมชนและเป็นกลไกเชื่อมประสานระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับชุมชน นางวัลภา ฐาน์กาญจน์ ผู้ประสานงานภาพรวมและผู้จัดการโซนภาคใต้ตอนกลาง บอ.มอ. กล่าวว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความหวาดระแวงและเป็นข้อจำกัดต่อนักวิชาการในการลงพื้นที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) เล็งเห็นว่า บัณฑิตเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนภาคใต้และสร้างความไว้วางใจในชุมชน จึงได้ดำเนินการโครงการบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของบัณฑิตร่วมกับการพัฒนาชุมชน และเป็นกลไกเชื่อมประสานระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับชุมชน ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติสึนามิขึ้น โครงการฯได้จัดสรรบัณฑิตอาสาจำนวน 4 คน ไปทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ภัยพิบัติตลอดระยะเวลา 1 ปี และยังได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิตและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ประสบภัยทำการวิจัยและติดตามดูแลด้านสุขภาพจิตของผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติ ระยะที่ 1 จำนวน 5,180 ราย และระยะที่ 2 เด็ก จำนวน 2,253 ราย และได้ร่วมกับ สสส. ในการจัดทำหนังสือสรุปบทเรียนของประเทศด้านการจัดการภัยพิบัติดังกล่าว ประสบการณ์การทำงานในพื้นที่สึนามิทำให้โครงการบัณฑิตอาสาเข้มแข็งและมีเครือข่ายกว้างขวางขึ้น จึงขยายพื้นที่การทำงานครอบคลุมทั่วภาคใต้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 ปีแล้ว สำหรับการดำเนินโครงการ บอ.มอ.ปีที่ 6 นี้ มูลนิธิสยามกัมมาจล เล็งเห็นประโยชน์ของกระบวนการบ่มเพาะบัณฑิตอาสาในข้างต้น จึงได้ร่วมให้การสนับสนุนเพื่อสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ที่มีพื้นที่ทำงานในเขตพื้นที่ธรณีพิบัติภัยสึนามิ จำนวน 9 คนได้แก่ นางสาวสุดารัตน์ ช่วยเมือง ดำเนินงานในพื้นที่บ้านกำพวน ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง นางสาวอาอีเซาะ ดือเระ ดำเนินงานในพื้นที่บ้านทะเลนอก ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง นายติรมีซี ฮามะ ดำเนินงานในพื้นที่บ้านเกาะไม้ไผ่ ต.เกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา นางสาวนาซีเราะห์ สือรี ดำเนินงานในพื้นที่บ้านร่าหมาด ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา นายอิสมาแอ มาหะ ดำเนินงานในพื้นที่บ้านนาทุ่งกลาง ต.กาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ นายฮาเซ็ง มะลา ดำเนินงานในพื้นที่บ้านเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.เกาะลิบง จ.ตรัง นางสาวกูฮานีซ๊ะ รงโซะ ดำเนินงานในพื้นที่บ้านบุโบย ต.แหลมสน อ.ละงู จ.สตูลนางสาวอามีเนาะ มาปะ ดำเนินงานในพื้นที่บ้านตะโละใส ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล และ นายอาหมัด โอกาส ดำเนินงานในพื้นที่บ้านเกาะสาหร่าย ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ที่ผ่านมา บัณฑิตอาสา มอ. ซึ่งเข้าไปทำงานฝังตัวอยู่ในชุมชน ได้ใช้เวลาศึกษาเรียนรู้การทำงานงานพัฒนาชุมชนและกระบวนการพัฒนาตนเอง ต้องเผชิญกับโจทย์ อุปสรรค ปัญหา ในชีวิตจริง พื้นที่จริง นับเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวที่ยากลำบากอยู่ไม่น้อย ในระยะเริ่มแรกของการทำงาน บัณฑิตหลายคนรู้สึกเครียด ท้อแท้ ถึงกับต้องเสียน้ำตา บางคนคิดอยากหันหลังให้งานพัฒนาชุมชน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความมานะพยายาม ความอดทน ที่จะปฏิบัติภาระกิจให้สำเร็จของบัณฑิต ภายใต้การดูแลให้คำแนะนำปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษา พี่เลี้ยงโครงการ และครูพี่เลี้ยงในพื้นที่ ทำให้พวกเขาก้าวผ่านบททดสอบที่บัณฑิตอาสาทุกรุ่นต้องประสบมาได้ที่ละขั้นๆ ถึงตอนนี้พวกเขาก้าวมาถึงการเริ่มลงมือทำโครงการพัฒนาร่วมกับชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมฝึกหัดที่สำคัญของโครงการ นางสาวกูอานีซ๊ะ รงโซะ หรือ “เตาะห์ สาวน้อยขี้อายที่เคยมุ่งมั่นแต่กับการเรียน แต่เมื่อเธอมีโอกาสได้สัมผัสกับกิจกรรมค่ายพี่สอนน้องเมื่อตอนเรียนปี 2 ทำให้เธอเริ่มสนใจงานพัฒนาชุมชน ทันทีที่เธอได้เป็นบัณฑิตจากรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เธอจึงตัดสินใจที่จะเข้าร่วมโครงการบัณฑิตอาสา เธอเลือกพื้นที่บ้านบุโบย ต.แหลมสน อ.ละงู จ.สตูล เป็นพื้นที่ทำงานส่งเสริมและศึกษาการใช้ประโยชน์จาก “ราปน” เศษวัตถุอินทรีย์ที่เกิดจากการทับถมสะสมอยู่ในบริเวณป่าชายเลนชายหาดในชุมชนบ้านบุโบยจำนวนมาก ในอดีตชาวบ้านนำมาใส่ต้นไม้ให้เจริญงอกงาม “เตาะห์” เห็นประโยชน์ดังกล่าวจึงเข้ามาทำหน้าที่ประสานชาวบ้านเพื่อให้เกิดการตั้งกลุ่มเกษตรนำ “ราปน”มาใช้ทางการเกษตรทดแทนสารเคมี และจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชน ปัจจุบันเต๊าะ ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มชาวบ้านได้แล้ว เหลือเพียงศึกษาวิเคราะห์ธาตุอาหารที่อยู่ใน “ราปน” เพื่อสร้างมูลค่าให้กับราปนในอนาคต “ที่บ้านเกิดของหนูมาจากชุมชนมุสลิมเหมือนกัน และสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกันที่บ้านหนูทำสวนยางแต่ที่นี่เขาทำประมง หกเดือนที่ผ่านมาหนูได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนภาคใต้ตอนกลาง ได้รับการต้อนรับและเห็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในชุมชน ไปถึงบ้านไหนก็กินข้าวบ้านนั้น รู้สึกว่าชุมชนที่นี่สงบสุขต่างจากชุมชน 3 จังหวัดที่บ้านเราที่ตอนนี้เปลี่ยนไปมากหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบเราอยู่กันแบบตัวใครตัวมันทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเราอยู่กันด้วยความสามัคคีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบบเครือญาติสังคมบ้านเราน่าจะดีกว่านี้” “เตาะห์” บอกว่า ยังเหลือเวลาอีกหกเดือนในการผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จ เตาะห์หวังว่าต้องการให้กลุ่มชาวบ้านที่ตั้งขึ้น มีความเข้มแข็งสามารถสร้างอาชีพเสริมจาก “ราปน” ได้อย่างน้อยก็นำราปนมาใช้ทดแทนสารเคมีในการทำการเกษตรนอกจากจะลดต้นทุนแล้ว ยังเป็นการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมด้วย นายอิสมาแอ มาหะ หรือ “แอ” บัณฑิตอาสาจากคณะสังคมวิทยามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มอ.ปัตตานี มาเป็นบัณฑิตอาสา เพราะต้องการหาประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชนด้วยความใฝ่ฝันว่าเมื่อเรียนจบเขาจะกลับไปเป็นนักพัฒนา “แอ” เลือกพื้นที่ พื้นที่นาทุ่งกลาง ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นพื้นที่ทำงาน โดยร่วมกับกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนตำบลเกาะกลางดำเนินโครงการ “การจัดการชุมชนให้ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับเด็กเยาวชนและประชาชน” เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ “หกเดือนที่ผ่านมาผมเข้ามาปัดฝุ่นโครงสร้างการทำงานของสภาเด็กและเยาวชนของตำบลนาทุ่งกลางที่รกร้างคนทำงานให้กลับมาสร้างคนทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ ผมทำหน้าที่ประสานความรู้และกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมและได้เรียนรู้กระบวนการประสานงานกับทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ ในชุมชน ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะการประสานงานเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมทุกอย่างจำเป็นต้องทำให้เกิดความแน่นอน ถ้าเราไม่สามารถประสานให้เกิดความแน่นอนได้ ก็จะส่งผลกระทบกับงานได้ เช่น ที่ผ่านมาผมเคยจัดกิจกรรมอบรมความรู้เรื่องประชาธิปไตยให้เยาวชน โดยต้องเชิญผู้ใหญ่มาให้ความรู้ แต่ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนรับปากว่าจะมาแน่ๆ บอกเพียงว่าอาจจะ กระทั่งถึงวันงานเขามาไม่ได้ ทำให้ผมต้องวิ่งหาวิทยากรคนอื่นมาแทน ซึ่งเสียเวลาในช่วงเช้าไปมาก ตรงนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องการประสานงานแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ผมก็จะค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ผมคาดหวังว่าอนาคตตำบลนาทุ่งกลางจะมีสภาเด็กและเยาวชนที่มีความเข้มแข็งสามารถคิดสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อเยาวชนและชุมชนได้ด้วยตนเอง ผมบอกกับน้องๆ เสมอว่า เยาวชนในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันนี้ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ในวันหน้า หากเยาวชนคิดทำสิ่งดีๆ ได้ในวันนี้ก็ต้องทำวันนี้ ไม่ต้องรอให้เป็นผู้ใหญ่แล้วจึงทำ” นายอาหมัด โอกาศ หรือ “หมัด” เด็กหนุ่มจาก จ.สงขลาที่ต้องห่างเหินจากบ้านเกิดตั้งแต่วัยเรียน กระทั่งมาเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อเรียนจบเขาตั้งใจที่จะทำงานหลายๆ อย่างเพื่อสั่งสมประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด ด้วยความฝันว่า เมื่อเวลาอันเหมาะสมมาถึงเขาจะกลับไปใช้บั้นปลายของชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดเพื่อพัฒนาบ้านเกิดให้เข้มแข็ง นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ “หมัด” เลือกที่จะมาเป็นบัณฑิตอาสา และเลือกดำเนินงานในพื้นที่เกาะสาหร่าย ต.เกาะสาหร่าย จ.สตูล การทำงานในชุมชนของหมัด ค่อนข้างราบรื่น บทบาทหลักของเขา คือ การเข้าไปเป็นเสมือนผู้ประสานงานระหว่างชุมชน กับนักวิชาการซึ่งเข้ามาทำงานวิจัย เพื่อสร้างการเรียนรู้และกระตุ้นจิตสำนึกแห่งการอนุรักษ์ทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่งให้ชาวบ้านนอกเหนือกลุ่มแกนนำอนุรักษ์ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเล โดย“หมัด” บอกว่าบทบาทหลักๆ ของเขาคือร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านรวบรวมความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประยุกต์กับองค์ความรู้สมัยใหม่ จากงานวิจัยของนักวิชาการ รวมทั้งสร้างความเข้าใจ และดึงชาวบ้านในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้มากที่สุด ความยากของการทำงานของ “หมัด” คือ การปรับเปลี่ยนมุมมองของชาวบ้านต่อการดูแลและปกป้องทรัพยากรชายฝั่งที่แม้จะมีความหวงแหนในทรัพยากรทางทะเล แต่ก็ยังรู้สึกว่า “เรื่องการสอดส่องดูแล และป้องกันผู้ลักลอบจับสัตว์น้ำ” เป็นเรื่องของฝ่ายปกครองเพียงอย่างเดียว “ผมยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมากในระยะเวลาเพียงหกเดือน ผมจะต้องถอดบทเรียนด้านการอนุรักษ์ รวมทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของชุมชนนี้ออกมาเป็นรายงานหรือคู่มือเพื่อให้อบต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือและร่วมมือในการร่วมกันจัดการทรัพยากรไม่ใช่ให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ดำเนินการเพียงลำพัง แต่อย่างไรก็ตาม หกเดือนที่ผ่านมาก็ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมายนอกเหนือจากการทำงานชุมชนที่ผมตั้งใจจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปใช้ที่บ้านผมแล้ว ลูกแม่ค้าอย่างผมก็ยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวเล วิธีการวางอวน วิธีการดูน้ำว่าจุดไหนจะมีปลามากหรือน้อย ทำให้ผมได้เห็นอีกวิถีชีวิตหนึ่งที่แม้ผมจะเป็นคนใต้แต่ก็ไม่เคยทราบในบางเรื่องราวของคนเกาะสาหร่าย” หมัดกล่าว แม้บัณฑิตอาสา เหล่านี้จะมีเวลาในการทำงานในพื้นที่เพียงหนึ่งปีเท่านั้น แต่ประสบการณ์ที่พวกเขาเก็บเกี่ยวจากกระบวนการทำงานและการอบรมจากโครงการทำให้บัณฑิตเหล่านี้เกิดการพัฒนาทั้งคุณภาพ ความสามารถ และเกิดทัศนคติใหม่ๆ ที่มีต่องานพัฒนาชุมชน แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับสร้างคุณค่ามหาศาลในการพัฒนาชุมชน บัณฑิตเหล่านี้ คือความหวัง และเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความสงบสุขโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ