กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--เอ็มบิส เอเชีย
สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือ ทริดี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) หลังจากที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการไทย ทั้งในส่วนภาครัฐ และภาคเอกชนมาตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ในวันนี้ภาพความชัดเจนเกิดขึ้นอีกครั้ง กับการผลักดันที่เกิดการประกวดนวัตกรรมโทรคมนาคมประจำปี 2553 ซึ่งในปีนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกที่มีผลงานยอดเยี่ยม สามารถพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การผู้ผลิตและส่งออกได้ในอนาคตอันใกล้
ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมมาโดยตลอด แต่ในอนาคต ทริดี้มองว่าไทยต้องเป็นผู้ผลิตและส่งออกเองด้วย ทริดี้จึงวางแผนการดำเนินงานให้คนไทยเริ่มหันมาเห็นคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไทย ดังนั้นจึงมุ่งมั่นสนับสนุนและอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย ด้วยการจัดงานประกวดนวัตกรรมโทรคมนาคม เพื่อแสดงศักยภาพผู้ผลิตไทยที่สามารถวิจัยและพัฒนาผลงานคุณภาพได้ไม่แพ้ต่างชาติ โดยในปีนี้การประกวดนวัตกรรมโทรคมนาคม ได้คัดเลือกผลงานจากจำนวนทั้งหมดกว่า 100 ผลงาน ใน 4 ประเภทดังนี้
- ประเภทผลิตภัณฑ์โทรคมนาคม (Telecom Product)
- ประเภทแอพพลิเคชั่นโทรคมนาคม (Telecom Application)
- ประเภทโทรคมนาคมเพื่อบริการสาธารณะ (Telecom USO)
- ประเภทต้นแบบโทรคมนาคม (Telecom Prototype)
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ทริดี้) กล่าวว่า ในการประกวดนวัตกรรมโทรคมนาคมประจำปี 2553 เป็นการจัดต่อเนื่องมาจากการประกวดนวัตกรรมโทรคมนาคมจากปีที่แล้ว เนื่องจากการประกวดในปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยผลงานทุกชิ้นที่ได้รับรางวัลสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และนำไปใช้ได้จริง ผลงานต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้แสดงถึงศักยภาพของคนไทยว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าต่างชาติ ผลงานที่ได้รับรางวัลบางผลงาน ได้ถูกนำไปใช้จริงโดยผู้ประกอบการโทรคมนาคมในประเทศ บางผลงานได้รับความสนใจจากต่างชาติและส่งออกได้ ซึ่งทำให้เกิดการเติบโตในทางอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และลดการนำเข้า โดยในปีที่ผ่านมาการนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมลดลงกว่าร้อยละ 10 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าจำนวนมากในเชิงเม็ดเงินนำเข้า
จากวิสัยทัศน์ของทริดี้ เรามุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย วันนี้ผู้ประกอบการไทยได้แสดงศักยภาพให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ทริดี้จึงวางแผนที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยต่อไป โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย ภาครัฐ และเอกชน ได้เห็นถึงคุณภาพของผลงานที่วิจัยและพัฒนาโดยคนไทย เดิมการผลักดันจากงานวิจัยจะเป็นลักษณะจากหิ้งสู่ห้าง จากงานวิชาการสู่เชิงธุรกิจ แต่วันนี้ทริดี้ต้องการสนับสนุนให้เกิดการผลักดันจาก “ห้างสู่ห้าง” โดยผลักดันผู้ผลิตไทยให้มีโอกาสมากขึ้น เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพของไทย และผลักดันให้เกิดมูลค่าในภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมากขึ้น
ผลการประกวดนวัตกรรมโทรคมนาคม ประจำปี 2553
- ประเภทผลิตภัณฑ์โทรคมนาคม (Telecom Product)
รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ วิทยุสื่อสารระบบดิจิตอลทรั้งค์เรดิโอ (Digital Trunked Radio Connectivity : TDRC) โดยบริษัท ดิจิตอล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลทิ่ง จำกัด
รางวัลดีเด่น ได้แก่ อุปกรณ์สื่อสัญญาณ Wavelength Division Multiplexing (FORTHX-TRANS WDM Access Switch) โดยบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด
รางวัลชมเชย ได้แก่ High Power Frequency Shifting Repeater for GSM 1800 MHz.โดยบริษัท อนันดา เทคโนโลยี จำกัด
- ประเภทแอพพลิเคชั่นโทรคมนาคม (Telecom Application)
รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ โครงการตรวจสอบข้อมูลและกระจายข่าวสารผ่านระบบ SMS(SMS POLICE) โดยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ ซอฟต์แวร์บริหารจัดการโครงข่าย เน็ตก้าวิว เน็ตเวิร์ค เมเนเจอร์(Netka View Network Manager) โดยบริษัท เน็ตก้า ซิสเต็ม จำกัด
รางวัลชมเชย ได้แก่ ระบบบริการข้อมูลจราจรด้วยเสียงพูดอัตโนมัติ(Traffic Voice Information Service : TVIS) โดย ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล
- ประเภทโทรคมนาคมเพื่อบริการสาธารณะ (Telecom USO)
รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ สถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบถอดออกจากรถ (Cell on Legs)โดยบริษัท เอ.แอล.ที. อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด
รางวัลดีเด่น ได้แก่ ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม สำหรับผู้พิการ(Telephone for Universal Service Obligation for Disabilities Persons :TOT USO) โดย นายพิเชษฐ์ พานเที่ยง
- ประเภทต้นแบบโทรคมนาคม (Telecom Prototype)
รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ อุปกรณ์การเข้ารหัสลับด้วยสัญญาณอลวน (A Chaotic Encryption Device)โดย นายปิติ สู้รักษา นายกฤดากร กล่อมการ นายศักดา สาครนันท์นายเจตน์ ออสวัสดิ์
กิจกรรมดังกล่าว เมื่อได้ผลงานชนะเลิศในแต่ละสาขาแล้ว แผนงานการดำเนินต่อไปนับจากนี้ ทริดี้จะมีการสนับสนุนให้เกิดการใช้ในประเทศ เบื้องต้นจะสนับสนุน ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการไทยใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เห็นถึงศักยภาพ เทียบเท่าอุปกรณ์จากต่างชาติ ส่วนอุปกรณ์ที่ยังต้องพัฒนาต่อ ทริดี้จะทำการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสู่การใช้จริงได้ในอนาคต ส่วนผลงานที่เห็นถึงโอกาสในการส่งออก แผนการการรองรับจะทำการออก Road Show แนะนำสู่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ โดยอนาคตอันใกล้ทริดี้คาดว่า จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย หากเราทุกคน ทุกภาคส่วนช่วยกันสนับสนุนอย่างจริงจัง ดร.สุพจน์ กล่าวสรุป