กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดรับสมัครผู้ประกอบการธุรกิจสปาไทยและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ในสปา เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการพัฒนามาตรฐานและศักยภาพธุรกิจสปาไทย เพื่อพัฒนานวัตกรรมบริการสปาและผลิตภัณฑ์สปาใหม่ด้วยอัตลักษณ์ความเป็นไทย
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนิน โครงการพัฒนามาตรฐานและศักยภาพธุรกิจสปาไทย เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการบริการและผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่า Value Creation ให้ภาคการผลิตและภาคการบริการ สปาไทย โดย นายธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาโครงการอาวุโส ISMED หัวหน้าคณะทำงานโครงการพัฒนามาตรฐานและศักยภาพธุรกิจสปาไทย เปิดเผยว่า สปาไทยเป็นสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมไทยที่มีคุณค่าและเป็นอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ Creative Industry ที่เชื่อมโยงทั้ง Value Chain ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่อง การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจสปาไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้ผู้ประกอบการมองข้ามอัตลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งการหันกลับมาค้นหาภูมิปัญญาท้องถิ่นและนำมาประยุกต์เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน เป็นหนทางหนึ่งที่สามารถสร้างคุณค่าให้บริการสปาไทยแตกต่างจากบริการสปาของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน
“ในปี 2554 สถาบันได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินโครงการพัฒนามาตรฐานและศักยภาพธุรกิจสปาไทย ซึ่งมี 2 กิจกรรมหลักที่สถาบันจะทำงานร่วมกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์บริการ สปาและผลิตภัณฑ์สปาใหม่ โดยนำภูมิปัญญาเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมการรักษาสุขภาพของไทย และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาสร้างคุณค่าเพิ่มของบริการสปาไทย ด้วยจุดขายอัตลักษณ์ความเป็นไทย”
กิจกรรมในโครงการที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมบริการสปาไทยสู่สากล ประกอบด้วย กิจกรรม Thailand Supreme Service การพัฒนามาตรฐานการบริการและนวัตกรรมบริการด้วยอัตลักษณ์ไทยสู่สากล สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสปาไทย (Spa Service) ผู้สมัครต้องเป็นสถานบริการสปาที่จดทะเบียนและรับรองอย่างถูกต้องจากหน่วยงานสาธารณสุข สถานบริการสปามีจำนวนเตียงให้บริการไม่น้อยกว่า 20 เตียง หรือมีพนักงานผู้ให้บริการไม่น้อยกว่า 10 คน (พนักงานประจำรวมทุกสาขา) ผู้ประกอบการสปา (เจ้าของ) ดำเนินธุรกิจมาไม่น้อยกว่า 3 ปี ผู้ที่ผ่านการคัดสรรเข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับ 1) การรับคำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์การแพทย์แผนไทยและ/หรือสมุนไพร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการแพทย์และการพัฒนาบริการ เพื่อนำภูมิปัญญาไทยมาประยุกต์และพัฒนาสร้างสรรค์ให้เป็นบริการสปาใหม่ที่โดดเด่นของสถานบริการสปา SIGNATURE TREATMENT จำนวนรวม 20 วัน 2) การรับคำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาบริการสปาใหม่ให้ได้มาตรฐานสากล และสามารถสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าชาวต่างประเทศที่มารับบริการ โดยผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศที่มีประสบการณ์ในการบริหาร สปาในต่างประเทศ จำนวน 5 วัน 3) การเข้าร่วมกิจกรรม Business Matching (จับคู่ธุรกิจ) กับคู่ค้าจากต่างประเทศ จำนวน 1 ครั้ง 4) การเข้ารับการอบรมพัฒนาความรู้และทักษะการบริหารจัดการสปาสมัยใหม่ จำนวน 5 วัน
ส่วนกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในสปาด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ในสปา (Spa Product) ผู้สมัครต้องเป็นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่นำศาสตร์หรือภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทย และหรือสมุนไพรไทยที่ได้รับการสืบทอดเป็นตำรับหรือสูตรดั้งเดิมมายาวนานไม่น้อยกว่า 10 ปี มีการผลิต หรือจ้างการผลิตจากโรงงานที่ได้รับมาตรฐาน GMP หรือผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรโดยการนำองค์ความรู้สมัยใหม่ ได้แก่ ศาสตร์ทางเภสัชศาสตร์ เทคโนโลยีการทำสารสกัด ฯลฯ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาหรือแปรรูปสมุนไพรมาไม่น้อยกว่า 3 ปี ผู้ที่ผ่านการคัดสรรเข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับ 1) การรับคำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจการตลาด เพื่อถ่ายทอดและแนะนำเทคโนโลยีการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น กรรมวิธีการพัฒนาและปรับปรุงสูตร กรรมวิธีการคงสภาพผลิตภัณฑ์พร้อมสารสำคัญในบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ ฯลฯ จำนวน 15 วัน 2) การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่แก่บุคลากรด้านการผลิต เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้เอง จำนวน 2 วัน 3) การเข้ารับการอบรม พัฒนาทักษะ และความรู้ด้านกระบวนการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตของบุคลากรในโรงงานผลิต จำนวน 2 วัน 4) การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า 1 ครั้ง เพื่อทดลองนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่แก่ตลาดเป้าหมาย
“การดำเนินโครงการนี้ สถาบันคาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทั้งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสปาไทยและกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ในสปาเป็นจำนวนมาก เพราะต่างก็ต้องการยกระดับมาตรฐานการบริการและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า สถาบันจึงจะทำการคัดสรรผู้เข้าร่วมโครงการในเบื้องต้นจากใบสมัคร จากนั้นจะมีการสัมภาษณ์และ/หรือการเยี่ยมชมกิจการ เพื่อสำรวจศักยภาพ ความพร้อม ความมุ่งมั่นและทัศนคติของผู้ประกอบการและองค์กร ในการส่งเสริมและพัฒนาบริการสปาใหม่ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะแนวคิดของผู้ประกอบการในการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านและศาสตร์แพทย์แผนไทย เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้บริการใหม่และผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สำคัญผู้ประกอบการและบุคลากรต้องมีเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อบรรลุผลสัมฤทธ์ในการเข้าร่วมโครงการ” นายธนันธน์ กล่าวเพิ่มเติม
ผู้ประกอบการธุรกิจสปาไทยและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ในสปา สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการพัฒนามาตรฐานและศักยภาพธุรกิจสปาไทย สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.ismed.or.th โดยจะเปิดรับสมัครถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2553 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2564-4000 ต่อ 7304 (คุณธนันธน์) 4103 (คุณสุกัญญา)
รายละเอียดเพิ่มเติม :
คุณดวงเนตร กรี่เงิน
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
โทรศัพท์ 0-2564-4000 ต่อ 4102 โทรสาร 0-2986-9807
e-mail : janjira25@hotmail.com