คสม.ขับเคลื่อนแนวทางผลิตแพทย์รุ่นใหม่ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์

ข่าวทั่วไป Wednesday June 27, 2007 08:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--คสม.
เมื่อเร็วๆ นี้ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดเวทีขับเคลื่อนเครือข่ายการพัฒนาสุขภาพที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (คสม.) เรื่อง “Humanized Health Care ใส่หัวใจให้ระบบสุขภาพ” ขึ้น ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ กล่าวว่า เครือข่ายการพัฒนาสุขภาพที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (คสม.) ซึ่งประกอบด้วยคณะแพทยศาสตร์หรือโรงเรียนแพทย์ 5 แห่ง คือ ม.จุฬาฯ ม.มหิดล ศิริราชพยาบาล ม.สงขลานครินทร์และ ม.นเรศวร ร่วมด้วย วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยการสาธารณสุข และโรงพยาบาลชุมชนอีก 4 แห่ง คือ รพ.พระนั่งเกล้า รพ.เทพา จ.สงขลา รพ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ซึ่งเห็นตรงกันว่าการขับเคลื่อนเรื่อง “แพทย์ไทยหัวใจพระโพธิสัตว์” เป็นประเด็นที่จะสามารถมีผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ได้นั้น ควรเริ่มดำเนินการในกลุ่มนักศึกษาแพทย์ก่อนเพราะสัมผัสทุกข์ของผู้ป่วยได้ง่ายกว่า และพบว่าในโรงเรียนแพทย์หลาย ๆ แห่งดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้วในรูปแบบแตกต่างกันไป ดังนั้นการนำประสบการณ์และองค์ความรู้ของแต่ละแห่งมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจะสามารถพัฒนาแนวทางการผลิตแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์แพร่หลายมากขึ้น เสมือนเป็นการเติมหัวใจให้ระบบสุขภาพ
ศ.นพ.ดร.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวนำการเสวนา “HHC กับการเรียนรการสอนแพทยศาสตร์ศึกษาว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเห็นด้วยกับการ “ใส่หัวใจให้ระบบสุขภาพ” โดยใช้หลักสูตรการผลิตแพทย์เป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และมีการเน้นย้ำให้ในแต่ละปีมีลักษณะเป็น Spiral curriculum ทั้งนี้ในปี 2549 ได้ให้นิสิตแพทย์ปี 1 ไปโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน 1 สัปดาห์ เพื่อศึกษาสภาพความเป็นจริงของผู้ป่วยในแง่มุมต่าง ๆ แล้วให้ประเมินตนเองว่าบรรลุเป้าหมายข้อไหนบ้าง สิ่งที่คณะคาดหวังคือ นิสิตแพทย์เหล่านั้น “เข้าใจความเป็นมนุษย์” ซึ่งเป็น 2 ใน 7 ข้อ ของ Outcome-based curricule หรือเป้าหมายการผลิตแพทย์ที่มีคุณสมบัติพึงประสงค์ทั้งความรู้ความเชี่ยวชาญในการรักษาโรค ยังได้เน้นคุณสมบัติที่จะช่วยให้แพทย์ “เข้าใจความเป็นมนุษย์”ของคนไข้ยิ่งขึ้น นั่นคือ แพทย์ต้องสามารถใช้ทักษะเพื่อการสื่อสารอย่างได้ผล มีเจตคติที่ดีและปฏิบัติตนถูกต้องตามหลักเวชจริยศาสตร์และกฎหมาย และสามารถดำรงตนในฐานะแพทย์และสมาชิกในสังคมได้อย่างเหมาะสม
ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ก.สาธารณสุข กล่าวถึง แนวคิด HHC ในระบบการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ศึกษา ว่า ในอดีตนักศึกษาแพทย์ต้องคร่ำเคร่งกับการท่องตำรา จนอาจหลงลืมไปว่ายังมีมิติทางจิตใจและมิติทางสังคมของตัวผู้ป่วยเองหรือของญาติผู้ป่วย ทำให้การแพทย์เหมือนขาดหัวใจไปส่วนหนึ่งซึ่งสุขภาวะดีหรือสุขภาพดีเป็นศีลธรรมพื้นฐานของทุกคน เมื่อการแพทย์ถูกลดทอนลงไปจนเหลือเฉพาะมิติทางด้านเทคนิคการรักษาโรค เรียนเพื่อจะรักษาโรคเป็น แต่ไม่เคยรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเราเรียนแพทย์ไปทำไม บางคนมอง “แพทย์” เป็นเพียงอาชีพหนึ่ง
ปัจจุบันการแพทย์ทั้งระบบถูกทำให้กลายเป็นความรู้ทางเทคนิคไม่ได้แตกต่างกับการซ่อมเครื่องยนต์ ทั้งที่แต่เดิมการแพทย์คือศาสตร์ในการเยียวยามนุษย์เป็นอุดมการณ์อันหนึ่งเพื่อที่จะมีชีวิตที่ดีร่วมกันรวมทั้งมีความรู้สึกที่ดี สิ่งเหล่านี้สำคัญมากกว่าการรักษาเยียวยาให้คนหนึ่งคนหลุดพ้นจากความทุกข์ที่ได้รับจากความเจ็บป่วยทางกาย เป็นคำถามในระบบการแพทย์และระบบการศึกษาของแพทย์ว่าทำอย่างไรจะทำให้การแพทย์กลับมาเป็นอุดมการณ์ทางสังคมที่ดีได้ เพราะหากขาดมิติทางอุดมการณ์การแพทย์จะถูกลดทอนคุณค่าเหลือแค่ช่างเทคนิคการเย็บ การผ่าตัด การจ่ายยา เท่านั้น เมื่อแพทย์กลายเป็นเครื่องมือของระบบ การทำงานจึงกลายเป็นความทุกข์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทั้งในจิตใจและสังคม ที่สำคัญคือหมดศรัทธา
นพ.โกมาตร กล่าวว่า การผลักดันศีลธรรมพื้นฐานของการแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ต้องให้พัฒนาควบคู่กันไปทั้งเทคโนโลยีและอุดมการณ์ การทำให้สองสิ่งนี้เท่าเทียมกันอย่างได้ผล นั่นคือ ควรมองความเป็นมนุษย์ในมุมมองที่ว่าถ้าเราปฏิบัติต่อเขาให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และก้าวพ้นไปจากความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคง การมีอยู่มีกิน โดยมีชีวิตในทางอุดมคติ มีความใฝ่ฝันมีอุดมการณ์ และอยู่ในความเป็นจริง นั่นคือ 1)ให้ได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองอยากทุ่มเทให้ 2) มีโอกาสได้ทำ 3) ทำแล้วประสบความสำเร็จ 4) หากได้รับเงินทองชื่อเสียงตอบแทนด้วยก็เป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา จึงจะถือว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ทั้งนี้ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ การเรียนการสอนที่ “ใส่หัวใจความเป็นมนุษย์” ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้ทำกิจกรรมในการลงไปสัมผัสด้วยการดูแล พูดคุย ซักถาม ความคิด ความรู้สึกของผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทำให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่แพทย์คิดว่าดีแล้วสำหรับอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ การดูแลผู้ป่วยต้องอาศัยทักษะในการพูดคุย ซักถามอย่างห่วงใยและจริงใจ ไม่ใช่การทำเพราะ “หน้าที่” และได้เรียนรู้ว่า อาสาสมัครแบบสมัครใจแตกต่างจากภาคบังคับอย่างไร ได้ตระหนักว่าการจะเป็นแพทย์ที่ดีไม่ใช่เพียงรักษาโรคแต่ต้องคำนึงถึงภาวะจิตใจของผู้ป่วยด้วย ดังนั้น การเรียนการสอนแพทยศาสตร์ที่เน้นการให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้จากผู้ป่วยให้มากและรอบด้านอย่างเป็นองค์รวมทั้งทางกายและจิตใจ จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ต้องเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อสร้างแพทย์ที่เก่งและดีให้เพิ่มขึ้นในระบบบริการสุขภาพของสังคมไทย
นศพ.อนุวัตร พลาสนธิ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า การได้ร่วมกิจกรรมโครงการเพื่อนวันอาทิตย์ที่คณะฯจัดขึ้นโดยให้นักศึกษาแพทย์ตั้งแต่แรกเข้าศึกษาได้ไปสัมผัสผู้ป่วยด้วยการสร้างสัมพันธภาพที่ดี เช่น การพูดคุย ซักถาม ทำกิจกรรมที่ผู้ป่วยต้องการ ทำให้เห็นอีกมุมหนึ่งของผู้ป่วยว่านอกเหนือจากความเจ็บป่วยด้านร่างกายแล้ว มีสิ่งใดที่อยู่ภายในจิตใจ ทำให้เข้าใจว่าไม่ควรดูผู้ป่วยแค่เบื้องเท่านั้น แต่ควรมองไปที่เบื้องหลังด้วยว่าผู้ป่วยเป็นอย่างไร มีความลำบากมากแค่ไหน ที่ต้องมารอพบแพทย์ตั้งแต่เช้า เราควรใส่ใจปัญหาอื่นที่นอกเหนือจากความเจ็บป่วยด้วย ตนเองหลังจากเข้าโครงการ ก็ได้พัฒนาปรับตัวในเรื่องการรับฟังคนอื่นมากขึ้น ไม่เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ และพบว่าบางสิ่งที่เราคิดอาจจะไม่ถูกเสมอไป
นศพ.สิริกุล สุขทะเล คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ “อาสาสมัครข้างเตียงผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ว่า ได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยชาวสวิตเซอร์แลนด์รายหนึ่ง วันแรกที่ไปเยี่ยมพบว่าผู้ป่วยมีภาวะเครียดมากเนื่องจากสื่อสารกับใครไม่ได้ อีกทั้งยังอยู่ในช่วง 7 ชั่วโมงแรกหลังจากได้รับการผ่าตัด และอีกหลาย ๆ อย่าง ตอนแรกตั้งใจแค่ไปแนะนำตัว สุดท้ายพูดคุยกันประมาณ 3-4 ชั่วโมง วันต่อมาพยาบาลแจ้งให้ทราบว่าวันนั้นหลังจากที่ผู้ป่วยได้พูดคุยกับ นศพ.แล้วดูเขามีความสุขมาก ไม่เครียด ทำให้ตัวเองรู้สึกดีเช่นกัน หลังจากไปเยี่ยมอีกหลายครั้ง พูดคุยกันมากขึ้น ทราบว่าภรรยาผู้ป่วยก็เครียดเช่นกัน จากที่เคยอ่านหนังสืออยู่ห่าง ๆ ก็ขยับมานั่งคุยด้วย ทำให้บรรยากาศคลายความตึงเครียด ต่อมาผู้ป่วยเปรยให้ฟังว่า ไม่กังวลเรื่องมะเร็งแล้ว แต่อยากกินข้าว ทำกับข้าว ไปเที่ยว ฯลฯ วันที่ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารทางปาก เป็นวันที่ ตัวเองได้เรียนรู้ว่า “ความสุขอยู่ใกล้ ๆ หาได้ไม่ยาก”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ