ความเห็นเรื่อง ต่อ ร่าง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ...

ข่าวทั่วไป Tuesday February 13, 2007 10:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
ความเห็นเรื่อง ต่อ ร่าง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ...ในการรับฟังความเห็นที่ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกต กรุงเทพ 12 กุมภาพันธ์ 2550
1. ขอบเขต พ.ร.บ.
ร่าง พ.ร.บ. ครอบคลุมเฉพาะไฟฟ้า และก๊าซ เฉพาะส่วนการจัดหา ขนส่งและจำหน่าย
ต้องขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึง
(1) การกำกับดูแลราคา และการแข่งขันในธุรกิจน้ำมัน (ทั้งธุรกิจการกลั่น และค้าปลีก) เพราะปัจจุบันมีช่องโหว่กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า ไม่สามารถนำมาใช้กับรัฐวิสาหกิจ (ปตท.และบริษัทในเครือที่ครองสัดส่วนตลาดการกลั่นน้ำมันในสัดส่วนร้อยละ 86 ถือเป็นรัฐวิสาหกิจทั้ง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรสูงสุด) และการกำกับราคาโดยรัฐที่ผ่านมาไม่ชัดเจน ไม่มีประสิทธิภาพ และมีผลประโยชน์ทับซ้อน การเมืองสามารถแทรกแซงและหาประโยชน์ได้
(2) การกำกับดูแลราคาและการให้สัมปทานการผลิตและขุดเจาะก๊าซ (รวมถึงปิโตรเลียม และผลพลอยได้อื่น ๆ ) เพราะต้นทุนส่วนราคาก๊าซปากหลุมถือเป็นต้นทุนส่วนที่สำคัญที่สุดของค่าไฟฟ้า (ประมาณร้อยละ 40 ของค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน) แต่กลับไม่มีการกำกับดูแลที่แยกชัดเจนจากการกำหนดนโยบาย (อำนาจฝ่ายบริหาร) อีกทั้งไม่มีข้อกำหนดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่เพียงพอ ทำให้ที่ผ่านมาธุรกิจนี้ขาดความโปร่งใส ขาดการตรวจสอบ ผู้บริโภคและประเทศชาติเสียประโยชน์ ในขณะที่บริษัทในธุรกิจนี้มีกำไรมหาศาล อีกทั้งยังไม่ให้มีการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอ
2. หลักการ เหตุผล และเนื้อหาทั่วไป ยังขาดการให้ความสำคัญในเรื่อง
การกระจายศูนย์ระบบพลังงาน และอำนาจการจัดการ
ระบบวางแผนที่พิจารณาปัจจัยและทางเลือกอย่างรอบด้าน เพื่อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน
กลไกการตรวจสอบนโยบาย เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ
โครงสร้างที่เหมาะสมของกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ
ต้อง :
- ขยายความในมาตรา 8 แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
- ควรมีการจัดตั้งสถาบันอิสระ (องค์การมหาชน) เพื่อเสนอแนะ และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับดูแล ให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ
- แก้ไขหมวด เรื่องการใช้อสังหาริมทรัพย์ โดยอ้างอิงเนื้อหาตามร่างของสภาที่ปรึกษา และร่าง พ.ร.บ. ปี 2543 ให้มากที่สุด เพราะร่างดังกล่าวยึดหลักการเจรจาตกลงก่อน หากไม่สามารถตกลงได้จึงค่อยใช้อำนาจรัฐบังคับ รวมทั้งยังมีการจำกัดการรบกวนสิทธิเท่าที่จำเป็นด้วย
3. การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กพช. และคณะกรรมการกำกับดูแล
- ร่าง พ.ร.บ. ปัจจุบันกำหนดเฉพาะอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี และคณะกรรมการกำกับดูแล เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับไฟฟ้า และก๊าซต้อง : มีการกำหนดแบ่งอำนาจหน้าที่ระหว่าง กพช. และรัฐมนตรีให้ชัดเจนด้วย และระบุให้ กพช. มีอำนาจต้องปฏิบัติตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐด้วย
4. ที่มาของคณะกรรมกากำกับดูแลกิจการพลังงาน
ตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับสภาที่ปรึกษาฯนั้น รายชื่อคณะกรรมการกำกับดูแลที่ได้รับการคัดเลือก จะผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ และแต่งตั้งโดยวุฒิสภา เมื่อเทียบกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบันของกระทรวงพลังงาน การคัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอชื่อต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งอาจถูกแทรกแซงจากทางเมืองได้ จึงทำให้คณะกรรมการกำกับดูแลตามแนวทางตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับสภาที่ปรึกษาฯ มีความอิสระมากกว่า
ต้อง :
(1) กระบวนการสรรหา : คณะกรรมการสรรหาควรที่จะตัดผู้แทนกระทรวงการคลังออก และเพิ่มผู้แทนภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร จำนวน 2 คน โดยมี
- ผู้แทนภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีวัตถุประสงค์และผลงานประจักษ์ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
- ผู้แทนภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีวัตถุประสงค์และผลงานประจักษ์ในด้านสิ่งแวดล้อมหรือการพัฒนาชุมชน
(2) การแต่งตั้ง : ให้คณะกรรมการสรรหา เสนอรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาจำนวน 2 เท่าของ
จำนวนคณะกรรมการ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรีคัดเลือกให้เหลือครึ่งหนึ่ง และเสนอให้วุฒิสภาตรวจสอบ และอนุมัติรายชื่อแบบยกชุด
5. กระบวนการอุทธรณ์
ในร่างปัจจุบัน การอุทธรณ์จะสามารถกระทำได้กับคณะกรรมการกำกับดูแลเท่านั้น และคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุด จึงทำให้ไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้ในเนื้อหา ทำให้ระบบการรับผิดต่อสาธารณะ (Accountability) ยังไม่ดีนัก
ควรต้อง : นำรูปแบบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยการอุทธรณ์ โดยต้องมีการให้เหตุผลประกอบเป็นรายบุคคล รวมทั้งต้องมีการลงคะแนนเสียงมากกว่า 3 ใน 4
6. บทเฉพาะกาล
ร่างปัจจุบัน ได้กำหนดให้มีการใช้บังคับกฎหมายทันที หลังการประกาศกฎหมายในราชกิจจานุเบกษา โดยให้ กพช. ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ผอ.สนพ. ปฏิบัติหน้าที่ของ ผอ. และสนพ. ปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน จนกว่ามีการแต่งตั้ง
ต้อง : มีสำนักงานเป็นของตัวเองตั้งแต่ต้น คือมีสำนักงานที่เป็นอิสระ ไม่ใช่ใช่สำนักงานเดิมของหน่วยงานราชการ
ไม่จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแล ซ้ำรอยประสบการณ์ขององค์กรอิสระที่ผ่านมา โดยมีการจัดตั้งสำนักงาน การคัดเลือกบุคลากร การกำหนดระบบระเบียบการทำงานของสำนักงาน ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเสร็จ ผลก็คือ สำนักงานถูกระบบข้าราชการครอบงำ ขาดความอิสระและความคล่องตัว หรือไม่ก็เป็นช่องทางในการถ่ายโอนข้าราชการบางส่วนในกระทรวงพลังงาน เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรหรือการเมืองในระบบราชการปัจจุบัน ทำให้คณะกรรมการมีข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการบริหารและปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย
โดยในเบื้องต้น :
ให้กฎหมายมีผลใช้บังคับ ก็ต่อเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแล้วเสร็จ โดยในระหว่างนี้ (จำกัดระยะเวลา 120 วัน) ให้ สนพ. ช่วยสนับสนุนงานธรุการแก่คณะกรรมการสรรหาเท่านั้น แต่ไม่ใช่เข้ามาเป็นสำนักงานให้คณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้เ ตามพรบ.นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ