ตามไปดูนักวิทย์น้อยโชว์ผลงานดี ๆ ปีละครั้ง ในงานประชุมวิชาการ พสวท. ครั้งที่ 21

ข่าวเทคโนโลยี Thursday January 25, 2007 12:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--สสวท.
เด็กไทยทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็กต่างก็ทยอยโชว์ผลงานในสาขาวิชาต่าง ๆ กันอย่างไม่ขาดสาย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพวกเขาที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้น
วันนี้จะพาตามไปดูงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับมัธยมศึกษา ของนักเรียนในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ครั้งที่ 21 ปีการศึกษา 2549 ซึ่งเพิ่งจัดไปเมื่อต้นเดือนมกราคม 2550 ณ โรงเรียนศรีบุณยานนท์ และโรงแรมนนทบุรีพาเลซ จังหวัดนนทบุรี โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับโรงเรียนศรีบุณยานนท์เป็นเจ้าภาพจัดงาน
การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ตรงทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีจากการฟังบรรยายและเสวนาแลกเปลี่ยนกับผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อปลูกฝังเจตคติที่ดีต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมบุคลิกภาพและจรรยาบรรณของนักวิทยาศาสตร์ ให้เข้าใจถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศชาติ เสริมสร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการฝึกทักษะการนำเสนอผลงาน รวมทั้งให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักเรียน ได้ศึกษาความแตกต่างในแต่ละท้องถิ่น
งานนี้ มีวัยโจ๋ชั้นม. 6 จากโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เป็นศูนย์ พสวท. 7 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนศรีบุณยานนท์ โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในพระอุปถัมภ์ และโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย เพราะการเป็นนักเรียนทุน พสวท. นั้นต้องทำโครงงานวิทยาศาสตร์และฝึกการวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ด้วย เมื่ออยู่ ชั้น ม. 6 ก็ถึงเวลาที่จะต้องนำผลงานมาจัดแสดงกัน
เมื่อไปเยี่ยม ๆ มอง ๆ ผลงานของเด็ก ๆ เหล่านี้แล้ว ก็ต้องยกนิ้วให้เลย อาทิ นางสาว ทัชมาพรรณ ยศกำธร โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย ได้คิดค้นสารฟอกธรรมชาติในการฟอกกระดาษจากเปลือกก้านบัว เพื่อลดการใช้สารเคมี โดยพบว่า สารฟอกจากธรรมชาติที่เหมาะสมก็คือ สารละลายน้ำขี้เถ้าของผักโหมหนามแห้งที่มีค่า pH11 ทำให้กระดาษมีความละเอียดสูงและเกาะตัวกันดี
นายปัญจรักษ์ กันทะวิน โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ฯ ศึกษาสารธรรมชาติจากแครอทต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ยับยั้งสิวหนอง ซึ่งผลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่าสารสกัดแครอทจากเอธิลแอลกอฮออล์ 100 % และสารสกัดแครอทจากน้ำกลั่นสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อดังกล่าวได้
ส่วนนางสาวเพียงรวี ทองนุ่น โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ศึกษาโครงสร้าง ความสามารถในการดูดซับน้ำ และการเกาะตัวกับน้ำมันของเมล็ดสำรอง พืชเศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่นิยมบริโภค พบว่า เมล็ดสำรองสามารถดูดน้ำได้ถึง 26 เท่าของมวลสำรองแห้ง โดยส่วนของเนื้อวุ้นมีความสามารถดูดซับน้ำมากที่สุด ความสามารถในการเกาะตัวกับน้ำมันพบว่าน้ำมันหมูจะดีที่สุด รองลงมาคือน้ำมันงา
นายจิรายุทธ ศรีสกุลกานต์ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ใช้ความรู้ทางฟิสิกส์ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพของหัวหยดน้ำ เพื่อนำผลการทดลองที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบหัวหยดน้ำให้มีประสิทธิภาพตามที่ต้องการ โดยพบว่า เมื่อขนาดของมุมที่หัวหยดน้ำกระทำกับแนวระดับเพิ่มขึ้น จะทำให้ปริมาตรของหยดน้ำลดลง แต่เมื่อขนาดมุมเอียงของหน้าตัดที่ปลายหัวหยดน้ำเพิ่มขึ้น จะทำให้ปริมาตรของหยดน้ำเพิ่มขึ้น ในขณะที่เมื่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของหัวหยดน้ำเพิ่มขึ้น จะทำให้ปริมาตรของหยดน้ำเพิ่มขึ้น
และนางสาววัชนิตา อุดมศักดิ์สกุล โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ใช้คณิตศาสตร์หาสมการการตกของลูกยางพันธุ์ Dipterocarpus costatus ในสภาวะที่ไม่มีกระแสลม โดยใช้ความรู้เกี่ยวกับ Space Curve ในเวกเตอร์สามมิติเข้ามาช่วย โดย Space Curve ที่สนใจ คือ Cirlular Helix เพราะมีลักษณะหมุนวนคล้ายวิถีการหมุนของปีกลูกยาง ซึ่งมีสมการรูปทั่วไปอยู่ในรูปของ x=rcos(bt) y=rsin(bt) z=at เป็นการวิจัยพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ซึ่งมุ่งถอดสมการไขความลับของธรรมชาติ
นอกจากการนำเสนอผลงานของนักเรียนแล้ว เด็ก ๆ ยังได้ฟังการบรรยายพิเศษ “การผลิตแก๊สชีวภาพจากขยะอินทรีย์” นำชมและสาธิตการใช้งานถังหมักแก๊สชีวภาพ โดย นางวิภา แก้ววิทยาการ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ บริษัท เอสทีเอฟอี จำกัด รวมทั้งได้ศึกษาธรรมชาติ สภาพภูมิศาสตร์ความเป็นอยู่ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและเกาะเกร็ด และที่สำคัญในงานนี้เด็ก ๆ จากทุกศูนย์ยังได้จัดเตรียมการแสดง เพื่อมาประกวดประชันกันในงานเลี้ยงสังสรรค์สายสัมพันธ์น้องพี่ พสวท. อีกด้วย
โครงการ พสวท. เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เพื่อผลิตนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาวิชาที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการเร่งด่วนของประเทศ โดยให้ทุนศึกษาต่อตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา จนถึงปริญญาเอกและส่งเสริมการทำวิจัยหลังปริญญาเอก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นผลผลิตจากจากโครงการ พสวท. ทยอยเดินเข้ารับรางวัล
ผลงานวิจัยดีเด่นอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานต่างๆ
เด็ก ๆ ที่มาร่วมงานนี้ ต่างก็เป็นความหวังของ สสวท. ที่มุ่งให้พวกเขาเติบโตเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีและมีคุณภาพในอนาคต
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ