กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--iTAP
บจก.ศิริวานิชฯ ยกระดับกระบวนการผลิต พัฒนา “โรงเรือนกรีนเฮ้าท์ไฮบริด” ผลิตกล้วยตากได้มาตรฐานปราศจากสารเคมีภายใต้แบรนด์ไท-ไท ช่วยลดระยะเวลาในการผลิตให้สั้นลง และเพิ่มกำลังการผลิตจาก 30,000 กก.เป็น 60,000 กก.กล้วยสดต่อเดือนรองรับความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ iTAP สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ
เมื่อเอ่ยถึง“กล้วยตาก”เรามักจะนึกถึงกล้วยตากบางกระทุ่มสินค้าโอทอปและของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดพิษณุโลกที่ชาวบ้านผลิตกันมานานเกือบ100 ปี แม้ปัจจุบันในกระบวนการผลิตกล้วยตากส่วนใหญ่ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการอบกล้วยตากเพื่อให้ถูกสุขลักษณะอนามัย ปราศจากสารเคมีและมีคุณภาพมากขึ้น
ล่าสุด ได้มีการนำ “เทคโนโลยีไฮบริด” มาใช้ในการอบกล้วยตากเป็นรายแรกของไทย โดยบริษัท ศิริวานิช (เอส แอนด์ ดับเบิ้ลยู)จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกล้วยตาก กล้วยม้วนนิ่ม กล้วยอบกรอบ ภายใต้แบรนด์ไท-ไท(TAI TAI) และไซรัปกล้วยตรานาส์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ภายใต้การสนับสนุนของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)เครือข่ายภาคเหนือ
นายศิริ วนสุวานิช กรรมการผู้จัดการ บจก.ศิริวานิช (เอส แอนด์ ดับเบิ้ลยู) เปิดเผยว่า บริษัทฯก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ผลิตข้าวโพดอบกรอบก่อนหันมาผลิตกล้วยตากตั้งแต่ปี 2545 มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนแนวคิดการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้นั้น เนื่องจากการผลิตกล้วยตากขึ้นอยู่กับแสงแดดเป็นหลักซึ่งในแต่ละวันไม่แน่นอน รวมถึงปัญหาของฝนและสิ่งปนเปื้อน แม้ปัจจุบันจะมีการพัฒนาโรงเรือนอบกล้วยตากด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น แต่บริษัทเห็นว่ายังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการตามคำสั่งซื้อที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก และเสียดายความร้อนในช่วงกลางวันจึงต้องการเก็บความร้อนที่ได้ นำไปใช้อบกล้วยตากในช่วงเวลากลางคืน
“ บริษัทฯ จึงได้ต่อยอดจากรูปแบบเดิมที่นำพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์มาใช้อบกล้วยตากเพียงแหล่งเดียวมาเป็นการใช้พลังงานความร้อนจาก 2 แหล่ง คือ ความร้อนจากแสงอาทิตย์สำหรับอบกล้วยตากในเวลากลางวัน และความร้อนจากพื้นนำมาเก็บสะสมไว้ในแท็งค์สแตนเลส (ขนาด1,500 ลิตร จำนวน 2 ถัง )ในรูปแบบของน้ำร้อนก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ สำหรับการอบกล้วยตากในเวลากลางคืน เพื่อรองรับกำลังการผลิตในปริมาณมากๆ ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เพียงพอต่อคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์กล้วยตากไท-ไท ได้รับความนิยมมากขึ้นจากผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มผู้รักษ์สุขภาพ ดังนั้น การใช้พลังงานความร้อนจาก 2 แหล่งภายในโรงเรือนเดียวกัน จะทำให้สามารถอบกล้วยตากได้อย่างต่อเนื่องทั้งกลางวัน และกลางคืน ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการผลิตให้สั้นลง และยังช่วยประหยัดต้นทุน เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลกอีกด้วย ”
การพัฒนาดังกล่าว บริษัทฯได้รับการสนับสนุนจาก โครงการ iTAPเครือข่าย สวทช.ภาคเหนือ โดยได้จัดส่ง ดร.อัครพันธ์ วงศ์กังแห อาจารย์จากสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญภายใต้ชื่อโครงการ “การออกแบบและสร้างโรงเรือนกรีนเฮ้าส์ไฮบริด เพื่อการผลิตกล้วยตากโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ (Solar Hybrid Green House for Dried Banana Production)” โดยโรงเรือนดังกล่าวมีขนาด 9 x 22 x 3.75 เมตร รวมพื้นที่ประมาณ 190 ตารางเมตร
นายศิริ กล่าวว่า “ หัวใจสำคัญที่สุดของการพัฒนากรีนเฮ้าส์ไฮบริดนี้ คือ “ชุดควบคุม หรือ ระบบควบคุมแบบป้อนกลับ(อัตโนมัติ)” ที่ผู้เชี่ยวชาญได้พัฒนาโปรแกรมควบคุมขึ้นใหม่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานในโรงเรือนให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอบแห้งที่ต้องการมากที่สุดภายใต้ 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย อุณหภูมิ (ในระดับที่สามารถควบคุมได้)ความชื้นสัมพันธ์ และความเร็วลม ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อกระบวนการผลิตกล้วยตาก (ผลลัพธ์ที่ได้จะแตกต่างจากการตากด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว) ทำให้สามารถอบกล้วยตากได้ตลอด 24 ชม.ทั้งกลางวันและกลางคืน หรือ วันที่มีแสงแดด และวันที่ไม่มีแสงแดด ระบบจะทำหน้าที่สั่งการทำงานเองทั้งหมด โดยไม่ต้องมีพนักงานคอยควบคุมเป็นแห่งเดียวของไทย
แม้ว่าขณะนี้โรงเรือนกรีนเฮ้าส์ไฮบริดที่พัฒนาขึ้นยังใช้งานได้ไม่เต็มที่100% เหลือเพียงการติดตั้งท่อพีอีที่เป็นอุปกรณ์ในการเชื่อมต่อการกักเก็บความร้อนจากพื้นเข้าไปสะสมไว้ในแท็งค์เก็บน้ำร้อนเท่านั้น แต่ผลการทดลองเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการกับท่อพีวีซีแล้ว มั่นใจว่าหลังติดตั้งท่อพีอีแล้วเสร็จ คาดว่า ภายในเดือนมกราคม 2554 เมื่อเริ่มเปิดใช้ระบบไฮบริดอย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้บริษัทมีกำลังการเพิ่มขึ้น จาก 30,000 กก.กล้วยสด เป็น 50,000 - 60,000 กก.กล้วยสด/เดือน และมีรอบการผลิตเร็วขึ้นจากเดิมการตากกล้วย 4 แดดเหลือเพียง 3 แดดเท่านั้น
อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้ก๊าซหุงต้ม(LPG)ในการอบกล้วยตากที่บริษัทในอดีตมีความจำเป็นต้องนำมาใช้ในกรณีที่ไม่มีแสงแดดหรือวันฝนตก ขณะนั้นบริษัทต้องสิ้นเปลื้องไปกับค่าก๊าซLPG เดือนละ 40,000 - 50,000 บาท แต่ปัจจุบันบริษัทประหยัดค่าก๊าซดังกล่าวลงได้ แม้จะยังมีการนำมาใช้อบกรณีที่กล้วยตากยังมีความชื้นสูงเกินกว่าค่าที่กำหนดไว้บ้างเป็นบ้างครั้ง ภายในตู้อบเพื่อลดความชื้นลงเท่านั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทแล้วยังตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้จริง นี่..คือสิ่งที่ได้ iTAP ช่วย ”
นอกจากการพัฒนาโรงเรือนกรีนเฮ้าส์ไฮบริดดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมกับ iTAP ในการพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 โดยเริ่มจากโครงการออกแบบและพัฒนาเครื่องต้นแบบการทำแผ่นกล้วยม้วน(เฟส1) มี ดร.ภาสวรรธน์ วาวแวว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่เชียงใหม่ เป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผลจากการพัฒนาในเฟส 1 เตรียมขยายสู่เฟส 2 ในปี2554
นอกจากนี้ในปี 2552 บริษัทได้เข้ารับการช่วยเหลือเพิ่มอีก 2 โครงการ คือ โครงการการออกแบบและสร้างโรงเรือนกรีนเฮ้าส์ไฮบริด เพื่อการผลิตกล้วยตากโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการออกแบบและสร้างห้องเย็นเก็บกล้วยตากก่อนบรรจุภัณฑ์ตามลำดับ
โดยโครงการที่ 3 มี ผศ.ดร.ชูรัตน์ ธารารักษ์ อาจารย์จากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่เชียงใหม่ เข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบและพัฒนาห้องเย็นฯ ที่มีขนาด 4.8 x 7.3 x 3 เมตร บรรจุได้สูงสุดถึง 200 ตัน
นายศิริ กล่าวว่า วัตถุประสงค์การพัฒนาห้องเย็นดังกล่าว เพราะกล้วยซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกล้วยตากโดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องใส้ขาวเริ่มมีแนวโน้มขาดแคลน เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและภาวะน้ำท่วมที่ผ่านมา การพัฒนาห้องเย็นขึ้นจะช่วยรองรับสต๊อกสินค้าได้ปริมาณมาก โดยกล้วยที่ผ่านการแปรรูปเบื้องต้นแล้วจะนำมาเก็บรักษาไว้ภายในห้องเย็นเพื่อรองการบรรจุภัณฑ์ต่อไป ทำให้บริษัทไม่ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนกล้วย และยังรองรับการซื้อกล้วยสดจากเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสมาชิกเกษตรกรในเครือข่าย 8 ราย รวมพื้นที่ปลูกกว่า 250 ไร่ จาก 6 อำเภอรอบพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ทั้งอ.เมือง อ.วังทอง อ.นครไทย อ.ชาติตระการ อ.บางกระทุ่ม และ อ.บางระกำ ซึ่งการพัฒนาห้องเย็นดังกล่าว จำเป็นต้องที่มีการออกแบบและวางระบบเครื่องเย็น รวมทั้งระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการผลิตภัณฑ์กล้วยตากโดยเฉพาะขึ้น
“ความเป็นเอสเอ็มอีจะต้องสร้างความแตกต่างจากเดิมที่ทำกันอยู่ จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทุกคนให้การยอมรับ แต่เพื่อให้การผลิตกล้วยตากแต่ละครั้งได้คุณภาพสม่ำเสมอทั้งสี รสชาติ ความหวาน ความฉ่ำและความหนืด(Texture)ของเนื้อกล้วย จึงจำเป็นต้องนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารมาประยุกต์ใช้ ฉะนั้น บุคลากรจึงจำเป็นต้องมีทักษะเรียนรู้วิธีการในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆในการวัดค่าความชื้นค่าความหวาน รวมทั้งเรียนรู้ระบบการตรวจสอบคุณภาพเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งของบริษัทที่เน้นความเป็นภาคการผลิตอย่างมืออาชีพ
ในส่วนของกลยุทธ์ทางการตลาดนั้น บริษัทฯ มองตลาดอื่นไม่ใช่ตลาดในพื้นที่ แต่จะเน้นตลาดเฉพาะ หรือ Niche markets จนถึงตลาดต่างประเทศ เพราะทัศนคติของบริษัทมองว่า ผู้ประกอบการร่วมอาชีพในพื้นที่นั้น ไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นต่างประเทศ”
ผลิตภัณฑ์กล้วยตากตราไท-ไท ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย GMP(จากสำนักงานสาธารณสุขพิษณุโลก)ในปี 2549 เป็นผู้ประกอบการกล้วยตากรายแรกของจังหวัดพิษณุโลก ล่าสุด ในปี 2553 บริษัทฯ ผ่านการตรวจประเมินและรับรองการผลิตอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสากล GMP/ HACCP Codex โดยสถาบัน SGS ผลิตภัณฑ์ตราไท-ไท มีวางจำหน่ายทั้งในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ สยามพารากอน เดอะมอลล์ เทสโก้โลตัส ฟู้ดแลนด์ ท๊อปซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายของฝากทั่วประเทศ รวมถึงการจัดหน่ายผ่านตัวแทนส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
จากความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการพัฒนากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์จากกล้วยตราไท-ไท อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มียอดขายเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1 ล้านบาท ( ปี49 มีผลประกอบการอยู่ที่ 7 ล้านบาท ) คาดว่า ภายในสิ้นปี 2553 นี้จะมียอดขายเพิ่มขึ้นได้ถึง 12 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการ กล่าวอีกว่า โครงการ iTAP เป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กได้จริง ช่วยเชื่อมระหว่างองค์ความรู้และผู้ประกอบการ หากไม่มี iTAP คงไม่รู้จักกับผู้เชี่ยวชาญเก่งๆ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาในเชิงวิชาการให้กับบริษัท เช่นการที่ได้มีโอกาสส่งผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ หากไม่ได้หน่วยงานภาครัฐอย่างiTAPเข้ามาช่วยสนับสนุนหรือเห็นความสำคัญด้านการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้วบริษัทก็ไม่สามารถรับออร์เดอร์ได้ การช่วยเหลือดังกล่าวทำให้เอสเอ็มอีไม่หลงทางและมุ่งสู่ความฝันได้เร็วขึ้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรต้องปรับตัวและเปิดใจกว้างทั้งการรับองค์ความรู้ต่างๆ และเปิดกว้างที่จะถ่ายทอดความรู้นั้นออกไป เพื่อให้ประเทศไทยไม่ด้อยไปกว่าประเทศใด โดยในอนาคตทางบริษัทฯ จะเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานการทำกล้วยตากพิษณุโลกให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ามาเรียนรู้กระบวนการผลิต ระบบการบริหารจัดการ รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยมากขึ้นด้วย
ผู้สนใจผลิตภัณฑ์กล้วยตาก ตราไท-ไท ติดต่อได้ที่ บจก.ศิริวานิช (เอส แอนด์ ดับเบิ้ล ยู) เลขที่ 109/2 หมู่ที่ 3 ต.สมอแข อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000 โทร.055-268-038 แฟ็กซ์ 055-223-752 หรือที่ เว็บไซต์ www.banana-tai-tai.com สำหรับผู้สนใจเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP สามารถติดต่อได้ที่ (ส่วนกลาง) โทร. 02-564-7000 ต่อ โครงการ iTAP หรือ สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ โทร. 054-226-264 แฟ็กซ์ 057-226-265