กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สศอ.เปิดแผนพัฒนา ปี 2554 ทุ่ม 577 ล้านบาท เน้นสร้างฐานข้อมูลเชิงลึกเตรียมรับมือ AEC หนุนเพิ่ม Productivity ต่อยอดภูมิปัญญาสร้างมูลค่า เดินหน้าพัฒนาอุตฯรายสาขาเสริมขีดความสามารถการแข่งขัน
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2554 (ต.ค.2553-ก.ย.2554) สศอ.ได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 577,141,500 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่ได้รับปีนี้ สศอ.มุ่งพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยให้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยแยกเป็น 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.เร่งสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลเชิงลึก (Industrial Intelligence)ในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 2.บริหารและกำกับการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาและ 3. เดินหน้าศึกษาเพื่อชี้นำและผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา
1.สร้างและพัฒนาฐานข้อมูลเชิงลึกในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์
นางสุทธินีย์ กล่าวว่า การพัฒนาฐานข้อมูลเชิงลึกเพื่อการวิเคราะห์และเตือนภัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในภาพรวมและรายสาขาอุตสาหกรรม ใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายของภาครัฐและเชิงธุรกิจสำหรับภาคเอกชน โดยดำเนินการใน 8 สาขา คือ อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอฯ ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและโลหะการ เครื่องจักรกล พลาสติก และอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ซึ่ง สศอ.จะร่วมดำเนินการกับสถาบันเฉพาะทางต่างๆของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการ ภาครัฐ และผู้สนใจลงทุนได้มีข้อมูลเชิงลึกเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ในปี 2554 สศอ.จะมุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาฐานข้อมูลเตือนภัยภาคอุตสาหกรรมภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่จะมีผลบังคับวันที่ 1 มกราคม 2558 เพื่อสร้างความพร้อมในทุกมิติ สามารถชี้นำเตือนภัยภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแม่นยำสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน สศอ.จะได้นำระบบเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม (Early Warning System of Industrial Economics EWS-IE) ออกเผยแพร่ ระบบ EWS-IE นี้เป็นแบบจำลอง (Model) ในลักษณะเทอร์โมมิเตอร์หรือกราฟสี ที่จะสามารถชี้นำภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประมาณ 2 เดือน โดยแถบสีเขียว หมายถึงภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอยู่ในเกณฑ์ปกติ หากแถบสีเป็นสีแดง ซึ่งหมายถึงภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ผิดปกติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถมองเห็นทิศทางการเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ชัดเจน เพื่อเตรียมการรองรับได้อย่างถูกต้องต่อไป
2.บริหารและกำกับการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา
นางสุทธินีย์ กล่าวว่า ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพภาคอุตสาหกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ.2554 มีโครงการได้รับจัดสรรงบประมาณ ทั้งสิ้น 38 โครงการ วงเงิน 274.2 ล้านบาท ซึ่ง สศอ.ดำเนินการร่วมกับสถาบันเฉพาะทางภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บท Productivity ใน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยกระดับความสามารถทักษะแรงงาน (Human Skill) ยกระดับความสามารถด้านบริหารจัดการ (Management) ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร พัฒนาระบบ Logistics ภายในกลุ่มอุตสาหกรรม และสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจและ Supply Chain ซึ่งการเพิ่ม Productivity จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก เนื่องจากสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป หากไม่สามารถปรับตัวย่อมทำให้เสียโอกาสในการแข่งขัน
ขณะที่ การดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ปีงบประมาณ 2554 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติผ่าน สศอ. จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 47 ล้านบาท โดยอุดหนุนการดำเนินการให้กับสถาบันเฉพาะทางภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาของรัฐ ครอบคลุมหลายสาขาได้แก่ ไฟฟ้า เหล็ก สิ่งทอ เคมี พลาสติก เซรามิก ที่เน้นการสร้างความเชื่อมโยงการพัฒนาในลักษณะ 3 เส้า ระหว่างแหล่งความรู้ ผู้รับประโยชน์จากแหล่งความรู้ และผู้สนับสนุนผลักดัน ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคการผลิต สร้างความเข้มแข็งด้านประสิทธิภาพการผลิต และสร้างคุณค่าให้กับสินค้าต่อไป
3.เดินหน้าศึกษาเพื่อชี้นำและผลักดันพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นางสุทธินีย์ กล่าวว่า สำหรับการชี้แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา สศอ.ได้มุ่งเน้นในการผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนภายใต้กระแสเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงภาพรวมที่ชัดเจน และแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนของภาคส่วนต่างๆ โดยโครงการศึกษาเพื่อชี้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ในปีงบประมาณ 2554 ที่สำคัญ ได้แก่ การติดตามผลกระทบและแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมเหล็กภายใต้ AEC การจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหหกรรมปิโตรเคมี การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมแฟชั่น การศึกษากลยุทธ์การจัดทำและพัฒนาสินค้าสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบการค้าระหว่างประเทศ และการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมชายแดน เป็นต้น เชื่อมั่นว่าการดำเนินการเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว และช่วยเป็นฐานสนับสนุนให้อุตสาหกรรมชาติแข็งแกร่งตั้งแต่ฐานราก ช่วยชาติให้มั่นคงต่อไป