กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--สกว.
นักวิจัย มช. ชี้อากาศเชียงใหม่-ลำพูน “วิกฤต” ระดับอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กสูงเกินมาตรฐาน เผย พบ “สารพีเอเอช” ชนิดก่อมะเร็งสูง ซึ่งสัมพันธ์กับสถิติการป่วยโรคมะเร็งปอดและโรคภูมิแพ้ของคนเชียงใหม่-ลำพูน สูงเกินค่าเฉลี่ยของประเทศ ระบุแหล่งกำเนิดสำคัญมาจาก “การเผา” วอนทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ปัญหาที่ต้นตอ
ผศ.ดร.มงคล รายะนาคร คณะบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ผลจากการศึกษาวิจัยของชุดโครงการสถานการณ์ปัญหาคุณภาพอากาศและพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามลพิษอากาศของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน โดยคณะวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-2549 ชี้ชัดว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศในช่วงฤดูแล้งของทั้ง 2 จังหวัดนับว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ เนื่องจากมีระดับอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นสารมลพิษปนเปื้อนอยู่ในอากาศสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานประมาณ 2 เท่า และพบว่าสารมลพิษเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหอบ หืด รวมทั้งโรคมะเร็งปอด อีกทั้งส่งผลให้อาการของผู้ป่วยกำเริบ และรุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญคือพบสารพีเอชเอ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่รุนแรงในอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กสูงถึง 74.2% การวิจัยครั้งนี้ได้มีการสำรวจปริมาณฝุ่นในอากาศภายในจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน โดยการเก็บตัวอย่างจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าในหน้าแล้งระดับอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก 10 ไม่ครอน (พีเอ็ม10) และ 2.5 ไมครอน ( พีเอ็ม 2.5) ปนเปื้อนอยู่ในอากาศสูงเกินค่ามาตรฐาน ประมาณ 2 เท่า โดยระดับอนุภาคฝุ่นละอองขนาด พีเอ็ม 10 ที่ตรวจพบในฤดูแล้งอยู่ระหว่าง 140-277 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ค่ามาตรฐานกำหนดไว้ 120 ไมโครกรัมลูกบาศก์เมตร และอนุภาคฝุ่นขนาด พีเอ็ม 2.5 ในฤดูแล้งมีค่าระหว่าง 47-67 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน แต่หากเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของสหรัฐที่กำหนดไว้ 35 ไมโครกรัมลูกบาศก์เมตร จะพบว่าบางช่วงมีค่าสูงเกินมาตรฐานเกือบ 2 เท่าเช่นกัน อนุภาคฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่สูดหายใจเข้าไปอย่างมาก เนื่องจากอนุภาคฝุ่นขนาด 10 PM เข้าไปอยู่ในทางเดินหายใจถึงบริเวณกล่องเสียง อนุภาคขนาด PM 2.5 สามารถผ่านเข้าไปลึกถึงถุงลมปอด และไม่สามารถขับออกจากร่างกายได้ ไม่เพียงเท่านั้น อนุภาคฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้สามารถนำสารมลพิษอื่นๆ อาทิ สารประกอบโลหะ เกลือกรด สารมลพิษอินทรีย์ สารมลพิษชีวภาพ เข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจของคนได้อีกด้วย ซึ่งสารเหล่านี้บางชนิดจะถูกละลายรวมกับเยื่อเมือกของเนื้อเยื่อของระบบทางเดินหายใจ หรือเยื่อเมือกของถุงลมปอดแล้วผ่านเข้าไปสู่ระบบไหลเวียนโลหิต ก่อให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆ ได้ อีกทั้งบางชนิดซึ่งอาจเป็นสารก่อมะเร็ง สารก่อกลายพันธุ์อีกด้วย
นอกจากนี้จากการศึกษาวัดฤทธิ์ความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรมของคนที่อาจแฝงในอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กพบว่า ในอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กมีสารที่เป็นพิษต่อยีนปนเปื้อนอยู่ และเมื่อสารพิษในอนุภาคละอองฝุ่นถูกสูดเข้าไปในระบบหายใจจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารไซโตคายน์ ซึ่งอัตราการหลั่งของสารนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบและการระคายเคืองต่อเซลล์ถุงลมปอด อันเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคระบบทางเดินหายต่างๆ เช่น ไอ เจ็บคอ หอบ หืด การหายใจผิดปกติ
รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัย ระดับรายวันของฝุ่นในอากาศ และผลกระทบต่อสุขภาพในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาวิจัยครั้งนี้ยังพบว่าในอนุภาคฝุ่นขนาด พีเอ็ม 10 มีสารมลพิษอินทรีย์ที่สำคัญ คือ สารพอลิไวคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน หรือ พีเอเอช ซึ่งสารนี้ทั่วโลก ยอมรับกันว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่รุนแรงมาก สารนี้พบที่เกิดจากการเผาสารอินทรีย์ เช่น หญ้า ใบไม้แห้ง ขยะ และจากการปิ้งย่าง
จากการติดตามอาการผู้ป่วยโรคหอบ หืด ในโครงการวิจัยพบว่าปริมาณของอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กมีผลสัมพันธ์กับอาการแสดงออกของโรคหอบหืด โรคหัวใจ โดยตรง กล่าวคือ ปริมาณอนุภาคฝุ่นที่สูงขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยหอบ หืด ตลอดจนผู้ป่วยโรคหัวใจกำเริบรุนแรงขึ้น และอาจจะส่งผลให้อาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ซึ่งเมื่อทีมวิจัยนำข้อผลการศึกษาด้านผลกระทบต่อสุขภาพไปตรวจสอบกับสถิติผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจของจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูนนั้นมีความสัมพันธ์กันชัดเจน กล่าวคือ ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในด้วยโรคทางเดินหายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอัตราผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่นั้นสูงกว่ากรุงเทพฯ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับการตรวจวิเคราะห์แหล่งที่มาของอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม10 และพีเอ็ม 2.5 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า 40-82% มาจากการ การเผาพืช หรือขยะในที่โล่งแจ้ง อีกส่วนหนึ่งมาจากไอเสียรถน้ำมันดีเซล การประกอบอาหาร ฝุ่นดิน และแหล่งกำเนิดอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถระบุได้
ด้วยเหตุนี้ทางคณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
โดยในระยะสั้นให้มีการกำหนดมาตรการควบคุมมิให้มีการเผาทุกประเภท ส่วนในระยะยาวให้มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ โดยเฉพาะมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดพีเอ็ม 2.5 ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน รวมทั้งให้มีมาตรการเตือนภัยคุณภาพอากาศในช่วงฤดูแล้ง พร้อมกับให้มีการเฝ้าระวังติดตามอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีระดับฝุ่นละออง และความเป็นพิษสูง
“เรื่องมลพิษในอากาศเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราทุกคนต่างต้องหายใจเอาอากาศเข้าไป มาตรการเร่งด่วนที่สุด คือ ต้องหยุดการเผาให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาคณะผู้วิจัยและเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อากาศเมืองเชียงใหม่ ได้ช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนหยุดการเผ้าใบไม้ กิ่งไม้ และขยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นที่น่าพอใจ แต่จุดที่เป็นปัญหากลับพบในพื้นที่ของหน่วยงานรัฐเอง ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐ ทำเป็นตัวอย่าง รวมทั้งอยากให้มีมาตรการจัดการดูแลควบคุม หรือยกเลิกกิจกรรมการเผาที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันอื่นๆ เช่น จุดพลุเฉลิมฉลอง หรือ จุดโคมไฟ ของร้านอาหาร และการจัดงานของหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น ” ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์เจริญเมือง สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอแนะเพิ่มเติม
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net