กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็น “Negative” หรือ “ลบ” จากเดิม “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับการทำกำไรของบริษัทในระยะปานกลาง ในขณะเดียวกันทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน (ITD089A, ITD099A) ของบริษัทที่ระดับ “A-” ซึ่งสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลอดจนการมีมูลค่าของงานในมือที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) จำนวนมาก การเป็นผู้รับเหมาที่สามารถรับงานก่อสร้างได้หลากหลายประเภท รวมทั้งการมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับ และความรู้ความชำนาญด้านการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และซับซ้อน ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของปริมาณงานก่อสร้างในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรง และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับการทำกำไรของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ในระยะปานกลาง ตลอดจนความล่าช้าของโครงการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งผลการดำเนินงานในต่างประเทศที่อ่อนแอ ซึ่งจะเป็นปัจจัยถ่วงความพยายามของบริษัทที่จะทำให้กำไรกลับคืนสู่ระดับเดิม ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทไม่สามารถผลักดันให้ผลประกอบการกลับสู่ระดับที่ยอมรับได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ประกาศผลการดำเนินงานขาดทุน 1,420 ล้านบาทซึ่งเป็นผลมาจากการตั้งสำรองเผื่อขาดทุนจากงานก่อสร้างและภาระผูกพันที่มีต่อนิติบุคคลเฉพาะกิจเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้บริษัทมีหน้าที่ตามสัญญาสินเชื่อระหว่างบริษัทกับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จะต้องให้เงินกู้ยืมแก่นิติบุคคลเฉพาะกิจในกรณีที่นิติบุคคลเฉพาะกิจไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ณ เดือนกันยายน 2549 นิติบุคคลเฉพาะกิจมีภาระหนี้คงค้างทั้งสิ้น 1,963 ล้านบาทและมีสินทรัพย์รอการขายจำนวน 936 ล้านบาท ณ ปัจจุบันบริษัทได้ตั้งสำรองสำหรับภาระผูกพันดังกล่าวเป็นจำนวน 815 ล้านบาท
สำหรับกิจกรรมการก่อสร้าง บริษัทมีผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ของปี 2549 ต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้มาก ซึ่งสาเหตุหลักเป็นผลมาจากงานก่อสร้างเขื่อน Kol ในประเทศอินเดีย บริษัทคาดการณ์ผลขาดทุนจากการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวประมาณ 1,200 ล้านบาทอันเกิดจากสาเหตุความล่าช้าในการก่อสร้างที่คาดว่าจะนานถึง 2 ปีและความไม่ลงตัวด้านงานก่อสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม ทั้งนี้บริษัทได้ตั้งสำรองเผื่อขาดทุนเป็นจำนวน 758 ล้านบาท โดยกว่า 442 ล้านบาทได้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายแล้ว แม้บริษัทตั้งใจที่จะเรียกร้องเงินชดเชยค่างานพิเศษจากลูกค้า แต่ก็ยังไม่แน่อนว่าจะได้รับคืนในอนาคต ผลการดำเนินงานจากงานก่อสร้างเขื่อน Kol ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทมากนักเนื่องจากมูลค่างานคงเหลือของโครงการเขื่อนคิดเป็น 5.8% ของมูลงานคงค้างของบริษัทที่ 84,347 ล้านบาท ณ เดือนพฤศจิกายน 2549 นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลด้านลบต่อผลกำไรของบริษัทคือผลการดำเนินงานที่ไม่ดีของบริษัทร่วมคือ ITD Cementation India (ITDCEM) ซึ่งดำเนินธุรกิจก่อสร้างในประเทศอินเดีย โดย ITDCEM มีรายได้จากงานก่อสร้างประมาณ 3,160 ล้านบาทและมียอดขาดทุน 35 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ทั้งนี้ การขาดทุนเป็นผลมาจากภาระดอกเบี้ยที่สูงเป็นสาเหตุหลัก บริษัทกำลังพิจารณาแนวทางในการเพิ่มทุนให้แก่ ITDCM เพื่อลดภาระหนี้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการในการเพิ่มทุนอาจใช้เวลาและอาจแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี 2550
ทริสเรทติ้งคาดว่าการชะลอตัวของการก่อสร้างในภาคเอกชนรวมทั้งความล่าช้าของการลงทุนของภาครัฐจะส่งผลให้ภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ มูลค่างานก่อสร้างในมือที่มีผลกำไรต่ำซึ่งคิดเป็นประมาณ 30% ของมูลค่างานในมือทั้งหมด โดยรวมถึงโครงการเขื่อน Kol น่าจะส่งผลต่ออัตรากำไรของบริษัทบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ สิ่งท้าทายสำหรับบริษัทคือการควบคุมต้นทุนรวมทั้งการมีวินัยในการประมูลงานใหม่โดยเน้นที่ผลกำไรมากกว่าปริมาณงาน นอกเหนือจากต้นทุนงานก่อสร้างแล้ว ต้นทุนทางการเงินนับเป็นภาระหนักของบริษัทด้วย โดยดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจาก 589 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 664 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากของดอกเบี้ยจ่ายเป็นผลมาจากภาระหนี้และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นได้ใช้ไปในการขยายธุรกิจและซื้อกิจการ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีความกังวลเกี่ยวกับการที่บริษัทซื้อโครงการเหมืองแร่โปแตชโดยใช้เงินกู้ยืมจากธนาคารไทยพาณิชย์ แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะมีศักยภาพ แต่ก็มีความไม่แน่นอนในเรื่องของเวลาที่บริษัทจะได้รับสัมปทานเหมือง โดยหากระยะเวลายิ่งยาวนานออกไป ภาระดอกเบี้ยก็จะยิ่งสูงขึ้น