กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--โครงการจับตากองทุนสื่อฯ
โครงการจับตากองทุนสื่อฯ
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางในปัจจุบัน สร้างทั้งโอกาสและผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนกว่า 26 ล้านคนในวันนี้ และเป็นอนาคตของประเทศในวันหน้า แต่สถานการณ์ปัจจุบัน พื้นที่ “สื่อ” ที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนยังมีอยู่น้อยเกินไป จากมุมมองและข้อจำกัดของผู้เกี่ยวข้อง คนหลายภาคส่วนของสังคมจึงร่วมกันผลักดันให้มี “กองทุนพัฒนาสื่อ” เพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคในการสร้างสรรค์สื่อดีที่เหมาะสมให้เพิ่มมากขึ้น ลบภาพสื่อตัวร้ายให้เป็นสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเยาวชนและคนไทย
ขณะนี้“(ร่าง)พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ผ่านมติรัฐมนตรี เข้าสู่การพิจารณาของคณะกฤษฎีกาแล้ว และไม่ว่ากองทุนนี้จะออกมาในชื่ออะไร มีหลายเสียงของผู้ร่วมผลักดันและผู้ที่ต้องการเห็นสื่อดีเพื่อสังคมให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคมากขึ้น ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญและการดำเนินการที่ควรจะเป็นเมื่อกองทุนนี้เกิดขั้นได้จริง อาทิเช่น
ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันโอกาสที่จะเกิดสื่อดี ๆ มีน้อยมากเพราะกลไกตลาดเข้าไปทำให้สื่อนั้นไปตอบสนองเรื่องการขายสินค้า ผลิตภัณฑ์ และการโฆษณาต่างๆ อยู่เต็มไปหมด จึงต้องอาศัยกลไกอื่น และไปได้แนวคิดกองทุนสื่อสร้างสรรค์มาจากโมเดลของประเทศเกาหลีและอีกหลายๆ ประเทศ โดยกองทุนสื่อสร้างสรรค์เป็นกลไกหนึ่ง ที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่มาเป็นตัวหนุนให้เกิดการผลิตเนื้อหา หรือเป็นตัวหนุนให้เกิดคนที่จะมาร่วมพัฒนาเนื้อหาให้เกิดขึ้นจำนวนมาก เน้นบทบาทในการหนุนเสริมและสนับสนุนขบวนการ ส่วนบทบาทในเชิงของการควบคุม การกำกับดูแลเนื้อหา ควรเป็นบทบาทของส่วนราชการที่มีหน้าที่ควบคุมกฎหมาย หลักเกณฑ์ ซึ่งตัวอย่างทั้งในเกาหลี หรือในอังกฤษ ชัดเจนว่า กองทุนสื่อสร้างสรรค์มักอยู่นอกภาคราชการ เพราะในระยะยาวบทบาทภาครัฐควรต้องโปร่งใส รัฐทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบาย การติดตามหรือการใช้บังคับกฎหมาย ทีนี้ในแนวคิดของกองทุนสื่อสร้างสรรค์ เป็นการไปทำงานของภาคสังคม ไปทำงานกับภาคผู้ผลิต เพราะฉะนั้นสองส่วนนี้ไม่น่าจะอยู่ในส่วนของราชการ
สิ่งที่ต้องตระหนักในปัจจุบัน คือ สื่อได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็ก เยาวชน หรือสังคมโดยรวมมากขึ้น สื่อไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการพัฒนาสังคมหรือการเรียนรู้ กองทุนสื่อสร้างสรรค์จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะเข้ามาต่อทำให้กระบวนการขับเคลื่อนไปได้ การสร้างสื่อการเรียนรู้ในสังคมเป็นเรื่องใหญ่ อยากให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมและผลักดันให้เกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้ทางหน่วยงานราชการหรือหน่วยใดหน่วยหนึ่งเป็นผู้ผลักดัน ทุกคนต้องร่วมมือกันจึงจะประสบความสำเร็จ
ในมุมของคนผลิตสื่อ “พี่ซุป” นายวิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ ผู้ผลิตรายการ ซูเปอร์จิ๋ว กล่าวว่า จากที่ทำงานตรงนี้มา 20 ปี เข้าใจความยากลำบากของคนที่อยู่ตรงนี้คือ สวนทางกันระหว่างความเป็นจริงกับสิ่งที่อยากให้เป็น แม้เราอยากทำรายการที่ให้เด็กมีคุณภาพที่ดีหรือว่าทำรายการที่มีประโยชน์สำหรับเด็ก แต่รายการที่ไม่มีเรทติ้งก็ไม่มีคนซื้อโฆษณา เมื่อไม่มีโฆษณาจะเอางบที่ไหนมาทำรายการให้ได้ดี มันก็เป็นวังวนที่ยากลำบาก ถ้ามีกองทุนสื่อเกิดขึ้นจะทำให้ความกังวลตรงนี้เบาบางลง ทำให้คนทำรายการมีพลังคิดงานอย่างสร้างสรรค์ได้เต็มที่ ในมุมมองของคนทำสื่อเชื่อว่ากองทุนนี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพของบุคลากรในกระบวนการผลิตสื่อ พัฒนาคุณภาพสื่อ และแก้ปัญหาช่องทางในการออกอากาศด้วย และเห็นด้วยที่กองทุนนี้จะออกมาในรูปแบบหน่วยงานอิสระ ที่มีคณะกรรมการจากกลุ่มบุคลากรที่มีประสบการณ์ตรงและมีความเข้าใจในวิชาชีพนี้โดยตรงมาทำหน้าที่ เพื่อพิจารณาคุณภาพให้ออกมาตรงตามใจของผู้บริโภคด้วย
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้มุมมองว่า อยากเห็นกองทุนนี้มีอิสระ มาจากคนหลายกลุ่ม และทำหน้าที่อย่างโปร่งใส ชื่อกองทุนมีคำสำคัญอยู่ 2 คำ คือ คำว่า ปลอดภัยและคำว่าสร้างสรรค์ สองคำมีน้ำหนักและแนวทางในอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน คำว่า “สร้างสรรค์” ลักษณะของกองทุนนี้จะออกมาในลักษณะของทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ให้มีสื่อดีมากยิ่งขึ้น สื่อดีที่ว่านี้คงหมายถึงสื่อที่เหมาะสมสำหรับเด็ก เยาวชน และสังคม เพื่อให้เกิดค่านิยมแบบใหม่ในการรณรงค์ทางวัฒนธรรมในรูปของการส่งเสริม แต่ถ้ากองทุนมีน้ำหนักไปทางสื่อปลอดภัย คำว่า “ปลอดภัย” เป็นคำที่มีความคิดเห็นสูง ปลอดภัยนั้นหมายถึงใคร เป็นคำที่เปิดช่องทางให้เกิดการเซ็นเซอร์ ปิดกั้นการแสดงความแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี คำว่าปลอดภัยและสร้างสรรค์ถ้าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม อยากให้คำว่าปลอดภัยตัวเล็กๆ คำว่าสร้างสรรค์ตัวใหญ่ๆ ก็น่าจะดี เพราะในยุคสมัยนี้เราไม่สามารถปิดกั้นสื่อได้
ยกตัวอย่าง ถ้าเรามีทัศนคติเชื่อว่าต้องกรองข่าวสารในอินเทอร์เน็ต เพราะว่าสื่อบางอย่าง เนื้อหาบางเรื่องเป็นพิษเป็นภัยต่อเยาวชน เช่น เป็นเรื่องของการลามกอนาจารชัดเจน เป็นเรื่องของการละเมิดความมั่นคงของรัฐ ก็สามารถมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจนได้ แต่หากเป็นเรื่องที่ใช้ดุลยพินิจมาก ก็จะมีปัญหาว่าใครคือผู้ใช้ดุลพินิจ ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็แปลว่า ประชาชนหรือสังคมกำลังยกให้รัฐเป็นคนมาตัดสินแทนประชาชน ถ้าดุลยพินิจของรัฐออกมาในทางรัฐนิยมมากๆ ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย แต่ถ้าเน้นหนักคำว่าสร้างสรรค์ แปลว่าเรายอมรับที่จะมีสื่อจำนวนหนึ่งที่เราอาจจะตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสื่อที่ปลอดภัยหรือไม่สำหรับประชาชน โดยเราเลือกที่จะไม่ปิดกั้น แต่เลือกที่จะใช้อีกวิธีหนึ่งคือ สนับสนุนสื่อที่เป็นทางเลือกสำหรับครอบครัว สำหรับเด็กและเยาวชน เลือกสรรเสพสื่อที่จะทำให้เกิดจินตนาการ เกิดการเรียนรู้ เกิดการพัฒนาตนเองและสังคม น้ำหนักของคำจึงเป็นหัวใจ คำว่าสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทิศทางที่จะนำพาประเทศ นำพาสังคมไทยไปสู่จุดหมายได้
ประเด็นสำคัญ กองทุนนี้ควรปลอดการแทรกแซงจากรัฐ ในเรื่องของตัวองค์กร ถ้าอยู่ภายใต้ภาครัฐต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหาร แต่ก็อาจถูกแทรกแซงโดยรัฐได้ง่าย แต่ถ้าอยู่นอกภาครัฐ ต้องตั้งคณะกรรมการอิสระโดยมีกลไกในการคัดเลือกคนที่จะมาทำหน้าที่จากหลายฝ่าย เช่น เสียงของภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เสียงของภาคธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ จะทำให้ได้คณะกรรมการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น มีความเป็นอิสระและมีความเป็นเสรีจากรัฐ และในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่จะต้องออกจากกฎระเบียบในการจัดสรรเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับสื่อนี้ให้มีลักษณะการจัดการบริหารเงินทุนอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่า “กองทุนพัฒนาสื่อฯ” น่าจะเกิดขึ้นได้ในไม่ช้า และหากเราทุกคนต้องการให้กองทุนนี้เกิดขึ้นอย่างที่ทุกคนต้องการในฐานะ “ผู้บริโภค” และต้องการขจัดสื่อตัวร้ายให้เป็นสื่อสร้างสรรค์ ก็ควรร่วมกันจับตา ติดตาม และแสดงความคิดเห็นเสียงดัง ๆ ไปถึงผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายนี้ ซึ่งล่าสุด กลุ่มผู้เกี่ยวข้องในขบวนการผลิตสื่อทุกภาคส่วนจะได้มาร่วมกันระดมความคิดเห็นใน เวทีสาธารณะ จับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ ที่ โครงการจับตากองทุนสื่อฯจัดขึ้นในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ ที่โรงแรมเอเชีย.