สวทช.หนุนผู้ประกอบการไม้ทำ IPPC ยกระดับคุณภาพสินค้า ก้าวสู่การแข่งขันในตลาดโลก

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday February 14, 2007 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--สวทช.
สวทช.เสริมความแข็งแกร่งกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ด้วยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีรวมถึงเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ในการสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์บรรจุไม้เพื่อการส่งออก IPPC ด้วยวิธีอบด้วยความร้อน (Heat Treatment) หวังยกระดับผู้ประกอบการให้ผลิตผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง แข่งขันกับต่างชาติได้ มั่นใจอนาคตส่งออกไปได้สวย
ปัจจุบันอุตสาหกรรมไม้ซึ่งต้องใช้ไม้ยางเป็นวัตถุดิบกำลังประสบปัญหาภาวะวัตถุดิบไม้ยางพารามีราคาสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำยางพารามีราคาแพง เจ้าของสวนยางจึงต้องชะลอการตัดไม้ยางพารา ดังนั้นจึงต้องการลดต้นทุนการผลิตสินค้าทั้งระบบ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้นน้ำยังคงขาดความรู้และเทคนิคในกระบวนการแปรรูปไม้ยางพาราทั้งระบบ แต่ยังคงต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานเพื่อแข่งขันในตลาดโลก
และเนื่องจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติได้ออกมาตรฐานข้อกำหนดสำหรับวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออก ซึ่งมีความสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ทำวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออกให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน IPPC ดังนั้น โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้จัดให้มีการอบรมสัมมนาในหัวข้อ “การสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์บรรจุไม้เพื่อการส่งออก (IPPC)” ภายใต้โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้เฟสที่ 4 เพื่อให้ความรู้และสร้างทางเลือกให้กับผู้ประกอบการที่จะขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออก (IPPC) จากกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งให้ผู้ประกอบการได้รับทราบข้อมูลและเทคนิคการผลิต เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างมาตรฐานและพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ยั่งยืนต่อไป
ผศ.ทรงกลด จารุสมบัติ ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงข้อกำหนดของบรรจุภัณฑ์ไม้เพื่อการส่งออกว่า มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติได้กำหนดวิธีในการปฏิบัติเพื่อควบคุมกำจัดศัตรูพืชที่อาศัยอยู่ในวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ที่ใช้ขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ รวมทั้งข้อปฏิบัติเพื่อขอรับใบรับรองและหรือขอประทับตราเครื่องหมายรับรองบนวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้โดยวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ที่ต้องกำหนดวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ได้แก่ ลังไม้แบบโปร่ง กล่องไม้ ถังไม้ ไม้รองรับสินค้า วัสดุไม้กันกระแทก ลังไม้แบบทึบ ไม้รองมุมกันกระแทก ไม้รองลาก และ load boards ซึ่งผลิตโดยใช้วัตถุดิบไม้หรือวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ที่นำกลับมาใช้ใหม่ แต่ไม่ครอบคลุมถึงวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ที่ผลิตจากไม้แปรรูป วัตถุดิบไม้ที่มีความหนาไม่เกิน 6 มิลลิเมตร และผลพลอยได้จากไม้แปรรูป ได้แก่ ไส้ไม้ ขี้เลื่อย ฝอยไม้ ขี้กบ เนื่องจากวัสดุเหล่านี้ทำให้โอกาสที่แมลงศัตรูไม้เข้าสู่ประเทศผู้นำเข้าได้น้อย
ทั้งนี้ ศัตรูพืชสำคัญที่อาศัยในวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ที่ถูกกำจัดได้ด้วยวิธีปฏิบัติที่ได้รับการรับรอง ได้แก่ มอดยาสูบ มอดหัวไม้ขีด แมลงทับ ด้วงเจาะไม้ ด้วงหนวดยาว ด้วงงวง ปลวก มอดไม้ ต่อหางเข็ม ไส้เดือนฝอย ฯลฯ
ผศ.ทรงกลด กล่าวต่อว่า วิธีปฏิบัติในการควบคุมเพื่อกำจัดศัตรูพืชในวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับนั้นมี 2 วิธีการคือ วิธีอบด้วยความร้อน (Heat Treatment) ซึ่งวัตถุดิบไม้ที่นำมาประกอบเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ต้องผ่านวิธีการอบด้วยความร้อนจนแกนกลางของไม้ได้รับความร้อนไม่น้อยกว่า 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที หากนำไม้นั้นอบแห้งอัดน้ำยาด้วยแรงอัดหรือวิธีอื่นๆ ก็จะต้องให้แกนกลางไม้ได้รับความร้อนไม่น้อยกว่า 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาทีเช่นกัน จึงจะได้รับการพิจารณาว่าผ่านวิธีปฏิบัติด้วยการอบด้วยความร้อน
ส่วนอีกวิธีการหนึ่งคือ วิธีรมด้วยเมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide Fumigation) โดยวัตถุดิบไม้ที่นำมาประกอบเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ต้องผ่านการรมด้วยเมทิลโบรไมด์ตามอุณหภูมิ อัตรา เวลา และความเข้มข้นที่กำหนดโดยอุณหภูมิต่ำสุดต้องไม่ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส และระยะเวลารมไม่น้อยกว่า 16 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีวิธีปฏิบัติอื่นๆ ที่อาจใช้ได้หากมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าสามารถกำจัดศัตรูพืชในวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ได้ อาทิ วิธีรม วิธีอัดน้ำยาหรืออาบน้ำยา วิธีฉายรังสี และวิธีควบคุมบรรยากาศ แต่ในอนาคตวิธีการเหล่านี้จะไม่เป็นที่ยอมรับกระทั่งอาจถูกห้ามใช้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ ผศ.ดร.ธีระ วีณิน ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาเนื้อไม้สำหรับไม้ทำผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ว่า ศัตรูส่วนใหญ่ที่เข้าทำลายเนื้อไม้แบ่งออกเป็นพวกใหญ่ๆ คือ เชื้อรา แมลง และเพรียง ซึ่งเชื้อราจัดเป็นศัตรูสำคัญที่ทำให้เนื้อไม้ผุ เสื่อมสภาพ และเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ไม้ที่ถูกเชื้อราทำลายจะมีองค์ประกอบทางเคมีของเนื้อไม้เปลี่ยนไป อีกทั้งสี กลิ่น ความแข็ง ความเหนียว ความหนาแน่น จะลดลง ขณะที่การอุ้มน้ำ คายน้ำ เกิดได้เร็วและมากขึ้น การนำไฟฟ้ามากขึ้น ติดไฟง่าย แต่ความร้อนไม่มี อบไม้ยาก บิดหด แตกง่าย ส่วนแมลงที่เข้าทำลายเนื้อไม้ ได้แก่ มอดรูเข็ม มอดขี้ขุย ด้วง ปลวก สำหรับเพรียงนั้นจะเป็นตัวทำลายไม้ที่ใช้งานอยู่ในน้ำแยกเป็น 2 พวกคือ เพรียงทะเล และเพรียงน้ำจืด
“วิธีการป้องกันและรักษาเนื้อไม้นั้นสามารถทำได้โดยไม้ที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปีลงมาควรอาบน้ำยาเพื่อปรับปรุงคุณภาพไม้ เป็นการนำสารเคมีที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายและไม่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมเข้าไปในเนื้อไม้เพื่อเป็นเกราะป้องกันรักษาเนื้อไม้ หากในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่มีถังอัดน้ำยาก็สามารถใช้วิธีอื่นได้ เช่น การทา การฉีด การจุ่ม การแช่ โดยวิธีการอัดน้ำยาต้องพยายามให้ตัวยาเข้าไปได้มากที่สุด แต่ต้องคำนวณให้พอดีอย่าให้สูงมากเพราะจะทำให้โครงสร้างของไม้เสีย ผนังเซลล์แตกได้ การอัดน้ำยาให้ได้ผลนั้นไม่ควรเร็วเกินไปและต้องให้ตัวยาเข้าไปทั้งสองด้าน เมื่อได้ตัวยาเข้าไปตามต้องการแล้วก็ปล่อยตัวยาคืนถังเก็บ ทำสุญญากาศ สุดท้ายผิวไม้จะแห้งหมาดๆ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและลดค่าใช้จ่ายได้มาก” ผศ.ดร.ธีระ กล่าวในที่สุด
ด้าน ผศ.อำไพ เปี่ยมอรุณ ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในเรื่องของหลักการและวิธีการทำ Heat Treatment ว่า การทำ Heat Treatment สามารถทำได้โดยวิธีการเผาเชื้อเพลิงหรือใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งการอบไม้ด้วยความร้อนนี้ควรตัดเป็นท่อนเก็บไม่เกิน 3 วันเพื่อป้องกันการทำลายของเชื้อราและแมลง จากนั้นจึงเรียงไม้เตรียมอบด้วยความร้อน
ก่อนการอบไม้จำเป็นที่จะต้องตรวจสภาพอุปกรณ์ที่จะใช้งานให้อยู่ในสภาพที่พร้อม จากนั้นนำไม้ที่ได้จากการแปรรูปมาเรียงในห้องอบ โดยต้องเรียงให้มีช่องว่างเพื่อให้ความร้อนสามารถเข้าถึงด้านล่างของไม้ ปิดห้องอบที่บรรจุไม้ให้สนิท สำหรับระยะเวลาที่ใช้ในการอบไม้นั้นขึ้นอยู่กับขนาดของไม้แต่ละชิ้นว่าจะมีความหนาและความชื้นเท่าใด แต่ที่สำคัญคือต้องให้ความร้อนสามารถเข้าไปทั่วถึงทุกจุดของแผ่นไม้ทุกแผ่นที่เข้าอบ อย่างไรก็ตามการอบตามสภาวะที่กำหนดนั้นไม่สามารถป้องกันการเข้าทำลายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพียงเป็นการฆ่าด้วงเจาะไม้ ไข่ และตัวอ่อนที่มีอยู่ในไม้ขณะนั้นเท่านั้น.
สำหรับผู้ที่สนใจและมีความประสงค์ที่จะขอรับการสนับสนุนด้านข้อมูลหรือคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ สามารถติดต่อได้ที่ : คุณชนากานต์ และคุณวลัยรัตน์ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1381 และ 1368
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ