กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--สคส.
ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ของภาคประชาชน บริษัท และข้าราชการไทย ร่วมกับ องค์กรที่ใช้การจัดการความรู้ระดับโลก อย่าง World Bank ในงานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การจัดการความรู้ ซึ่งจัดโดย World Bank ประเทศไทยและสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เมื่อวันที่ 15กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาทำให้เห็นถึงศักยภาพและขีดความสามารถของคนไทยในการนำศาสตร์การพัฒนาสากลมาประยุกต์และปรับปรุงให้เหมาะสมกับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่จะนำศาสตร์ด้าน “การจัดการความรู้” เท่านั้น แต่ยังนำหลักธรรม วัฒนธรรมไทย ความเป็นเอกลักษณ์ของไทย สอดแทรกอยู่ในศาสตร์ดังกล่าวได้อย่างแนบเนียนน่าทึ่งไม่แพ้ชนชาติใด ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากบริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ และภาคประชาสังคมไทย ที่ออกมาเล่าประสบการณ์ความสำเร็จจากการนำ “การจัดการความรู้” มาใช้พัฒนาคน และองค์กรให้ต่างชาติอย่างภาคภูมิใจ เช่นกรณีของ
บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด จ.สระบุรี โดยคุณทวีสิน ฉัตรเฉลิมวิทย์ กล่าวถึงขีดความสามารถและปัจจัยความสำเร็จในการนำการจัดการความรู้ไปใช้ได้ดี ขึ้นอยู่กับผู้นำองค์กร ที่จะต้องให้การสนับสนุน, การสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับพนักงานได้นำความรู้ประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน, “คุณอำนวย” ที่ทำหน้าที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับพนักงานในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ด้าน คุณศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล จากกรมอนามัย กล่าวว่า การจัดการความรู้สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้ ก็ต่อเมื่อ องค์กรนั้นจะต้องมี ทีมจัดการความรู้ ที่ชัดเจนและเป็นส่วนสำคัญที่สุด และจะต้องมีความชาญฉลาดในการใช้ผู้นำเป็นเครื่องมือในการช่วยผลักดันการจัดการความรู้ในองค์กรด้วย (ความชาญฉลาดในการบริหารผู้นำ) เพราะผู้นำจะเป็นจุดนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีอย่างหนึ่งในองค์กร
การจัดการความรู้ในกรมอนามัยมีหลายรูปแบบ เช่น กองคลังก็ทำการจัดการความรู้ในจุดเล็กๆ เช่นการจัดซื้อภายใน เป็นต้น หรือกรณีศูนย์อนามัยที่ ๖ ขอนแก่น ก็นำการจัดการความรู้ไปใช้หลายรูปแบบ จะเห็นได้ว่าหน่วยงานภายในกรมซึ่งมีหลากหลายก็นำการจัดการความรู้ไปใช้หลากหลาย ประเด็นสำคัญคือจะต้องไม่เคี่ยวเข็ญให้เขาทำ แต่จะต้องให้ความสำคัญกับการเริ่มจากจุดเล็กๆ ไปสู่กิจกรรมที่ใหญ่ขึ้น เมื่อเขาได้เรียนรู้แล้วก็จะสามารถต่อยอดได้เอง
ขณะเดียวกันเทคโนโลยก็ต้องนำมาใช้ เช่น Web blog หรือ e-mail ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการคุยกัน การใช้แฟ้มภูมิปัญญา มาใช้บันทึกกิจกรรมการเรียนรู้ และแลกกันอ่านอีกทั้งสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้ ก็กลายเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหนึ่งเช่นกัน
ด้านคุณทรงพล เจตนาวนิช จากสถาบันสร้างเสริมการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยจัดการควาวมรู้ภาคประชาสังคมในประเทศไทยแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ในกระบวนการทำงานของสถาบันมีการนำการจัดการความรู้ไปใช้เช่นกันแต่ไม่ใช่จุดเน้น งานแรกที่ทดลองนำการจัดการความรู้ไปใช้คือการนำไปใช้กับบันฑิตคืนถิ่น เรานำการจัดการความรู้ไปใช้ด้วย เรียนรู้ไปด้วย คือเรียนรู้ทั้งเครื่องมือ และเรียนรู้เรื่องคน เมื่อจบโครงการสิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ ธรรมชาติของคนในการเรียนรู้มีความหลากหลาย ตนได้เรียนรู้ทั้งเรื่อง ปฎิบัติ ปริญัติ และปฏิเวท ต่อมาก็นำมาใช้กับกลุ่ม องค์การบริหารส่วนตำบล( อบต.) ที่มีวิสัยทัศน์ใหม่ในการพัฒนาท้องถิ่น ตนใช้กระบวนการการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ (share vision) กับนายกอบต.ซึ่งเขาก็มีแรงบันดาลอยู่แล้วว่า ที่ผ่านมาเขาเองก็ได้รับการต่อต้านจากหน่วยงานราชการที่ไม่ยอมโอนย้ายมาอยู่ด้วย เขาเองก็อยากจะแสดงให้เห็นว่าเขาเองก็มีศักยภาพและความสามารถมากกว่าการสร้างถนน สร้างสะพานหรือโครงสร้างพื้นฐานที่อบต.ไหนๆ ก็ทำได้ เขาต้องการทำให้ การจัดการความรู้เนียนเข้าไปอยู่ในเนื้องาน และกระบวนการทำงานรูปใหม่ของอบต.
นอกจากนี้เมื่อเห็นเป้าหมายร่วมกันแล้ว สรส.จะต้องพาเขาเรียนรู้ เรื่องทุกข์สุขในท้องถิ่น ซึ่งการเรียนรู้นี้เป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ โดยให้เขาคิดว่า ตำบลเขาคือประเทศ และรู้แต่ทุกข์อย่างเดียวไม่ได้ ก็ต้องเรียนรู้สุข เรียนรู้วัฒนธรรม ทรัพยากร วัฒนรรม ประเพณี ด้วย อีกทั้งอบต.จะต้องเรียนรู้ว่า เขามี “เงิน” และเขาจะจัดการอย่างไรให้สามารถนำมาพัฒนาท้องถิ่นได้ประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญจะต้องกระตุ้นให้เขาเรียนรู้กันเองในองค์กร เขาอาจจะมีคนเก่งเยอะ แต่คนเก่งก็ไม่เคยเรียนรู้กันและกัน
การเรียนรู้ในภาคชุมชน จึงเป็นการเรียนรู้อนาคตด้วยข้อมูล โยงใยจากสิ่งใกล้ตัว กระทั่งเกิดสำนึกว่าอนาคตมันดีกว่าปัจจุบันได้ ด้วยน้ำมือของเรา
ภาพที่ชัดเจนของการนำกระบวนการการจัดการความรู้ไปใช้ คือ การเรียนรู้ก่อนปฏิบัติ การเรียนรู้ระหว่างปฏิบัติ และการเรียนรู้หลังการปฏิบัติ เช่น ที่อบต.วัดดาว จ.สุพรรณบุรี เริ่มมีการนำไปใช้ในเทศกาลลอยกระทงกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นที่ถูกใจชาวบ้าน ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2550 ที่ผ่านมา ก็นำไปใช้กับเทศการกรำฟ้า ที่หายไปจากชุมชนหลายปีให้ฟื้นคืนอีกครั้ง พอทำเสร็จชาวบ้านก็ตื่นตัวมาก เพราะที่ผ่านมาไม่มีนายกอบต.คนไหนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น เป็นการสร้างฐานเสียงด้วยการทำงานไม่ใช่การใช้เงินหว่าน
ฉะนั้น การนำการจัดการความรู้ไปใช้ในภาคประชาสังคม หรือวิถีชีวิตของชาวบ้านนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะต้องเอาชาวบ้าน เอาเป้าหมายชีวิต และอนาคตของชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ทำให้เขาได้สัมผัสผลสัมฤทธิ์เป็นระยะ อย่างรวดเร็วเหมาะสมกับเวลา ไม่นานมากนักเขาก็จะเห็นประโยชน์
ขณะที่ Mr.Erik C.Johnson Knowledge Management Officer, World Bank (Headquarters) กล่าวว่า การนำการจัดการความรู้ไปใช้ในชุมชนต้องใส่ใจฟังชาวบ้านให้มาก ซึ่งจะเป็นทักษะในการให้อำนาจกับประชาชน “คุณอำนวย” จะต้องกระตุ้นให้เขารู้ว่าชาวบ้านมีความรู้ที่ดีอย่างไร และเป็นความรู้ที่คนอื่นไม่มีอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างให้เขา พยายามทำให้คนทำงานเป็นทีม ต้องแลกเปลี่ยนกันว่าความรู้อะไรเป็นตัวสร้างคุณค่าของชุมชน ฉะนั้นรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องมีทักษะในการเรียนรู้ชุมชน ทรัพยากรท้องถิ่น วิธีการติดต่อสื่อสารที่มีความหลากหลายในแต่ละท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจะต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยนบทบาท
ด้านดร.ปรอง กองทรัพย์โต จากบริษัท สแปนชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มีพนักงาน ประมาณ 1,000 กว่าคน มีชุมชนแห่งการเรียนรู้ (cop) มากกว่า 60 กลุ่ม อีกทั้งพนักงานยังมีความหลากหลายทางด้านระดับการศึกษา กล่าวว่าบริษัทมีหลักการบริหารคล้ายๆ กับบริษัททั่วๆ ไป แต่ที่เพิ่มเติมและอาจจะไม่เหมือนกับบริษัทอื่นๆ นั่นคือ การมี “โครงสร้างการทำงานแบบระนาบ หรือแบบเกื้อหนุนเพื่อให้พนักงานเกิดความรู้รอบเรื่องการทำงานร่วมกัน หรืออาจจะเรียกว่า ทีมคร่อมสายงาน ที่ตนเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์แบบ “ชุมชนนักปฏิบัติ”
“ผมคิดว่าความไม่รู้เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าไม่รู้แล้วไม่กล้าพูดเป็นเรื่องผิดปกติ และพนักงานทุกคนจะต้องเป็นผู้กระหายความรู้ในองค์กร อาจจะเป็นความรู้เรื่องอะไรก็ได้ในที่ทำงาน อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับงานก็ได้” ดร.ปรอง กล่าว
ชุมชนนักปฏิบัติในบริษัทสแปนชั่นแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.แบบที่ต้องมี 2. แบบที่ต้องยุให้เกิด 3.แบบที่มีเองเกิดเอง ซึ่ง ทั้ง 3 ส่วนจะประกอบไปด้วย 1.เอื้อให้เกิดพฤติกรรมร่วมกัน-เคารพความรู้-สร้างความสนใจ-ใจรัก-สนุกอยากทำ-มนุษยสัมพันธ์และความรู้ 2.มีสิ่งแวดล้อม (ต้องจัดเวที มีเวาให้เขา แต่บางชุมชนนักปฏิบัติสามารถใช้เวลางานได้เลย 3.ลด EGO 4.ลดช่องว่างระหว่างชั้น 5.สร้างความเชื่อมโยงกัน 6.ใช้คำพูดเชิงบวก การสร้างความสัมพันธ์ของพนักงานในลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อองค์กรอีกทั้งยังก่อให้เกิดการอีกทั้งยังเกิดการเสนอโปรเจคจากพนักงานระดับล่างเพื่อพัฒนาองค์ร สามารถจัดการกับอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นประมาณ 6% อีกทั้งยังเกิด โครงการเพื่อการพัฒนาโดยการนำเสนอของพนักงานในปี 2549 มากถึง 108 โครงการ
การจัดการความรู้จึงเป็นทั้งความดี และความงาม ที่อยู่ในที่ทำงานที่หลายๆ หน่วยงาน หลายองค์กรหันมาให้ความสนใจเพื่อการพัฒนาและการแข่งขันในสังคมโลก ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียแล้ว สำหรับสังคมไทย ที่กำลังขาดการเรียนรู้ “ต้นแบบ” ดีๆ ที่มีแล้วในทุกๆ หน่วยงาน ทุกๆ ภาคส่วน ทั่วทั้งสังคมไทย หากเรามัวแต่เรียนรู้อยู่แต่เพียงในตำรา ไม่สนใจความรู้ปฏิบัติหรือความรู้ประสบการณ์อันเต็มไปด้วยทักษะและความจริง สังคมไทย ก็จะพัฒนาไปช้ากว่านานา ประเทศ ที่ปัจจุบันกำลังตื่นตัวกับทรัพยากรความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวคน คงถึงเวลาแล้วที่ “คุณจะต้องเรียนรู้จาก เพื่อนร่วมงานและคนใกล้ตัวของคุณ”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net