GBX ฟันธงปี’54 วัฏจักรทองคำขาขึ้น เล็งกรอบ 1,300-1,650 ดอลล์ต่อออนซ์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2010 13:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์ โกลเบล็ก โฮลดิ้งฯมองราคาทองคำปี’54 ยังสดใส ชี้ไตรมาส 1 ราคาแตะ1,450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ เหตุยังอยู่ในวัฏจักรขาขึ้น และวิกฤตหนี้ยุโรปยังไม่คลี่คลาย เชื่อทองยังเป็นสินทรัพย์น่าลงทุน ส่วนทั้งปีมองกรอบเคลื่อนไหวของราคาทองคำโลกที่ 1,300-1,650 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด(มหาชน)(GBX) เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาทองคำโลกในปี 2554 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2553 ด้วยวัฏจักรขาขึ้นของราคาทองที่ยังมีโอกาสปรับขึ้นอีก 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย ดังนั้น โกลเบล็กฯคาดการณ์ว่าราคาทองคำโลกในไตรมาส 1/2554 จะอยู่ที่ 1,450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ และมีการเคลื่อนไหวในกรอบ 1,350-1,450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ โดยราคาน่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทดสอบแนวต้านในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.54 และพักฐานลงในเดือน มี.ค.54 สำหรับราคาเฉลี่ยของราคาทองคำในปีหน้าคาดการณ์ว่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่ 1,515 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ โดยประเมินจุดสูงสุดของราคาที่ 1,650 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ และจุดต่ำสุดที่ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ซึ่งเป็นกรอบการเคลื่อนไหวขาขึ้นของกราฟระดับเดือน และเป้าหมายการปรับขึ้นสูงสุดของหลายปัจจัยที่สนับสนุน ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีนัยสำคัญกับราคาทองคำที่ทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปัจจัยการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 2 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (QE2) ภายใต้วงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คาดว่าจะทำให้เกิดกระแสเงินสดส่วนเกิน (Excess Fund flow) ในระบบการเงินทั่วโลก ทำให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง และหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นตามหลักความสัมพันธ์ที่ผกผันกัน ขณะเดียวกัน ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมาในอนาคต ดังนั้น ทองคำจึงเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งพักเงินชั้นดี (Safe Haven) และเป็นสินทรัพย์ที่สามารถใช้ป้องกันภาวะเงินเฟ้อได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากเฟดดำเนินการเข้าซื้อพันธบัตรเต็มวงเงินที่ 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในครึ่งปีแรกของปี 54 จะทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มเป็น 8.97 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 1,450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ภายในไตรมาส 1/2554 เป็นอย่างน้อย (ตัวเลขประมาณการสูงสุดอยู่ที่ 1,540 ดอลลาร์สหรัฐฯต่ออออนซ์) นอกจากนี้ ราคาทองคำยังมีโอกาสได้แรงหนุนจากวิกฤตหนี้สินของประเทศในแถบยุโรปที่ยังไม่คลี่คลาย เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นเพียงการ Refinance หนี้เท่านั้น ซึ่งหากประเทศที่ประสบปัญหาไม่สามารถลดระดับหนี้ลงได้ในระยะเวลาอันใกล้ อาจทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามมา ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางหลายประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย เพราะทองคำถือเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่มีความผันผวนต่ำและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ต่างจากเงินสกุลสำคัญที่มีความผันผวนอย่างมากในระยะหลังมานี้ “แนวโน้มราคาทองคำในปี 54 จะยังสดใสเช่นเดียวกับปีนี้ โดยเชื่อว่าวัฏจักรขาขึ้นของราคาทองคำยังไม่จบสิ้นลงในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพราะถ้าหากพิจารณาจากรอบวัฏจักรในอดีตจะพบว่ารอบการปรับขึ้นของราคาทองคำ 1 รอบจะกินเวลาตั้งแต่ 12-20 ปี ซึ่งหากรวมปีนี้ ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแล้ว 11 ปี จึงน่าจะเหลือโอกาสการปรับขึ้นอีก 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย” นายณัฐพล กล่าว ส่วนภาพรวมของตลาดทองคำในปี 2553 นั้น ราคาทองคำได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่ออออนซ์ หรือประมาณ 28% เมื่อเทียบกับราคาปิดในปี 2552 โดยราคามาขึ้นแรงตั้งแต่เดือน ส.ค 53 เป็นต้นมา จากผลของการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 2 ของเฟด และความกังวลในวิกฤติหนี้สินยุโรปรวมถึงความตรึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี ขณะที่ราคาทองคำในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2,550 บาท/บาททอง หรือประมาณ 15% เมื่อเทียบกับราคาปิดปี 2552 โดยปัจจัยที่ราคาทองคำในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาทองคำโลกเป็นเพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.20 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 10% เมื่อเทียบกับที่ปิดในปี 2552 เช่นกัน เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย : บริษัท มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ในนาม บริษัทโกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด(มหาชน)หรือ GBX: รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ นาถฐิตา นัคราบัณฑิต (จอย) , สมพร เจนเขา (ปุ๊ก) โทร: 02-664-4233, Fax: 02-664-4232 E-mail : mediaplannerconsult@hotmail.com , media-planner@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ