ส.อ.ท. ออกแบบคู่มือแนะนำแนวทางด้าน โลจิสติกส์ และออกแบบเว็บไซต์ด้านโลจิสติกส์

ข่าวเทคโนโลยี Monday June 18, 2007 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ส.อ.ท. ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.ธรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร และ บ.โลจิสติกส์ฯ ออกแบบคู่มือแนะนำแนวทางด้าน โลจิสติกส์ และออกแบบเว็บไซต์ด้านโลจิสติกส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และ บริษัท โลจิสติกส์ เทรนนิ่ง แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาการออกแบบคู่มือแนะนำแนวทางด้านโลจิสติกส์ และ การออกแบบเว็บไซต์ด้านโลจิสติกส์ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งหลังเสร็จสิ้นการลงนามในสัญญาฯ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร.คณิต เฉลยจรรยา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ดร.คำนาย อภิปรัชญาสกุล ประธานบริษัท โลจิสติกส์ เทรนนิ่ง แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด คุณสมสุณีย์ ดวงแข เลขานุการสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เผ่าภัค ศิริสุข ศูนย์บริการและพัฒนาเทคโนโลยีโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดเผยถึงความเป็นมาของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกันสนับสนุนโครงการพัฒนาขีดความสามารถ SMEs ด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้ดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากที่สุดในด้านโลจิสติกส์ โดยได้ออกแบบคู่มือแนะนำแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถด้านโลจิสติสก์สำหรับ SMEs โดยมี 4 สถาบัน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ทำการออกแบบคู่มือแนะนำแนวทางด้านโลจิสติกส์ที่เหมาะกับอุตสาหกรรม SMEs โดยเฉพาะ เพื่อเผยแพร่คู่มือแนะนำแนวทางด้านโลจิสติกส์ ให้แก่สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนทั่วไป สามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ ในองค์กรต่อไป โดยประกอบด้วยคู่มือฯ ดังต่อไปนี้
1. คู่มือแนะนำแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถด้านโลจิสติสก์สำหรับ SMEs
เป็นคู่มือแนะนำแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ สำหรับให้ผู้ประกอบการ SMEs ใช้วางแผนและดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ของตนเองได้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เริ่มแรก ไปจนถึงการพัฒนาขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความสามารถในการเข่งขันแบบยั่งยืน โดยต้องสามารถกำหนดขั้นตอน วิธีการ ระยะเวลา และทรัพยากรที่ต้องใช้ โดยการประเมินหรือวัดผลได้อย่างชัดเจน ง่ายต่อการเข้าใจและนำไปปฏิบัติของพนักงานในองค์กร
2. คู่มือแนะนำแนวทางในการลดต้นทุนด้านโลจิสติสก์สำหรับ SMEs
เพื่อจัดทำคู่มือแนะนำแนวทางในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยต้องเป็นคู่มือที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนโลจิสติกส์และซัพพลายเชน
ในแต่ละกิจกรรม รวมทั้งการใช้วางแผนกลยุทธ์ และแผนการลดต้นทุนโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของทั้งองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งผู้ประกอบการสามารถสร้างระบบบริหารต้นทุน, จัดทำงบประมาณ และวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์และซัพพลายเชนให้เหมาะสมกับกิจการ ได้โดยง่าย
3. คู่มือแนะนำแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพของบริการด้านโลจิสติสก์สำหรับ SMEs
เป็นคู่มือแนะนำแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพของบริการด้านโลจิสติกส์ ให้แก่เจ้าของกิจการ และผู้บริหารของผู้ประกอบการ SMEs โดยต้องเป็นคู่มือที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้วางแผนและดำเนินการสร้างความเข้าใจ ความต้องการของลูกค้า และปรับปรุงคุณภาพของบริการด้านโลจิสติกส์ ให้เหมาะสมกับ สินค้า ลูกค้า สภาพการแข่งขัน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของตนเองได้อย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ
4. คู่มือวินิจฉัยความสามารถทางด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการธุรกิจ
เป็นคู่มือวินิจฉัยความสามารถทาง Logistics หรือ Logistics Scorecard ที่มีความเหมาะสมกับผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ในสาขาต่างๆ ตลอดจนคู่มือในการใช้งาน Logistics Scorecard นั้น ซึ่งเป็นคู่มือฯที่มีความเรียบง่ายในการใช้งานในระดับที่ผู้ประกอบการ SMEs สามารถนำไปทำการวินิจฉัยได้ด้วยตนเองได้ ซึ่งคู่มือฯ นี้ มี 2 ระดับ ได้แก่ ระดับเบื้องต้น (Basic) และ ระดับก้าวหน้า (Advance)
นอกจากนี้ ทางโครงการฯ มีนโยบายจัดทำเว็บไซต์สำหรับโครงการพัฒนาขีดความสามารถ SMEs ด้านโลจิสติกส์ โดยใช้ชื่อ FTILogistics.com มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งศึกษา, ค้นคว้า, และเผยแพร่ความรู้ ข้อมูล ข่าวสารด้านโลจิสติกส์ให้แก่สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น, สถาบันการศึกษา, ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ซึ่งภายในเว็บไซต์ประกอบด้วยข้อมูลด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ งานวิจัย (Research), บทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Analysis), กรณีศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศ (Case Study), แนวทางปฏิบัติดีเด่น (Best Practice), บทความด้านโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งกลยุทธ์และเทคนิคในการพัฒนาโลจิสติกส์ขององค์กร
ทั้งนี้ยังมีข่าวสารด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ กิจกรรมการอบรมด้านโลจิสติกส์, ข่าวสารความเคลื่อนไหวในวงการ ทั้งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันเป็น Solution ด้านโลจิสติกส์, เนื้อหาหลักสูตรการอบรมโลจิสติกส์, คู่มือแนะนำแนวทางด้านโลจิสติกส์, บทความ และเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการบริหารจัดการโลจิสติกส์อีกมากมาย ซึ่งท่านสามารถดาวน์โหลดข้อมูล ข่าวสารเหล่านี้ เพื่อนำไปศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างความเข้าใจและความตระหนัก (Awareness) ถึงความสำคัญของโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ทำไปปฏิบัติได้ อันเป็นการพัฒนาขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ให้แก่สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น, สถาบันการศึกษา, ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ต่อไปในอนาคต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1012-3 โทรสาร 0-2345-1295-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ