กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--คต.
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าคณะกรรมาธิการด้านอุตสาหกรรม ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง An Integrated Industrial Policy for the Globalisation Era Putting Competitiveness and Sustainability at Center Stage กำหนดแผนงานภายใต้นโยบายการค้าฉบับใหม่ของ EU โดยให้ความสำคัญต่อการสร้างกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศในการค้าสินค้า บริการ เทคโนโลยีใหม่ ๆ และการค้าวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่ม รวมทั้งช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
๑. ส่งเสริมให้เปิดเสรีการค้าทั้งระดับพหุภาคีและทวิภาคี ลดต้นทุนด้านการขนส่งและการสื่อสารเพื่อช่วยให้ตลาดโลกตื่นตัวและตลาดใหม่ของยุโรปขยายตัว
๒. สร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตขึ้น จะไม่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อส่งเสริมการส่งออกแต่กีดกันการนำเข้า โดย EU จะติดตามอย่างใกล้ชิดและใช้มาตรการตอบโต้ที่เหมาะสม
๓. ใช้กลยุทธการเข้าสู่ตลาด (Market Access Strategy) ของ EU เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าโดยเน้นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การจำกัดการส่งออกวัตถุดิบฯลฯ
๔. ใช้เครื่องมือปกป้องการค้า (Trade Defence Instruments) จากการค้าที่ไม่เป็นธรรม และสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
๕. ขยายขอบเขตและเสริมสร้างมาตรฐานการค้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก global value chains และกฎเกณฑ์การค้าพหุภาคีที่มีอยู่ เพื่อพัฒนาสู่ตลาดโลก
๖. สร้างกฎเกณฑ์และมาตรฐานโลกสำหรับสินค้า บริการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สินค้าประหยัดพลังงาน สินค้าที่นำไปปรับใช้ใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับกฎเกณฑ์และมาตรฐานโลกให้สอดคล้องกันมากที่สุด
๗. จะเสนอให้ขยายขอบเขตเกี่ยวกับกฎระเบียบการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability requirements) การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าที่นำเข้า รวมทั้งที่ผลิตใน EU แล้วส่งออกไปประเทศคู่ค้าด้วย
๘. สนับสนุนการรวมตัวด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้ European Neighbourhood Policy ซึ่งจะเพิ่มความได้เปรียบให้ทั้งสองฝ่าย เพื่อเสริมสร้างการค้าและการลงทุน
๙. การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและให้การสนับสนุน SME ในตลาดนอก EU จะช่วยให้ SMEs ขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น จะแก้ปัญหาการไต่สวน AD ต่อ SMEs ทั้งในฐานะผู้ใช้ ผู้ร้องเรียน และผู้ส่งออก
๑๐. การเข้าถึงวัตถุดิบจะใช้มาตรการผลักดันให้มีกฎเกณฑ์และความตกลงเรื่อง Sustainable international management and access to raw materials ในระดับพหุภาคี รวมทั้งกำหนดนโยบายที่จะแก้ปัญหาการจำกัดการส่งออก และข้อจำกัดที่ไม่จำเป็นในเรื่องการสำรวจและการขุดเจาะของประเทศนอก EU โดยเฉพาะประเทศที่เป็น strategic partner และอัฟริกา รวมถึงการผลักดันให้มีการใช้กฎเกณฑ์เรื่องการแข่งขันอย่างเคร่งครัดในกรณีมีความตกลงเรื่องการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมหรือมีการผูกขาด และส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงวัตถุดิบของ EU
นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากแผนงานดังกล่าวของ EU ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวและเตรียมความพร้อมต่อกฎระเบียบและมาตรการใหม่ๆที่ EU อาจกำหนดขึ้น ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสืบค้นรายละเอียดของรายงานดังกล่าวได้จากเว็บไซต์ http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?