โค้งสุดท้ายโอลิมปิกวิชาการ 2550 กับการชิงชัยคอมพิวเตอร์โอลิมปิกที่โครเอเซีย เปิดใจผู้แทนประเทศไทยและหัวหน้าทีมก่อนไปแข่งขัน

ข่าวเทคโนโลยี Monday August 6, 2007 12:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--สสวท.
โค้งสุดท้ายของการแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ 5 สาขาวิชา ในเดือนกรกฎาคม — สิงหาคมปีนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย วิชา คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยาฟิสิกส์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งยังเหลือวิชาคอมพิวเตอร์เป็นวิชาที่จัดแข่งขันในช่วงสุดท้ายนี้ให้ชาวไทยได้ร่วมลุ้นและให้กำลังใจกัน
การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก จัดขึ้นวันที่ 15-22 สิงหาคม 2550 ณ กรุงซาเกรบ ประเทศโครเอเซีย เที่ยวบินวันเดินทางไป TG 924 วันที่ 13 ส.ค. 2550 เวลา 12.50 น. โดยมีผู้แทนประเทศไทย จำนวน 4 คน ไปร่วมการแข่งขัน ได้แก่ นางสาวพิชญา โพธิลิ้มธนา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นายภูมิชนิตย์ วัฒนะประกรณ์กุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เด็กหญิงทักษพร กิตติอัครเสถียร โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายมัธยม) และนายธนะ วัฒนวารุณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ในส่วนของอาจารย์ผู้ควบคุมทีมงาน ได้แก่ หัวหน้าทีม ผศ. ดร. พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รองหัวหน้าทีม ผศ. ดร. จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยหัวหน้าทีม ผศ. ดร. พีรวัฒน์ วัฒนพงษ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้จัดการทีม นางสาวจีระพร สังขเวทัย สสวท.
ผศ.ดร.พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าทีมนำเด็กไทยไปแข่งคอมพิวเตอร์โอลิมปิก กล่าวว่า วิชาคอมพิวเตอร์ไม่ใช่วิชาหลักในโอเน็ตและเอเน็ตเหมือนโอลิมปิกวิชาอื่นๆ แต่ถึงแม้จะมีโรงเรียนกวดวิชาทางสาขา กิจกรรมในค่ายโอลิมปิกวิชาการที่จัดให้นักเรียนก่อนไปแข่งนั้นก็คงไม่เหมือนกันอยู่ดี เพราะการอบรมไม่ได้เน้นการอัดความรู้เข้าหัวหรือสอน เทคนิคตามแบบที่โรงเรียนกวดวิชาทำ โดยเราจะเน้นการสร้างประสบการณ์และความเชื่อมั่นในการแข่งขันเป็นหลัก
เนื้อหาที่การสอนในโรงเรียนเพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะช่วยให้เอาชนะการแข่งขันระดับนานาชาติได้ การอบรมเนื้อหาหลัก ๆ จะอยู่ในค่ายอบรมช่วงเดือนตุลาคมและมีนาคม ซึ่งเนื้อหาจะอยู่ในระดับปริญญาตรีสาขาคอมพิวเตอร์และหลังจากนั้นจะเน้นที่การสร้างประสบการณ์การแข่งขันเป็นหลัก ส่วนการเตรียมทีมในแต่ละปีไม่เหมือนกัน ต่างกันตรงเนื้อหา เพราะรูปแบบของโจทย์มีพัฒนาการ เราไม่สามารถใช้ความรู้เดิมในการติวได้ จึงจำเป็นต้องให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการเปิดโลกทัศน์ในการแก้ปัญหาที่ไม่ใช่แนวที่เคยพบมาก่อน
“แม้ว่าสิ่งสำคัญของการแข่งขันคือเหรียญรางวัล แต่ทีมผู้สอนมองภาพการเรียนคอมพิวเตอร์โดยรวมของประเทศเป็นสำคัญ เราเลือกผู้แทนสี่คนจากจำนวนนักเรียนที่สนใจทั้งหมดพันกว่าคน เทียบกับประเทศจนที่เลือกผู้แทนจากเจ็ดหมื่นคน ปัจจุบันนักเรียนที่สนใจสาขาคอมพิวเตอร์มีจำนวนต่ำกว่าสาขาอื่นราวๆ ห้าเท่า ที่จริงสาขานี้เป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อตลาดแรงงานสูงกว่าสาขาอื่น แต่ในวัยของนักเรียนจะสนใจโอเน็ตและเอเน็ตเป็นหลัก แม้เราเพิ่มแรงจูงใจให้นักเรียนที่มีศักยภาพในด้านนี้จริงๆ โดยให้นักเรียนที่เข้ารอบอบรมเดือนตุลาคมได้โควต้าในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ได้เพิ่มนักเรียนในระดับฐานมากนัก การเพิ่มครูจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากกว่าในการที่เราจะได้นักเรียนที่มีศักยภาพให้เราเลือกในการเป็นผู้แทนมากขึ้น และน่าจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศโดยภาพรวม”
อาจารย์หัวหน้าทีมกล่าวถึงผู้แทนประเทศไทยที่จะเดินทางไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกว่า
ทีมเราเมื่อเปรียบเทียบกับทีมอื่นๆที่เข้าแข่งขันถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เรามั่นใจว่านักเรียนในรอบสุดท้ายก่อนคัดผู้แทนมีศักยภาพในการได้เหรียญรางวัลกันทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องดีถ้ามองเรื่องมาตรฐานของทีม แต่ถ้ามองภาพรวมของประเทศแล้วแรงงานด้านคอมพิวเตอร์ยังขาดเป็นอย่างมาก กิจกรรมโอลิมปิกวิชาการจึงเป็นแนวทางกระตุ้นได้ส่วนหนึ่ง เราจึงควรมองผลลัพธ์ที่ควรจะมีจากกิจกรรมนี้และกระบวนสร้างคนโดยภาพรวมมากขึ้น
ผู้แทนประเทศไทยทั้ง 4 คน ได้เปิดใจก่อนไปแข่งขัน ดังนี้
ทำไมถึงตัดสินใจเข้าโครงการโอลิมปิก
พิชญา : เพราะโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์สนับสนุนให้นักเรียนเข้าโครงการโอลิมปิกวิชาการ ทั้ง สอวน. (โรงเรียนเป็นศูนย์ สอวน. ในปีที่หนูเข้า) และ สสวท. และหนูคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ความรู้ใหม่ ๆ และเป็นประโยชน์ด้วยค่ะ
ภูมิชนิตย์ : เพื่อสนองตอบความอยากรู้อยากเห็นของตนเอง (ฮาๆ)
ทักษพร : อยากได้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม และใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมให้มีประโยชน์
ธนะ : ผมตัดสินใจเข้าโครงการโอลิมปิก โดยในช่วงแรกไม่ได้คาดหวังจะเป็นตัวแทนประเทศไทยฯ เพียงแต่ต้องการพัฒนาความรู้และความสามารถของตนเอง ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้เป็นประโยชน์ และอยากทำกิจกรรมในสิ่งที่ตนเองชอบ
ชอบเรียนวิชาอะไรมากที่สุด เพราะอะไร ทำไมถึงเลือกโอลิมปิกวิชานี้
พิชญา : ชอบเรียนคณิตศาสตร์และเขียนโปรแกรม เพราะเป็นวิชาที่ใช้การคิดวิเคราะห์คำนวณ ไม่ต้องใช้การท่องจำมากนัก หนูเลือกเข้าโอลิมปิกคอมพิวเตอร์เนื่องจากรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ท้าทาย น่าสนุกในการแก้ปัญหาต่าง ๆ
ภูมิชนิตย์ : ไม่ชอบเรียน(แบบนั่งเรียน) แต่ชอบเรียนรู้(เราทำอะไรของเราเอง ครูดูเราเฉยๆ) เพราะทำให้เรารู้สึกมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกกีดกันทางความคิดว่าต้องเชื่อไปตามแนวทางที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ที่เลือกโอลิมปิกวิชานี้ก็เพราะ โอลิมปิกวิชานี้สำคัญที่การคิดของเราเอง ไม่ต้องนั่งเรียนมาก
ทักษพร : ชอบเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ เพราะ ชอบเล่นเกม ทำให้สนใจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และได้เห็นประโยชน์มากมายของวิชาคอมพิวเตอร์ จึงอยากเขียนโปรแกรมเป็น
ธนะ : ผมเลือกโอลิมปิกวิชาคอมพิวเตอร์ โดยมีความชอบวิชาคอมพิวเตอร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สาเหตุเพราะมีความสนใจคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก เป็นวิชาที่เห็นผล เห็นประโยชน์ของวิชาในชีวิตประจำวันได้ชัดเจนมากที่สุด เพราะเน้นการปฏิบัติ เมื่อเราสร้างสรรค์ผลงานจากคอมพิวเตอร์ขึ้นมาได้ชิ้นหนึ่งก็ทำให้เรารู้สึกมีความสุข และสร้างสรรค์ได้ไม่ยากด้วย
ประสบการณ์ที่ได้จากโครงการโอลิมปิกครั้งนี้ คิดว่าได้อะไรกลับไปบ้าง
พิชญา : ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการเรียนในอนาคต อาชีพ หนูจะเรียนต่อในสาขา Computer Science ซึ่งเนื้อหาที่เรียนในค่ายก็เป็นเนื้อหาจากสาขานี้เช่นกัน ได้การควบคุมสติ สมาธิในการสอบ เราต้องรู้จักควบคุมสติให้จดจ่อกับสิ่งที่เราทำอยู่ ความรอบคอบเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะถึงแม้เราจะคิดออก แต่ถ้าไม่รอบคอบแล้ว ก็อาจจะทำให้เราไม่ได้คะแนนเลย ได้รู้จักเพื่อน ๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกัน มีปัญหาอะไรก็ถามได้
ภูมิชนิตย์ : ได้พบคนที่มีความสามารถในศาสตร์หลากหลายต่างๆกัน เป็นที่ปรึกษาได้อย่างดี
พบคนที่สนใจสายงานเดียวกัน จับกลุ่มร่วมมือกันทำงานได้ ได้สัมผัสแนวคิดใหม่ๆที่หลายหลาย (และแปลกประหลาด) เกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางคอมพิวเตอร์ ได้วิธีการคิดใหม่(แบบแปลกๆ)
ทักษพร : ได้ความรู้การเขียนโปรแกรมอย่างมาก ได้รู้จักอาจารย์และเพื่อนดีๆ และทำให้มีสมาธิมากขึ้น
ธนะ : ประสบการณ์ที่ได้จากโอลิมปิกครั้งนี้มีหลายด้าน สิ่งที่ได้อย่างแน่นอน ก็คือความรู้ที่ไม่สามารถหาได้ในห้องเรียนทั่วไป ทำให้ผมได้ค้นพบตัวเอง ว่ามีความสนใจในด้านคอมพิวเตอร์จริงๆ นอกจากนี้แล้วยังทำให้ผมได้พบเพื่อนๆ พี่ๆ ที่สนใจในเรื่องเดียวกัน สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กันได้อีกด้วย
ระหว่างแลป กับทฤษฎี ชอบส่วนไหนมากกว่ากัน
พิชญา : ในวิชาคอมพิวเตอร์ แลปก็คงเป็นการเขียนโปรแกรม ทฤษฎีคือความรู้พื้นฐานในการเขียนโปรแกรม ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกเป็นการเขียนโปรแกรมอย่างเดียว ไม่มีข้อเขียน แต่ถ้าจะถามว่าชอบเขียนโปรแกรมหรือข้อเขียนมากกว่ากัน ก็คงจะเป็นเขียนโปรแกรม เพราะเป็นการนำความรู้ทฤษฎีทั้งหมดที่เรามีมาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาที่เราได้รับมา และได้ผลลัพท์ออกมาเป็นรูปธรรม
ภูมิชนิตย์ : Lab วิชานี้มองดูคล้ายๆงานเครื่องจักร โปรแกรมที่เขียนใน Lab มีพร้อมอยู่แล้วเป็นภาษามนุษย์ (หรือภาษาคณิตศาสตร์) อยู่ในสมอง(หรืออยู่ในกระดาษทด) อยู่แล้ว การเขียนโปรแกรมในlab เป็นแค่การแปลภาษาที่คนเข้าใจง่ายแต่เครื่องคอมไม่เข้าใจ มาเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ ผมจึงไม่สนุกกับมันเท่าไหร่ สิ่งที่ชอบคือทฤษฎีที่ต้องคิดออกมาเป็นฐานการเขียนโปรแกรมที่ซับซ้อน และมีความหมายมากกว่านั้น
ทักษพร : ชอบ Lab (กรณีนี้คือการเขียนโปรแกรม) เพราะว่า ระหว่างทำโจทย์ได้ใช้ความคิด วิเคราะห์และได้ฝึกเขียนโปรแกรมหลายๆวิธี
ธนะ : ชอบแลป (เขียนโปรแกรม) มากกว่า ผมชอบอะไรที่เห็นภาพและจับต้องได้ มากกว่าทฤษฎีที่กล่าวขึ้นมาลอยๆ ไม่ค่อยเห็นประโยชน์อะไร
งานอดิเรกที่ทำ เล่นกีฬาหรือเปล่า เวลาว่างทำอะไร
พิชญา : งานอดิเรก ได้แก่ เล่นเปียโน ร้องเพลง วาดรูปสีน้ำ/สีน้ำมัน กีฬาที่ชอบ ได้แก่ แบตมินตัน
เทเบิ้ลเทนนิส วอลเลย์บอล บาสเกตบอล
ภูมิชนิตย์ : ปกติจะเล่นเปียโน แต่เปียโนหนัก เวลาไม่อยู่บ้านก็แบกมาเล่นไม่ได้ เมื่อเข้าค่ายเลยเล่นกีฬา อย่างเช่นปิงปอง แบดมินตันแทน
ทักษพร : ถ้ามีเวลาว่างก็ อ่านหนังสือ เล่นเกมบ้าง บางทีก็เล่นแบดมินตัน
ธนะ : ปกติก็จะอยู่กับคอมพิวเตอร์ ทั้งเขียนโปรแกรมบ้าง เล่นเกมบ้าง นอกจากนี้ก็ยังชอบฟังเพลง อ่านหนังสือสบายๆ ผมไม่ค่อยเล่นกีฬา นานๆ ครั้งจะออกไปเล่นกับเพื่อนๆ
ครอบครัวมีส่วนทำให้เรียนดีด้วยหรือเปล่า ผลักดันส่งเสริมอย่างไร
พิชญา : มีส่วนอย่างมากเลยค่ะ คุณพ่อกับคุณแม่เป็นคนที่ปลูกฝังให้หนูเป็นคนที่มีวินัยในตนเอง รู้เวลา เช่น เวลาเรียนก็ตั้งใจเรียน เวลาว่างก็ทำกิจกรรมอย่างอื่น นอกจากนี้ พ่อกับแม่ไม่เคยบังคับความคิดของหนู จะได้อะไรก็ได้ แค่เพียงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ภูมิชนิตย์ : ผมโชคดีที่ครอบครับของผมมีความพร้อม ทำให้ผมมีโอกาส มีเวลาทุ่มเทกับการเรียนของผมได้เต็มที่ ไม่ต้องกังวลถึงภาระของครอบครัว นอกจากนี้ครอบครัวยังจัดคอมพิวเตอร์และเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีข้อมูลจำนวน เกินขอบเขตที่ผมต้องเรียนรู้ และเกินกว่าที่คนคนหนึ่งสามารถเรียนรู้ได้หมด เท่านี้ก็นับว่าเปิดโอกาสให้ผมพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่แล้ว
ทักษพร : มีส่วน โดยการให้กำลังใจ และให้คำแนะนำเวลามีปัญหา
ธนะ : ถึงแม้ครอบครัวจะไม่ได้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้คอมพิวเตอร์ให้ผมโดยตรง แต่ก็คอยส่งเสริมให้ได้เรียนหนังสืออย่างเต็มที่ รวมไปถึงการฝึกฝนทำโจทย์ คอยจัดหาหนังสือเพื่อให้ศึกษาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
มีวิธีเรียนอย่างไรให้เก่งและสนุก
พิชญา : รักในสิ่งที่เรียน ต้องเรียนเพื่ออยากรู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อการสอบ
ภูมิชนิตย์ : ทำตัวเองให้อยากเรียน ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าลงเรียนวิชานั้น
ทักษพร : ไม่เครียดกับการเรียน แต่ตั้งใจเรียนเวลาอาจารย์สอน ถ้าไม่เข้าใจก็ถาม เพื่อนๆก็น่ารักให้ความช่วยเหลือตลอด
ธนะ : ตัวผมจะไม่กดดันตัวเองให้ต้องทุ่มเทอ่านหนังสืออย่างหนัก เรียนพิเศษอย่างหนัก เพื่อให้ได้เกรด 4.00 แต่ผมจะปล่อยให้ตัวเองสบายๆ เพียงแต่ตั้งใจเรียนในห้อง และอ่านหนังสือเมื่อมีเวลาว่าง ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองเครียด
หนังสือที่ชอบอ่าน อ่านแนวไหนบ้าง
พิชญา : ชอบอ่านหนังสือวรรณกรรมเยาวชน นิยาย เรื่องที่ชอบมากที่สุดคือเรื่องส้มสีม่วง ของดาวกระจาย หนังสือประเภทนี้ทำให้เราสนุกสนาน ผ่อนคลายอยู่แล้ว และเรื่องนี้ทำให้หนูชอบมาก เพราะผู้แต่งเป็นคนที่มีจินตนาการสูงมาก และถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องเป็นราวได้อย่างดี
ภูมิชนิตย์ : ตอนเด็กๆ อ่านการ์ตูน โตหน่อยอ่านนิยาย อย่างเช่น สถาบันสถาปนา (The Foundation) แต่ตอนนี้แทบไม่ได้อ่านหนังสือเล่มๆเลย อ่านจากจอคอมพิวเตอร์ตลอด เป็นเกร็ดความรู้ทั่วไป หรือเรื่องทางคอมพิวเตอร์
ทักษพร : ชอบอ่านนิยายแฟนตาซีโดยส่วนใหญ่ หนังสือที่ชอบเป็นพิเศษคือเรื่อง Watership Down ของ Richard Adams เพราะว่าเป็นเรื่องที่สนุกสนาน มีเนื้อหาสะท้อนพฤติกรรมของมนุษย์
ธนะ : ผมเป็นคนที่อ่านนวนิยายค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะอ่านหนังสือจำพวกเบาสมองมากกว่า เพราะเราเรียนหนังสือก็ใช้สมองมากพอแล้ว อ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลายจะดีกว่า (ไม่มีหนังสือที่ชอบเป็นพิเศษ)
ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิต เป้าหมายในอนาคต
พิชญา : หนูอยากจะคิดองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติและโลกของเรา มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก แต่หนูก็จะพยายามไปให้ถึงฝันและทำให้ดีที่สุด ถึงแม้หนูจะไม่รู้ว่าเป็นไปได้หรือเปล่า สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือทำให้พ่อแม่ภูมิในใจตัวเรา
ภูมิชนิตย์ -ไม่บอก-
ทักษพร : มีความสุข ประสบความสำเร็จด้านการงาน และสามารถช่วยเหลือสังคมได้
ธนะ -ไม่บอก-
รางวัล/ผลงานที่ภาคภูมิใจ
พิชญา : ได้รางวัลเหรียญทองแดงจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ ปี 2549 ได้รับคัดเลือกเป็นเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ปี 2549 สาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นคณะกรรมการนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ภูมิชนิตย์ - (ทำอะไรมาก็ภูมิใจหมด...)
ทักษพร : ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก
ธนะ -ไม่บอก-
คุณครูในดวงใจ
พิชญา : อาจารย์จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์เป็นคนที่เก่งมากในด้านอัลกอริทึม (ขั้นตอนและกระบวนการแก้ปัญหา) และทุ่มเทให้กับการสอน อาจารยืเสียสละเวลามาถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนโอลิมปิกวิชาการทุกค่าย (อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
อาจารย์เลาขวัญ งามประสิทธิ์ เป็นอาจารย์คนแรกที่สอนให้หนูรู้จักการเขียนโปรแกรม จนทำให้หนูเขียนโปรแกรมได้อย่างทุกวันนี้ การสอนของอาจารย์ทำให้หนูชอบวิชานี้มาก ๆ (อาจารย์วิชาคอมพิวเตอร์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์)
ภูมิชนิตย์ : ครูดีมีมาก (ถ้าใส่ชื่อใส่เบอร์คงล้น...)
ทักษพร : อาจารย์ทุกท่านที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และอาจารย์ค่าย ทั้งสอวน.และ สสวท. เพราะว่าให้ความรู้และช่วยสนับสนุนมาตลอด
ธนะ -ไม่บอก-
รู้สึกอย่างไรที่ได้เป็นผู้แทนประเทศไทย กดดันไหม
พิชญา : รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก ถึงแม้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่สองของหนู การได้เป็นผู้แทนประเทศไทย เป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ หนูรู้สึกกดดันมาก แต่หนูก็จะทำให้ให้สบาย เพราะการทำให้ดีที่สุด เท่าที่เราทำได้ก้เพียงพอแล้ว ความกดดันจะทำให้จิตใจเราแย่ลง
ภูมิชนิตย์ : กดดันบ้าง แต่ทุกคนก็พยายามลดความกดดันของเราลง
ทักษพร : รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้รับคัดเลือก ก็ กดดันบ้างเพราะการแข่งโอลิมปิกวิชาการไม่ง่ายเลย
ธนะ : รู้สึกกดดันเล็กน้อย เพราะไม่แน่ใจว่าจะทำได้ดีเท่าที่ผู้อื่นหวังไว้หรือไม่ แต่ก็คิดว่า เราจะพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เป็นตัวของเราเอง
มีการเตรียมตัวเตรียมใจก่อนไปแข่งโอลิมปิกวิชาการที่ต่างประเทศอย่างไรบ้าง
พิชญา : หนูต้องเข้าค่ายอบรมเข้มก่อนไปแข่งทุกอาทิตย์ นอกจากนี้ก็ต้องฝึกเขียนโปรแกรมด้วยตนเองที่บ้าน ทุก ๆคน โดยเฉพาะพ่อแม่ พี่ อาจารย์ เพื่อน ๆ คอยเป็นกำลังใจให้เสมอ
ภูมิชนิตย์ : เข้าค่าย ทำโจทย์ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ทักษพร : ทำโจทย์ต่างๆ บ้าง ทำใจให้ไม่เครียด
ธนะ : ก็แบ่งเวลามาทำโจทย์บ้าง อ่านหนังสือทบทวนบ้าง และเตรียมตัวในค่ายอบรมเข้ม
ความมั่นใจในการแข่งขันตั้งเป้าเอาไว้ไหมว่าจะต้องคว้ารางวัลอะไรกลับมาบ้าง
พิชญา : หนูไม่อยากตั้งเป้าหมายเอาไว้ เพราะไม่อยากกดดันตัวเอง แต่มีแรงบันดาลใจที่จะทำให้ไปให้ถึงฝัน โดยการทำให้สุดความสามารถ ทำให้ดีที่สุดอย่างที่ทำได้
ภูมิชนิตย์ : มั่นใจว่าไม่แย่ไปกว่าปีที่แล้วแน่นอน
ทักษพร : ก็ไม่มั่นใจมาก แต่ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด
ธนะ : ก็มีความมั่นใจพอสมควร ส่วนเป้าหมายนั้น พยายามไม่ตั้งไว้สูงมาก คาดว่าได้แค่เหรียญทองแดงก็ดีใจแล้ว
ความคาดหวังของโรงเรียน ของครอบครัวที่มีต่อการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการที่ต่างประเทศ
พิชญา : ทุกคนก็คงอยากให้หนูรับรางวัลกลับมา แต่พ่อกับแม่พูดกับหนูเสมอว่าการได้เป็นผู้แทนประเทศไทยก็เป็นความภาคภูมิใจยิ่งใหญ่มาก ๆ จะได้รางวัลหรือไม่ได้ก็ไม่เป็นอะไร ในเมื่อเราทำดีที่สุดแล้ว
ภูมิชนิตย์ : ถามครอบครัว ทุกคนก็จะยิ้มๆ แล้วหัวเราะ ส่วนโรงเรียนยังไม่ได้ถาม
ทักษพร : คาดหวังให้ทำให้ดีที่สุด เพื่อประเทศไทย
ธนะ : คนรอบข้างก็คงอยากให้เราได้เหรียญทองเป็นของธรรมดา แต่ผมจะพยายามไม่กดดันตัวเอง เพราะการกดดันตัวเองด้วยเป้าหมาย มักจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
จะรับทุนโอลิมปิกวิชาการไปเรียนตรี-โท-เอก ตปท. หรือเปล่า
พิชญา : รับทุนค่ะ จะเรียนคณะวิทยาศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นด้านที่ชอบและถนัดด้วยค่ะ
ภูมิชนิตย์ : ไม่รับ รับทุนเล่าเรียนหลวง
ทักษพร : ตอนนี้กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเรียนต่ออยู่ ยังไม่ได้ตัดสินใจ
ธนะ : คิดว่าจะรับทุน เรียนต่อวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่า คอมพิวเตอร์นี่แหละคือตัวเรา เราสามารถเรียนได้ดี และชอบมันด้วย
อื่น ๆ ที่อยากฝากไปถึงเยาวชนไทย และประชาชนที่ติดตามข่าวโอลิมปิกวิชาการ
พิชญา : ขอขอบคุณที่ติดตามข่าวโอลิมปิกวิชาการ และเป็นกำลังใจให้กับพวกหนูทุก ๆคนค่ะ
ภูมิชนิตย์ : ความรู้ของนักเรียนโอลิมปิกวิชาการทุกคนเริ่มจากศูนย์ ผมเคยสอบคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนได้ 65% เมื่อเราพร้อม ครอบครัว อาจารย์และเพื่อนๆก็ทำให้เราพัฒนาขึ้นเอง ดังนั้นทุกคนจึงไม่ควรที่จะดูถูกตนเองว่าทำไม่ได้
ทักษพร : อยากให้เยาวชนและประชาชนเห็นประโยชน์ของโครงการโอลิมปิก ว่าไม่ใช่แค่ทำชื่อเสียงให้ประเทศ แต่จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในอนาคต
ธนะ : การเรียน ทั้งในระดับโอลิมปิกวิชาการ และในโรงเรียน การตั้งใจเรียนในห้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หมั่นทบทวนเป็นระยะ การกวดวิชาหรืออ่านหนังสือหักโหมเกินไป ไม่ช่วยให้เราได้พัฒนาความรู้ได้มากเท่าที่ควร เอาเวลามาทำงานอดิเรก ผ่อนคลายบ้าง จะช่วยให้เรียนหนังสือได้อย่างมีความสุข
อยากให้รัฐบาลทำอะไรบ้างเกี่ยวกับโครงการโอลิมปิกวิชาการ การศึกษาวิทยาศาสตร์ และการพัฒนาวิทยาศาสตร์
พิชญา : อยากให้รัฐบาลสนับสนุนการเรียนวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมากกว่านี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักเรียนเรียนในสาขานี้มากขึ้น เพราะการเรียนวิทยาศาสตร์ เป็นการทำให้ประเทศของเราได้พัฒนาไปด้วย นอกจากนี้ควรจัดหาสถานที่วิจัยและทุนวิจัย สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่จบออกมาด้วย
ภูมิชนิตย์ : ผมไม่ค่อยเห็นด้วย ที่นักเรียนสายวิทย์ต้องเรียนวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนงตลอดจนจบมัธยมปลาย เพราะดูเหมือนเป็นการจับทุกอย่าง บางครั้งจับติดทุกอย่างก็ดีไป แต่บางครั้งจะจับไม่ติดสักอย่าง สายที่เรียนแล้วได้ใช้ก็ติดตัวผู้เรียนไป แต่บางสายสอบเสร็จแล้วก็คืนความรู้แก่ครูผู้ให้ ผมเชื่อว่าการเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกโดยมีเงื่อนไขกำกับ และมีครู-ผู้ปกครองดูแลน่าจะดีกว่า แต่ทางอาจารย์ รัฐบาลอาจมีเหตุผลที่จัดการศึกษาอย่างนี้ก็ได้
ทักษพร : ให้ความสำคัญกับโครงการโอลิมปิกวิชาการเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีการพัฒนาการเรียนการสอนและที่สำคัญคือการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก คือคิดเองเป็น จินตนาการได้ , ส่งเสริมสนับสนุนคนและองค์กรต่างๆทีมีส่วนสำคัญในการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนและสังคมไทย ส่งเสริมให้มีการพัฒนาและวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนให้มากยิ่งขึ้น
ธนะ : การส่งเสริมนักเรียนให้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ หากให้นักเรียนได้ฝึกฝน พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการปฏิบัติจริงอย่างเต็มที่ จะทำให้นักเรียนเห็นภาพจริง และทำให้การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ง่ายและเข้าใจมากขึ้น
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ