กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ในเดือนหนึ่งๆ แต่ละบ้านต้องควักเงินในกระเป๋าเพื่อจ่ายค่าไฟฟ้าที่ยิ่งใช้มาก ก็ต้องจ่ายมาก ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแต่ละประเภทกินไฟมากน้อยแตกต่างกัน และจะมีสักกี่บ้านที่รู้ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านที่ใช้อยู่แต่ละชนิดนั้น กินไฟมากหรือน้อย
หากมีวิธีการ หรือเครื่องมือในการคำนวณเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้นได้เพื่อรับทราบอุปกรณ์เครื่องใช้แต่ละชิ้นกินไฟกี่วัตต์ คงดีไม่น้อย …!! เพื่อเป็นตัวนำทางให้ทุกครัวเรือนเข้าใจการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้น เพื่อประชาชนจะลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้ถูกทางมากยิ่งขึ้น
ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จึงคิดค้นนวัตกรรมใหม่ “โปรแกรมคำนวณค่าไฟฟ้า” ไม่ถึง 5 นาทีจะทราบผลกำลังไฟของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้นว่าถูกใช้ไปกี่วัตต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใดกินไฟสูง และสรุปผลเป็นจำนวนเงินที่ผู้ใช้ไฟต้องจ่าย อันส่งผลดีต่อการควบคุมการใช้ไฟฟ้าต่อครัวเรือน สามารถวางแผนประหยัดค่าไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง สอดรับนโยบายรัฐบาลที่ให้คนไทยรู้จักประหยัดพลังงาน
ผศ.ดร.นิตย์ เพ็ชรรักษ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงที่มาของโปรแกรมคำนวณค่าไฟฟ้า ว่า เนื่องจากค่าไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นแบบอัตราก้าวหน้า ถ้ายิ่งใช้มาก ค่าไฟฟ้ายิ่งสูงขึ้น ยังมีผู้ใช้ไฟอยู่จำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้นกินไฟกี่วัตต์ และไม่ทราบสัดส่วนของค่าไฟที่เกิดจากอุปกรณ์แต่ละชิ้น ทำให้ประชาชนที่พยายามลดการใช้ไฟฟ้าไม่ทราบว่ากิจกรรมที่ตนเองทำการประหยัดนั้นจะประสิทธิภาพในการลดค่าไฟได้จริงหรือไม่
ประเด็นดังกล่าว ทำให้นายศรชัย บัวแก้ว และนายจาตุรงค์ ปุริสาร นักศึกษาของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต คิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า “โปรแกรมสำเร็จรูปคำนวณค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทผู้อยู่อาศัย (Program for Electricity Bill Computation) “ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายพลังงาน ปีพ.ศ. 2550
โปรแกรมคำนวณค่าไฟฟ้าฟ้านี้ ต้องการให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็นและใช้อย่างประหยัด สามารถวางแผนการใช้ไฟฟ้าในระยะยาวได้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหน่วยงานรัฐรณรงค์ให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด และรู้จักคุณค่าของพลังงาน ซึ่งประชาชนก็ให้ความร่วมมืออย่างดี หากแต่ว่าผู้ใช้ไฟมีความรู้เรื่องการคิดค่าไฟฟ้า และค่าไฟฟ้าที่เกิดจากอุปกรณ์แต่ละชิ้น ผู้ใช้ไฟก็สามารถประมาณค่าไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง และรู้ว่าหากลดการใช้อุปกรณ์ชิ้นใดชิ้นหนึ่งจะเกิดการประหยัดค่าไฟเท่าใด นับว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น และวางแผนการประหยัดค่าไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง
ด้านการทำงานของโปรแกรมคำนวณค่าไฟฟ้า นายศรชัย บัวแก้ว นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อธิบายว่า อัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสำหรับประเภทบ้านอยู่อาศัยจะประกอบด้วย 4 ส่วนได้แก่ 1.ค่าบริการ (บาท/เดือน) 2.ค่าไฟฟ้าฐาน ที่คิดจากพลังงานไฟฟ้า (บาท/หน่วย) 3.ค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที (บาท/หน่วย) 4.ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นผู้รับภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคิดจากค่าไฟฟ้าฐานรวมกับค่าเอฟที
ค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยยังแบ่งออกเป็น ค่าบริการ ค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งค่าไฟฟ้ารวมจะได้มาจากค่าต่างๆ เหล่านี้ทั้งสามส่วนนำมาคิดรวมกันแล้วทำการคำนวณ โดยใช้โปรแกรมคำนวณไฟฟ้าดังกล่าวประมวลผลออกมารับทราบค่าใช้จ่าย ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีก็ทราบผล
ผู้ใช้ไฟทั่วไปสามารถคำนวณค่าไฟได้ด้วยตนเองจากโปรแกรมคำนวณค่าไฟฟ้า ที่ http://www.dpu.ac.th/eng/ee/cal/index.php อย่างไรก็ตามโปรแกรมดังกล่าวยังมีข้อจำกัด ตรงที่ว่า จะใช้คำนวณค่าไฟได้เฉพาะในครัวเรือนเท่านั้น ยังไม่สามารถคำนวณที่เป็นสถานประกอบการ หรือในภาคธุรกิจได้ โดยทีมนักศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ได้กำลังศึกษาข้อมูลและพัฒนาเพื่อใช้คิดคำนวณได้ในภาคธุรกิจ
นอกจากนี้แล้วโปรแกรมคำนวณค่าไฟในภาคครัวเรือน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก จึงอยู่ระหว่างการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างการรับรู้โปรแกรมดังกล่าวผ่านเครื่องมือการสื่อสารใหม่ๆ อย่าง Social Space ในเว็บไซต์ต่างๆ อาทิ www.pantip.com www.sanook.com www.kapook.com เป็นต้น เพื่อสร้างการรับรู้แบบไวรัล ให้ทุกคนเข้าถึงโปรแกรมคำนวณค่าไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย