กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--พีอาร์ 360 องศา
คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการไทยโชว์ เชิญสัมผัสความอลังการแห่งปี “วรนคร สัพพะนันทเภรี ศรีนครน่าน”โดยเด็กรุ่นใหม่หัวใจเข้มแข็ง “กลุ่มมิตรแก้วสหายคำวรนครร่วมกับโรงเรียนปัว”ด้วยโชว์ประวัติศาสตร์ที่เล่าความเป็นมาของ เมืองวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน อาทิ การแสดงชุด กลองคุมพระเจ้าน่าน มหาทานไหว้สาพระธาตุเจ้า, พุทธปูชาเภรี อัญชุลีทีปะส่องงาม, ย้ายปัวเขตคาม ล่องน่านสายธารา-ฟ้อนล่องน่าน,เปิ่งอั่งชื่นอุราหาญกล้าเชิงชายไทลื้อ และเลื่องลือตบมะผาบ สาวไหม เชิงเริงใจวงกลองเงี้ยว เป็นต้น... ในบรรยากาศบุญกฐินวัดป่าหัด ต้นหน้าหนาวทุ่งข้าวสีทองอร่าม ในรายการไทยโชว์ตอน “วรนคร สัพพะนันทเภรี ศรีนครน่าน” วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2553 เวลา 18.00 น. ทางทีวีไทย
“ที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน มีเด็กๆเยาวชนคนรุ่นใหม่เขารวมตัวกันตั้งกลุ่ม เพื่อสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและกิจกรรมเพื่อสังคม เขาใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มมิตรแก้วสหายคำวรนคร” โดยมีผู้ใหญ่ใจดีให้การสนับสนุนทั้งแรงกายแรงใจอย่างแข็งขัน โดยเจ้าอธิการเพทาย พรหมโชโต ท่านเจ้าอาวาสวัดป่าหัดฯร่วมกับโรงเรียนปัว อำเภอปัว ให้สถานที่ในการรวมตัว ประชุม ฝึกฝน ฝึกซ้อม พ่อครูแม่ครูในท้องถิ่นช่วยถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปการแสดงที่ทรงคุณค่า จนทำให้เด็กๆกลุ่มนี้มีขวัญและกำลังใจ ..เป็นกลุ่มที่แข็งแกร่ง จนสามารถเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะรวมตัวกันสร้างสรรค์งานศิลป์ในท้องถิ่นอื่นๆ ได้เป็นอย่างดีครับ” คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการไทยโชว์ เริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงโชว์ในครั้งนี้
“ช่วงเวลาที่ผมและรายการไทยโชว์ไปถ่ายทำที่อำเภอปัว หรือเดิมคือ เมืองวรนครนั้นเป็นช่วงต้นฤดูหนาวพอดี จึงมีภาพสวยๆสอดแทรกอยู่ในโชว์ และตรงกับวันบุญกฐินพอดี จึงได้มีโอกาสร่วมบุญใหญ่กับพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย ทำพระเจดีย์ข้าวสาร และข้าวเปลือก เป็นฉัตรเก้าชั้นสีรุ้งสดใส อยู่บริเวณลานวัดป่าหัด...ก่อนที่จะชักชวนทุกท่านไปร่วมให้กำลังใจลูกๆหลานๆ หลังจากเสร็จภารกิจงานบุญครับ”
“ไทยโชว์ในตอนนี้มีชื่อว่า วรนคร สัพพะนันทเภรี ศรีนครน่าน เป็นเรื่องราวของศิลปการแสดงที่เด็กๆเขาเรียงร้อยเล่าประวัติความเป็นมาของ วรนคร ทีละชุดๆ เริ่มจาก***
การแสดงชุดแรก กลองคุมพระเจ้าน่าน มหาทานไหว้สาพระธาตุเจ้า ประกอบด้วยขบวนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ขบวนแห่อิสริยยศเมืองน่าน ขบวนแห่ครัวทานแบบเมืองน่าน และขบวนแห่ไหว้สาป๋ารมีพระบรมธาตุเจ้าแช่แห้ง เป็นการจำลองขบวนเสด็จของพระเจ้าสุริยะพงษ์ผลิตเดช ฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๖๒ เสด็จไปไหว้สาพระบรมธาตุเจ้าแช่แห้งในวัน ๖ เป็ง จะมีขบวนแห่เครื่องครัวทาน ช่อหลวงตุงไชย บูชาพระธาตุเจ้า และในขบวนเสด็จจะมีกลองคุมประกอบอิสริยยศของเจ้าผู้ครองนครน่าน
วงกลองคุมเป็นวงกลองที่ใช้ประกอบในขบวนเกียรติยศของผู้ครองนครในเขตล้านนา รวมถึงใช้สำหรับแห่พระบรมสารีริกธาตุมาแต่โบราณ และยังใช้สำหรับรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์หรือแขกเมืองระดับสูง...
ทางเมืองน่านและเมืองลำปางเรียกว่า กลองคุม ในเอกสารโบราณเขียนเป็น กลองครุมบ้างกลองฅุมบ้าง
นอกจากนี้ คนเมืองน่านในอดีตยังเรียกชื่อตามเสียงที่ได้ยินว่า กลองตุ้มคะลุ่ม ส่วนทางทางเมืองเชียงใหม่และในงานวรรณกรรมล้านนาเรียกว่า กลองชุม
ฟ้อนหางนกยูงเป็นฟ้อนชั้นสูงของราชสำนักหอคำนครน่านซึ่งใช้ประกอบขบวนอิสริยยศของเจ้าผู้ครองนครน่าน และฟ้อนมองเซิงเป็นการฟ้อนของสตรีที่สืบค้นมาจากแม่ครูสวย สุทธหลวง ซึ่งเป็นฟ้อนโบราณของเมืองปัว ในอดีตใช้ฟ้อนนำหน้าครัวทานและฟ้อนไหว้สาพระธาตุเจ้าเบ็งสกัดของชาวบ้านแก้ม ซึ่งนับวันจะหาสืบทอดได้น้อยลง เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงใช้วงกลองมองเซิงครับ
การแสดงชุดที่สอง “พุทธปูชาเภรี อัญชุลีทีปะส่องงาม” ประกอบด้วย วงกลองบูชาและฟ้อนบูชาฝางประทีป.. ก๋องปู๋จาหรือกลองบูชาเป็นกลองของคนเมืองน่านที่ใช้ตีเป็นพุทธบูชา ซึ่งเป็นกลองประจำวัดและอยู่คู่กับพุทธศาสนาในเมืองน่านและถิ่นล้านนามาช้านาน เป็นกลองที่มีความสำคัญในระดับหมู่บ้านและระดับเมือง เพราะเป็นกลองตีบอกสัญญาณต่าง อาทิ บอกเหตุข้าศึกเข้าโจมตีเมือง น้ำท่วม ไฟไหม้ เรียกประชุม บอกเวลา และบอกเหตุสำคัญที่เกิดขึ้นในวัด...ส่วนฟ้อนบูชาผางประทีปเป็นฟ้อนของชาวไทลื้อบ้านป่าลานซึ่งสืบทอดมาจากพ่อครูบุญทัน ไชยศิลป์ โดยใช้เทียนประกอบการฟ้อนและเป็นการแสดงออกถึงบูชาพระพุทธเจ้า ส่วนการฟ้อนผางก็เป็นการฟ้อนบูชาพระพุทธเจ้าเช่นกัน ทั้งนี้เชื่อว่าช่วยปัดเป่าเคราะห์ภัยต่าง ๆ อีกด้วยครับ
การแสดงชุดที่สาม ย้ายปัวเขตคาม ล่องน่านสายธารา “ฟ้อนล่องน่าน” ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงเฉพาะถิ่นที่โดดเด่นที่สุดครับ..ฟ้อนล่องน่าน ถ้าหากแบ่งตามพัฒนาการแบ่งได้เป็น ๓ ยุคครับ
ยุคฟ้อนล่องน่านแบบดั้งเดิม เป็นฟ้อนที่คลี่คลายมาจากการฟ้อนเชิง หรือฟ้อนลายงามของผู้ชายบนเรือแข่ง ต่อมาได้มีการนำมาฟ้อนบนบกด้วย ข้อสังเกตของการฟ้อนล่องน่านแบบดั้งเดิมคือจะไม่มีการก้าวเท้าหรือถ้ามีก็จะขยับเท้าแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้เพราะพื้นที่บนเรือมีจำกัดนั่นเอง และไม่จีบมืออย่างการรำตามแบบนาฏศิลป์ไทย เพียงแต่กรีดกรายนิ้วมือแต่พองามเท่านั้น
ยุคฟ้อนล่องน่านที่พัฒนาขึ้นจากฟ้อนแบบดั้งเดิม เป็นฟ้อนล่องน่านเริ่มมีความอ่อนช้อยมากขึ้น และเริ่มมีการก้าวเท้า โดยเดินแปรแถวไปทางซ้ายและขวา ส่วนท่าฟ้อนยังคงเป็นแบบเดิมเมืองน่าน
ยุคฟ้อนล่องน่านที่ได้รับอิทธิพลจากภายนอก สมัยต่อมาฟ้อนจากภายนอกเริ่มเข้ามาแพร่หลายในเมืองน่านมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟ้อนเล็บทางเชียงใหม่ และการรำตามแบบนาฎศิลป์ไทย บางหมู่บ้านและบางสถานศึกษามีการฟ้อนหมุนตัวเป็นรูปครึ่งวงกลมตามอย่างฟ้อนเล็บด้วย แต่ถึงกระนั้นดนตรีที่ใช้ก็ยังเป็นวงกลองล่องน่าน การแต่งกายก็ยังคงแบบฉบับของชุดฟ้อนล่องน่านอยู่ แม้ว่าจะรับท่าฟ้อนจากภายนอก แต่ช่างฟ้อนเมืองน่านก็ได้นำมาผสมผสานได้อย่างกลมกลืน จนเป็นเอกลักษณ์แบบฉบับของตนเองครับ
การแสดงชุดที่สี่ เปิ่งอั่งชื่นอุรา หาญกล้าเชิงชายไทลื้อ กลองเปิ่งอั่ง เป็นกลองแอวชนิดหนึ่งของชาวไตลื้อ ที่ใช้ตีแข่งขันกันในช่วงงานบุญถวายสลากภัตร ผู้ตีจะต้องแสดงลีลาชั้นเชิงและการตีกลองให้มีเสียงที่ดังและไพเราะ การฟังว่ากลองใบไหนดังดีหรือไม่ ให้ฟังว่ากลองใบไหนดังกล่าว ใบอื่นมีเสียงอั่งดังแทรกกลองใบอื่น กลองชนิดนี้เรียกลักษณะนามว่า ปู้ แต่ละวัดของคนไตลื้อจะมีกลองชนิดนี้ไว้ การตีจะต้องตีให้ดังเปิ่งและอั่ง จึงเรียนกลองชนิดนี้อีกชื่อคือ กลองเปิ่งอั่ง..
การแสดงชุดที่ห้า เลื่องลือตบมะผาบ สาวไหม เชิงเริงใจวงกลองเงี้ยว..วงกลองเงี้ยว (จังหวัดน่าน) หรือ กลองปู่เจ่ , กลองปู่เจ่ (จังหวัดเชียงใหม่) เป็นกลองก้นยาวที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่เคยอาศัยในภาคเหนือในอดีต
ในเมืองน่านก็เช่นกันมีกลุ่มชาติพันธุ์นี้อาศัยอยู่ และได้ถ่ายทอดศิลปะการตีกลองชนิดนี้ให้กับคนเมืองน่าน ลักษณะกลองชนิดนี้จะมีความแตกต่างจากเชียงใหม่ คือ มีช่วงกระบอกเสียงของกลองเป็นทรงกระบอกและยาวกว่าเชียงใหม่ ไม้ที่นิยมนำมาขุดมักเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ส้อ ไมงิ้วแดง ไม้สัก ไม่ขนุนเป็นต้น วงกลองชนิดนี้ประกอบด้วยกลองงิ้ว ฉาบ และฆ้อง ๓-๗ ใบ มักพบในเขตท้องที่อำเภอเวียงสา โดยเฉพาะบ้านดอนแท่น บ้านบุญยืน บ้านป่ากล้วย บ้านกลางเวียง และบ้านสันติสุข ซึ่งนิยมตีประโคมแห่ครัวทาน แห่องค์ผ้าป่า แห่ลุกแก้ว ( น่าน ) และการฟ้อนเจิง-ดาบ เป็นต้น
ส่วน เจิงสาวไหม เป็นเจิงที่นำเอาขั้นตอนการสาวไหมจนถึงการทอผ้า ของสตรีชาวล้านนา มาประดิษฐ์เป็นท่าฟ้อน แสดงถึงความอ่อนโยนและแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวล้านนา ซึ่งสืบทอดมาจากพ่อครูเมือง เทพประสิทธิ์ครับ”... ***
***อ้างอิงข้อมูลการแสดงทั้งหมดจาก “หนานคมสันต์ มหาวงศนันท์ ขันทะสอน”
คมสันต์ สุทนต์ กล่าวปิดท้ายโชว์ว่า
“นอกจากจะได้ชมโชว์สวยอลังการจากน้องๆ “กลุ่มมิตรแก้วสหายคำวรนคร” แล้วคุณผู้ชมจะได้ชมการสาธิตการแสดงท้องถิ่นต้นฉบับจากพ่อครูแม่ครู ไม่ว่าจะเป็น ฟ้อนล่องน่านแบบโบราณจาก แม่ครูปัญฐานิจจ์ กีรติวรกาญจน์, กลองเปิ่งอั่ง จากพ่อครูเกษม ชัยมงคล และพ่อครูจำนง มานะกิจ, ฟ้อนเจิง-ฟ้อนดาบ แบบไทลื้อจากพ่อครูบุญตัน ไชยศิลป์, ฟ้อนผางประทีปจากพ่อครูธนะทัต วัดคำ, และฟ้อนเจ้งสาวไหมจากครูคมสันต์ ขันทะสอน ครูผู้ฝึกสอน-ก่อตั้งดูแลกลุ่มมิตรแก้วสหายคำวรนคร ซึ่งต้องบอกว่าหาโอกาสชมได้ยากมากครับ”
พลาดไม่ได้ ชมรายการไทยโชว์ตอน “วรนคร สัพพะนันทเภรี ศรีนครน่าน” วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2553 เวลา 18.00 น. ทางทีวีไทยชมรายการไทยโชว์ย้อนหลังทาง www.thaipbs.or.th/Thaishow