สถาบันคุ้มครองเงินฝากย้ำผู้ฝากเงินได้รับความคุ้มครองอัตโนมัติ - ไม่ต้องสมัครเข้าระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2010 14:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--สคฝ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากเผยผู้ฝากเงินทุกรายได้รับความคุ้มครองอัตโนมัติตั้งแต่ ปี 2551 แล้ว - ไม่ต้องสมัครเข้าระบบ สบายใจหายห่วง! ได้รับเงินคืนตามกฎหมายกำหนด นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าประชาชนผู้ฝากเงินกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ออมทรัพย์ ประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงินที่เป็นเงินบาท ได้รับความคุ้มครองในระบบโดยอัตโนมัติจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากอยู่แล้ว ตั้งแต่การก่อตั้งแต่เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา จึงทำให้ผู้ฝากเงินทุกคนไม่ต้องมีการสมัครเพื่อเข้าสู่ระบบอีกแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ฝากเงินไม่ต้องกังวลหรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก และมั่นใจได้ว่าเมื่อสถาบันการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะจ่ายคืนเงินฝากแก่ผู้ฝากเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เมื่อแสดงหลักฐานพิสูจน์ได้ครบถ้วน ทั้งนี้ การคุ้มครองผู้ฝากเงินตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ฯ เป็นการคุ้มครองผู้ฝากแต่ละรายในแต่ละสถาบันการเงินในจำนวนเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2555 เป็นต้นไป ส่วนเงินฝากที่เกิน 1ล้านบาท ผู้ฝากสามารถขอรับคืนได้จากกองทรัพย์สินของสถาบันการเงินในขั้นตอนการชำระบัญชี อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินได้มีเวลาในการปรับตัว กฎหมายได้กำหนดให้ทยอยลดวงเงินคุ้มครอง จากคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนใน 3 ปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายนี้ และทยอยลดความคุ้มครองเงินฝากวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาทตั้งแต่ 11 ส.ค.2554 ถึง 10 ส.ค.2555 และคุ้มครองเงินฝากวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทตั้งแต่ 11 ส.ค. 2555 เป็นต้นไป ซึ่งจะเห็นว่ามีการลดวงเงินคุ้มครองเป็นลำดับขั้น เพื่อให้ผู้ฝากเงินรายใหญ่ที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15 คนใน 1,000 คนค่อยๆ ปรับตัว ในขณะที่ผู้ฝากเงินรายย่อยโดยทั่วไปจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ สามารถฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินได้อย่างมั่นใจ การที่ประเทศไทยมีระบบคุ้มครองเงินฝากที่เป็นสากลและมีการกำหนดจำนวนวงเงินการจ่ายคืนผู้ฝากไว้ชัดเจน จะทำให้ผู้ฝากเงินมีความระมัดระวังในการฝากเงิน และให้ความสำคัญในการติดตามฐานะและผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการสร้างวินัยทางการเงิน รวมทั้งเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้กับระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม หากผู้สนใจต้องการสอบถามข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ 02-272-0300 หรือติดตามข้อมูลได้ทาง www.dpa.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ