กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก
ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยภายหลังการประชุม“ไทยแลนด์ แบรนด์ 2553”( THAILAND’S BRAND Club Meeting) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กรมฯได้ทำวิจัยผู้บริโภค 14 ประเทศในเอเซียและแปซิฟิก 2553 อาทิ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ฮ่องกง เกาหลี ซาอุดิอาระเบีย ออสเตรเลีย เป็นต้น โดยบริษัท อินโฟเซิร์ช จำกัด ที่สำรวจถึงความต้องการผู้บริโภคและพฤติกรรมการซื้อ ภาพลักษณ์สินค้าไทยและประเทศไทย รวมถึงช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ใหม่สู่ผู้บริโภค ซึ่งกรมฯจะนำผลวิจัยการตลาดดังกล่าวมาปรับใช้ เพื่อวางแผนกลยุทธ์ เพื่อส่งเสริมและผลักดันแบรนด์ไทยสู่ตลาดสากลต่อไป รวมถึงเพื่อผลักดันการส่งออกของไทยในปีหน้าให้ขยายตัวไม่น้อยกว่า 10% หรือ คิดเป็นมูลค่า 209,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ในปี2554 จำเป็นต้องสร้างโอกาสทางการตลาดรูปแบบใหม่ในตลาดหลัก อาเซียน รวมถึงตลาดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวสูง เนื่องจากตลอด 11 ปีของการทำโครงการไทยแลนด์แบรนด์มีสมาชิกสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาใช้เครื่องหมายนี้ราว 5 พันราย แต่มีความเคลื่อนไหวเพียง 521 ราย ทำให้กรมฯเห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องเปิดมุมมองทางความคิดของการพัฒนาแบรนด์ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีศักยภาพและทันกับสถานการณ์ทางการตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการกำหนดวิสัยทัศน์ในการยกระดับคุณค่าแบรนด์ไทยให้มีความเป็นสากล เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบก่อนคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น
นางเครือวัลย์ ลิ่มอภิชาติ ประธานกรรมการ บริษัท อินโฟเซิร์ช จำกัด และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจสินค้าเป้าหมาย 12 ประเภท อาทิ ข้าว อาหารพร้อมทาน อาหารและอาหารแช่แข็ง เครื่องดื่มน้ำผักและผลไม้ กระเป๋าและรองเท้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง ร้านอาหารไทย สปา เป็นต้น จาก 2,610 ราย ใน 5 ภูมิภาค ทวีปเอเซียและแปซิฟิค อายุระหว่าง 25-45 ปี พบว่า ข้าวไทยยังครองใจผู้บริโภคอยู่ในอันดับที่ 1 ในขณะที่สินค้าอื่นญี่ปุ่นครองที่ 1 ทุกประเภท
“ผลการวิจัยทำให้ผู้ประกอบการไทยคงต้องมองกลับมาดูตัวเองแล้วว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีการนำเข้าสินค้า 20 ลำดับของโลกหรือ นำเข้าสินค้าไทย 20 ลำดับแรกกลุ่มนี้ ผลักดันการใช้แบรนด์และเลือกใช้สื่อให้มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคได้อย่างน่าทึ่ง โดยผู้ประกอบการขอรับผลวิจัยได้ที่กรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการทางการตลาดและช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ รวมถึงนำไปใช้วางแผนการตลาดได้อย่างถูกต้อง ความจำเป็นในการสร้างพันธมิตร หรือ เครือข่ายการค้า เพื่อเชื่อมโยงจากผลิต การตลาด ผ่านกระบวนการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ”
ในด้านภาพลักษณ์ของทุกประเทศนั้น พบว่า สินค้าจากไทยเป็นสินค้าที่มีราคาสมเหตุสมผล ราคาถูก และเป็นสินค้าดีได้มาตรฐานเป็นที่ยมอรับของทุกประเทศ ยกเว้นจากผู้บริโภค 3 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวันและเกาหลีใต้ ซึ่งราคาที่กำหนดจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศในแถบอาเซียนและอินเดีย ในขณะที่จีน กลุ่มตัวอย่างโน้มเอียงไปในทางสินค้าราคาถูกและไม่ได้มาตรฐานมากกว่าประเทศอื่น สินค้าจากญี่ปุ่น และออสเตรเลียจัดอยู่ในระดับสินค้าแพงที่ดีและมีมาตรฐาน ส่วนสิงคโปร์ ฮ่องกงและไต้หวันมีราคาสมเหตุสมผลและมีคุณภาพ
น.ส.ศิริกุล เลากัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์บีอิ้ง จำกัด กล่าวถึงการรังสรรค์คุณค่าใหม่ๆ ของแบรนด์ว่า การสร้างแบรนด์ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อแล้ว ต้องรับผิดชอบในสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บริโภค ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ต้องเรียนรู้การใช้เครือข่ายการค้าและใช้เครือข่ายให้เป็นประโยชน์ เพราะการเข้าใจตลาดไม่เพียงพอ ต้องเข้าใจผู้บริโภคด้วย รวมถึงกระแสเศรษฐกิจสีเขียว การทำเพื่อสังคมที่ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น
สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการส่งออก โทร.02-507-7932 — 4