กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--พม.
วันนี้ (๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๓) เวลา ๐๙.๔๕ น. ที่ห้องประชุม ๑ สำนักงานใหญ่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ จัดงาน "ความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์และเปิดตัวคู่มือสำนักข้าหลวงเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าด้วยข้อวินิจฉัยและแนวทางขององค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์" เพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาค โดยนางระรินทิพย์ ศิโรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมบรรยายถึงภาพรวมของกรอบนโยบายแห่งชาติในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ว่า ปัจจุบันการค้ามนุษย์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ โดยมีสาเหตุจากกระแสโลกาภิวัตน์ และปัจจัยหลักทางเศรษฐกิจ คือ ความยากจนที่ทำให้เกิดการแสวงประโยชน์จากผู้ที่ต้องการหางานทำเพื่อรายได้ที่ดีกว่า รวมทั้งปัจจัยทางสังคมที่มีเจตคติ และปัจจัยอื่น ๆ เช่น การขาดโอกาสทางการศึกษา การเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ ช่องว่างของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ปริมาณความต้องการในการใช้บริการทางเพศ แรงงานเด็กและหญิงราคาถูกมีมากขึ้น ฯลฯ ทำให้เกิดเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมายและขบวนการค้ามนุษย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จนกลายเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
นางระรินทิพย์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง จึงได้ประกาศเจตนารมณ์และนโยบายเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ให้เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ และประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ รวมทั้งการจัดทำร่างนโยบายยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดทำเป็นแผนระยะยาว ๖ ปี คือ พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๙ เพื่อเป็นแผนแม่บทในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ประกาศใช้นโยบายฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน สำหรับยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประกอบด้วย ๕ ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ ๑) ด้านการป้องกัน ๒) ด้านการดำเนินคดี ๓) ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ ๔) ด้านการพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน และ ๕) ด้านการพัฒนาและบริหารข้อมูล โดยในปี ๒๕๕๔ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงาน คือ “คุ้มครองการเคลื่อนย้ายแรงงานมิให้ตกอยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์” และในการปฏิบัติงาน ประเทศไทยได้ยึดหลัก Victim-based Approach และทำงานในลักษณะทีมสหวิชาชีพ (Multi-Disciplinary Team) เพื่อให้การคุ้มครองดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ครอบคลุมทุกมิติ
นางระรินทิพย์ กล่าวอีกว่า งานความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ฯ นี้ ถือเป็นการผลักดันให้การดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลและได้มาตรฐานยิ่งขึ้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และภาคีเครือข่ายที่ดำเนินงานเรื่องนี้ ได้มีความพยายามมาอย่างต่อเนื่องในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ประเทศไทยก็ยังเป็นที่จับตามองของนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน แนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และความเชื่อมโยงกับความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถแยกเรื่องเหล่านี้ออกจากกันได้โดยเด็ดขาด จึงจำเป็นต้องมีการขยายความร่วมมือกับนานาประเทศ ทั้งกรอบความร่วมมืออาเซียน และกับหน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติ ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งด้านการป้องกันเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงภัยของการค้ามนุษย์ ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือกับอาสาสมัครและเครือข่ายช่วยเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาในชุมชน และให้ความคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างทันท่วงที โดยเปิดบริการสายด่วน ศูนย์ประชาบดี โทร. ๑๓๐๐ เพื่อรับแจ้งเหตุและเบาะแส รวมทั้งให้บริการอย่างครบวงจร ทั้งในเรื่องที่พัก อาหาร การฝึกอาชีพ เป็นต้น ตลอดจนได้ประสานงานกับหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑.