ก.ไอซีที เดินหน้าใช้ประโยชน์ข้อมูลดาวเทียมการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่ม

ข่าวทั่วไป Friday December 17, 2010 13:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--ก.ไอซีที นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์จากอวกาศ ว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากดาวเทียม การพัฒนากิจการอวกาศของประเทศ และเป็นการบูรณาการข้อมูลจากการดำเนินโครงการร่วมสร้างดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (SMMS) กระทรวงฯ จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่ม ภายใต้ความร่วมมือองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Space Cooperation Organization — APSCO) ขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะศึกษาและวิจัยการประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพ “โครงการศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่มนี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดจากโครงการร่วมสร้างดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (SMMS) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและประเทศกลุ่มสมาชิกองค์การ APSCO ในการใช้ข้อมูลร่วมกัน (Spatial Data Sharing) เพื่อการบริหารจัดการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพดิน การประเมินความรุนแรงของการกัดเซาะผิวดิน การเกษตรกรรม การประมง การชลประทาน การสำรวจและจัดทำแผนที่ การผังเมือง การขยายตัวของเมือง เป็นต้น ดังนั้น วัตถุประสงค์สำคัญในการดำเนินโครงการศึกษาวิจัยฯ นี้ก็คือ เพื่อพัฒนาความร่วมมือภายใต้ความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิกในการใช้ข้อมูลร่วมกัน (Spatial Data Sharing) ในการบริหารจัดการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อประยุกต์ใช้ดาวเทียมสำหรับการเฝ้าระวังและระบบเตือนภัย รวมทั้งศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัย” นางจีราวรรณ กล่าว โครงการศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมฯ ใช้เวลาในการดำเนินงาน 12 เดือน โดยทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางธรณีวิทยา และสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อดินถล่ม และรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่น รวมถึงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับดินถล่ม ได้แก่ กระบวนการเกิดดินถล่ม รูปแบบของดินถล่ม ปัจจัยที่ทำให้เกิดดินถล่ม ลักษณะพื้นที่เสี่ยงภัย ลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้านเสี่ยงภัยดินถล่ม ข้อสังเกตหรือสิ่งบอกเหตุ และบันทึกเหตุการณ์ดินถล่มในประเทศไทย รวมทั้งรวบรวมข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การ APSCO เพื่อนำมาใช้สนับสนุนโครงการฯ โดยจัดให้มีการบริหารจัดการฐานข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา จัดเก็บข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่ได้รับจากระบบ DVB-S ในแต่ละวันให้สามารถสืบค้นย้อนหลังได้ ประมวลผลข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่มีอยู่ตามลักษณะของ Sensor ของดาวเทียมที่รับได้ เช่น IR1, IR2, IR3, IR4, Visible และการประมวลผลภาพแบบ 2 มิติ 3 มิติ หรือตามความต้องการของผู้ใช้บริการ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาด้วยระบบ DVB-S ด้วยการให้บริการผ่านเว็บไซต์ นอกจากนั้นยังมีการศึกษาปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์ และข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อนำมาประมวลผลสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ (Model) การเกิดดินถล่มของพื้นที่เสี่ยงภัยในประเทศที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสำรวจเก็บข้อมูลจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อดินถล่มในประเทศไทย อย่างน้อย 2 จุด เพื่อให้สามารถจำแนกพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดดินถล่มและหมู่บ้านเสี่ยงภัยดินถล่มในระดับต่างๆ และนำมาใช้งานกับแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พร้อมกันนี้ยังมีการศึกษาปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์พื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากดินถล่มในประเทศไทย เช่น พืชพรรณและสภาพการใช้ดิน ลักษณะดิน ความลาดชันของพื้นที่ ปริมาณฝน รวมทั้งใช้ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ได้แก่ โปรแกรมด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ ข้อมูลแผนที่สภาพการใช้ที่ดิน ข้อมูลแผนที่ธรณีวิทยา ข้อมูลความสูงของพื้นที่ เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อดินถล่ม และประมวลผลการสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ (Model) การเกิดดินถล่มของพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และแสดงผลผ่านทางเว็บไซต์ “กระทรวงฯ หวังว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะทำให้มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับการเฝ้าระวังและเตือนภัยดินถล่มที่อ้างอิงได้ มีแบบจำลองคณิตศาสตร์ หรือ Model การเกิดดินถล่มของพื้นที่เสี่ยงภัยในประเทศที่มีประสิทธิภาพ และมีบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบแจ้งการเตือนภัยที่ดีในอนาคต ตลอดจนเกิดเครือข่ายองค์ความรู้ในด้านการวิจัยและการพัฒนากิจการอวกาศที่สามารถประยุกต์ใช้งานได้ต่อไป” นางจีราวรรณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ