“ข้าวและเกษตรกรไทย” ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ข่าวทั่วไป Friday December 17, 2010 14:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ ศ.ดร. มรกต ตันติเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตระหนักว่าข้าวมีความสำคัญต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งวิถีชีวิตของคนไทย ดังนั้น กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา สวทช. มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการปรับปรุงพันธุ์และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว โดยร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดยมีเป้าหมายให้คนไทยทุกภาคส่วนมีข้าวเพียงพอต่อการบริโภค รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่นำไปสู่ความยั่งยืนของข้าวไทยทั้งระบบ ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ทุนทางธรรมชาติและทุนทางสังคมในการผลิตข้าว ในอนาคตเราต้องปฏิรูปการผลิตข้าวไทยไปใช้ทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ลดลง การขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้งและอุทกภัย นอกจากนี้ คู่แข่งและคู่ค้าข้าวของประเทศไทยต่างเพิ่มการลงทุนการวิจัยและพัฒนา จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เกี่ยวกับดีเอ็นเอ สวทช. ได้ใช้ความรู้ดังกล่าวในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวตั้งแต่ปี 2532 ภายใต้โครงการความร่วมมือของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ และในปี 2542 ได้เข้าร่วม “โครงการวิจัยจีโนมข้าวนานาชาติ” ที่นับว่าเป็นการวางรากฐานการวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านข้าวเชิงลึกของประเทศไทย มีบทบาทสำคัญส่งผลให้การพัฒนาข้าวไทยเป็นไปอย่างก้าวกระโดด มีองค์ความรู้สะสมมากพอที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการได้ทันสถานการณ์ ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในกรณีของการพัฒนาข้าวหอมดอกมะลิให้ทนน้ำท่วม ที่ผ่านการทดสอบการยอมรับของเกษตรกรในหลายจังหวัดมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ข้าวหอมดอกมะลิทนน้ำท่วมดังกล่าวได้ใช้ชื่อว่า “ข้าวหอมชลสิทธิ์” ซึ่งนอกจากทนน้ำท่วมฉับพลันแล้วยังไม่ไวแสง ปลูกได้ในพื้นที่ภาคกลางที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน ในปี 2553 มีการปลูกพันธุ์หอมชลสิทธิ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในพื้นที่ อ.ผักไห่ จ.อยุธยา และได้เกิดภาวะน้ำท่วมทำให้แปลงข้าวพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์จมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลา 12 วัน ถึงแม้ว่าข้าวหอมชลสิทธิ์ที่จมอยู่ใต้น้ำไม่ตาย แต่เนื่องจากข้าวอยู่ในระยะตั้งท้องและเริ่มออกดอกพอดี ไม่สามารถผสมเกสรใต้น้ำ จึงทำให้เกิดการสูญเสียผลผลิตเมล็ดบางส่วน ในขณะที่พันธุ์หอมปทุมตายทั้งหมด เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ นอกจากที่ อ.ผักไห่แล้ว มีเกษตรกรที่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ปลูกข้าวหอมชลสิทธิ์เช่นกัน แปลงดังกล่าวได้รับผลกระทบจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลา 7 วัน ภายหลังน้ำลดข้าวหอมชลสิทธิ์ฟื้นตัวได้ดีภายใน 3 วัน ขณะที่พันธุ์ กข 31 ที่ปลูกในบริเวณใกล้เคียงกันไม่ฟื้นตัว นอกจากการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ทนต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว สวทช. ยังได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวเศรษฐกิจให้ทนต่อศัตรูพืช เช่น ข้าว กข 6 ต้านทานโรคไหม้ ที่ได้เผยแพร่ให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่จังหวัดน่าน เชียงราย และลำปาง และได้รับพระราชทานชื่อพันธุ์ข้าวจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า “ธัญสิริน” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 นอกเหนือจากการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ความรู้ด้านดีเอ็นเอถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการค้าการปลอมปนของข้าวหอมดอกมะลิ นำไปสู่วิธีมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์ยอมรับ ทำให้ประเทศไทยแก้ปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิ รวมถึงการสร้างมาตรฐานคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทยทำให้ประเทศไทยส่งออกข้าวหอมมะลิได้เพิ่มขึ้น สวทช. ให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารในระดับครัวเรือนด้วยการให้ความรู้ผ่านการฝึกอบรมให้กลุ่มเกษตรกรเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองคุณภาพดีไว้ใช้เองในชุมชน ถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้พันธุ์ดีที่เหมาะสมในหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาข้าวไม่พอกินตลอดทั้งปี เช่น ในพื้นที่ของจังหวัดน่าน สกลนคร และเชียงราย เป็นต้น ผลของการดำเนินงานนำไปสู่การ “มีข้าวพอกิน” และ เกิดอาชีพ “การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว” จำหน่ายในชุมชน เป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบการผลิตข้าว จำเป็นต้องมีการวิจัยพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สวทช.สนับสนุนการศึกษาวิจัยให้เกิดการพัฒนาในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตข้าวโดยร่วมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการผลิต/จำหน่ายเครื่องจักรกลเกษตร และชุมชนเกษตรกรใน จังหวัดต่างๆ อาทิ การปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตในกระบวนการอบและสีข้าวของโรงสีให้ดีขึ้นด้วยเทคนิควิศวกรรมที่ไม่ซับซ้อนเพื่อแก้ปัญหากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพต่ำทั้งในแง่ปริมาณผลผลิต ปริมาณข้าวหัก(สูญเสีย) การใช้พลังงาน และการหยุดของเครื่องจักร ส่งผลให้โรงงานอบและสีข้าวที่ร่วมโครงการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในส่วนของโรงงานแปรรูปข้าวในกลุ่มเอสเอ็มอี ได้ให้คำปรึกษาจัดทำระบบประกันคุณภาพ GMP และ HACCP แก่โรงงานกลุ่มแป้งและผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 12 โรงงาน ประเทศไทยถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพของข้าว ทำให้มีข้าวที่มีคุณสมบัติหลากหลาย เหมาะนำมาใช้ในการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของแป้งจากสายพันธุ์ข้าวต่างๆ ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องดื่มชนิดผงจากข้าวกล้อง เครื่องดื่มนมข้าว และผลิตภัณฑ์เส้นก๋วยเตี๋ยวใยอาหารสูงจากข้าวกล้อง รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงจากข้าว 2 ชนิด คือ เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยวชนิดสุกพอง โดยการใช้แป้งข้าวทดแทนแป้งสาลีบางส่วนและเสริมธาตุเหล็ก เพื่อตอบสนองผู้บริโภคในกลุ่มวัยเรียนอายุ 6-14 ปี ที่เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กและภาวะโลหิตจาง ทั้งหมดเป็นเพียงบางตัวอย่างที่เป็นผลของความพยายามในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนของข้าวไทย อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องสร้างมวลวิกฤตทั้งด้านผลงานวิจัยและนักวิจัยเพื่อให้มีองค์ความรู้ด้านข้าวที่ครบวงจรเพียงพอที่จะรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม กองทุนวิจัยข้าวไทยจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับข้าวไทย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ