รัฐเดินหน้าผลักดันนโยบายส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ชูนโยบายหนุนหน่วยงานภาครัฐเป็นแกนนำขับเคลื่อน

ข่าวทั่วไป Friday December 17, 2010 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--พม. วันนี้ (๑๗ ธ.ค.๕๓) เวลา ๑๑.๐๐ น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดกิจกรรมรวมพลกลไกส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย “นายกรัฐมนตรีพบ CGEOs” โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวมอบนโยบายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายแก่ผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (Chief Gender Equality Officers: CGEOs) ในหน่วยงานภาครัฐ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. โดยนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงานว่า จากนโยบายของรัฐบาล ได้กำหนดแนวนโยบายด้านสังคม โดยให้ความสำคัญในการส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัวและชุมชน ขจัดการกระทำความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติต่อเด็ก สตรี และผู้พิการ กำหนดการให้การคุ้มครองและส่งเสริมการจัดสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสมแก่ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งตนเองได้ โดยได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เห็นชอบให้กระทรวง ทบวง กรม แต่งตั้งผู้บริหารระดับรองปลัดกระทรวงหรือรองอธิบดีขึ้นไป ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (Chief Gender Equality Officer — CGEOs) ของหน่วยงาน และมอบหมายหน่วยงานระดับสำนักหรือกอง ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Gender Focal Point) ภายในหน่วยงาน รวมทั้งติดตามประเมินผลและจัดทำรายงานการดำเนินการด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชายของส่วนราชการ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนราชการดำเนินการแล้ว ใน ๑๙ กระทรวง รวมจำนวน ๑๓๑ หน่วยงาน นายอิสสระ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในฐานะหน่วยงานหลักทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวนการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย โดยอาศัยกลไกที่ตั้งขึ้น ในทุกกระทรวง/กรม คือ ผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (CGEOs) โดยแต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายอย่างต่อเนื่อง และมีการรายงานผลความก้าวหน้าเป็นลำดับ เช่น การพัฒนาศักยภาพข้าราชการให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย การจัดสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานและจัดสวัสดิการของหน่วยงานโดยคำนึงถึงมิติหญิงชาย การจัดเก็บข้อมูลจำแนกเพศทั้งในส่วนประชาชนกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงานและบุคลากรของหน่วยงาน การประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรับรู้ การสร้างเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกันทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน เป็นต้น สำหรับการประชุมฯ ในวันนี้ ผู้มีเข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารของ ส่วนราชการต่างๆ และผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (CGEOs) ที่ได้มีการแต่งตั้งแล้วใน ๑๙ กระทรวง จำนวน ๑๓๑ ส่วนราชการ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๕๐ คน เพื่อให้ผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายได้รับทราบนโยบาย แนวทาง และนำไปขับเคลื่อนการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายภายในหน่วยงานให้เป็นรูปธรรมต่อไป นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ถือเป็นประเด็นสากลที่นานาชาติให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้หญิงมักถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องมาจากเจตคติของสังคมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ในการกำหนดบทบาทของหญิงและชาย ที่ผ่านมาจึงได้มีความพยายามผลักดันให้มีการตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนของสตรี และปรับเปลี่ยนเจตคติให้มีการยอมรับในบทบาทที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย โดยประเทศไทยได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพสตรีและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากรายงานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์การสหประชาชาติ ปี ๒๐๐๘ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแถบเอเชีย ๑๐ ประเทศ โดยวัดจากดัชนีการพัฒนาคนและดัชนีการพัฒนามิติหญิงชาย ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ ๔ ในขณะที่ดัชนีวัดความเข้มแข็งของสตรีอยู่ในลำดับที่ ๕ กล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายก้าวหน้าไปในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามกลไกของรัฐ คือ ระบบราชการ เป็นสถาบันในสังคมที่จะเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อน เรื่องความเสมอภาคให้เกิดขึ้นแก่กลุ่มบุคคลทุกกลุ่ม นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดจากความไม่เสมอภาคนั้น มีหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคคลทุกกลุ่ม ปัญหาความรุนแรง ปัญหาการล่วงละเมิดในที่ทำงาน ปัญหาความยากจน ปัญหาความมั่นคงในชีวิต ปัญหาการเมือง ฯลฯ เล้วนป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ได้ทั้งสิ้น กล่าวได้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากสังคมไม่ได้ให้ความสำคัญในการปฏิบัติให้ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง การจะส่งเสริมความเสมอภาคนั้น จึงควรเป็นเรื่องที่จะต้องทำให้เกิดเป็นแนวทางและเป็นนโยบายที่ทุกหน่วยงานในภาครัฐจะต้องนำไปปฏิบัติ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประกอบด้วย ๑.) การเสริมสร้างและปรับเปลี่ยนเจตคติด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในหน่วยงานภาครัฐ โดยจัดให้มีหลักสูตรการฝึกอบรมในเรื่องมิติหญิงชายให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับ เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับบทบาทความสัมพันธ์หญิงชาย ๒.) การจัดสภาพแวดล้อมในหน่วยงานภาครัฐโดยคำนึงถึงมิติหญิงชาย โดยผลักดันให้ส่วนราชการจัดสภาพแวดล้อม สถานที่ทำงาน และสวัสดิการที่คำนึงถึงบทบาทหญิงชายและเอื้อต่อประสิทธิภาพการทำงานของหญิงและชาย เช่น จัดให้มีห้องสถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็กภายในหน่วยงาน การจัดสถานที่ออกกำลังให้เหมาะสมกับความต้องการ กำหนดจำนวนห้องน้ำตามสัดส่วนหญิงชาย เป็นต้น ๓.) การประกาศว่าจะไม่มีการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากยังมีปัญหาการล่วงเกิน คุกคามหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ เกิดขึ้นในหน่วยงาน องค์กรต่างๆ อย่างรุนแรง จึงควรให้สร้างและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศทุกด้านในองค์กร โดยกำหนดเป็นพันธกิจขององค์กร หรือการสร้างกลไกเพื่อรองรับปัญหาการล่วงเกินทางเพศ โดยใช้ศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Gender Focal Point) เป็นช่องทางในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นต้น.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ