กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--ซีพีเอฟ
นายศุภชัย อังศุภากร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ล่าสุด ได้วางแผนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาต้มน้ำร้อนทดแทนการใช้น้ำมันเตาในการผลิตน้ำร้อนเพื่อป้อนเข้าหม้อไอน้ำ “โครงการระบบผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน” ด้วยการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 195 แผง บนเนื้อที่ 882 ตร.ม. โดยจะเริ่มต้นโครงการนำร่องที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรีเป็นแห่งแรก
“โครงการนี้จะเกิดขึ้นภายในต้นปี 2554 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานภายในโรงงานได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1.6 ล้านบาท และยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศได้อีกปีละ 280 ตัน ซึ่งถือเป็นอีกโครงการหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญเสมอมา”
ซีพีเอฟมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ ซึ่งจะมีการติดตามผลและนำไปปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรีที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ก็พบว่าสามารถลดเหตุรำคาญเรื่องกลิ่นและก่อให้เกิดพลังงานทดแทนสำหรับใช้ภายในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2553 ที่ผ่านมาโครงการนี้ทำให้โรงงานลดการใช้น้ำมันเตาในกระบวนการผลิตได้มากถึง 366,000 ลิตรต่อปี หรือ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถึงปีละ 6.6 ล้านบาท ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อม นับว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 15,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่า 88 ไร่
สำหรับระบบบำบัดน้ำนี้จะมีการปิดด้านบนของบ่อบำบัดด้วยผ้าใบ PVC อย่างมิดชิด ภายในบ่อออกแบบให้มีกำแพงบังคับทิศทางการไหลของน้ำ (Anaerobic Baffle Reactor : ABR) ด้วยลักษณะการไหลขึ้น-ลงภายในบ่อ ทำให้เกิดการสัมผัสระหว่างน้ำกับเชื้อจุลินทรีย์อย่างเต็มที่ส่งผลให้เกิดการย่อยสลายอย่างสมบูรณ์กลายเป็นก๊าซชีวภาพ โดยระบบสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นการผลิตก๊าซชีวภาพได้สูงสุดถึง 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งนอกจากจะช่วยกักเก็บกลิ่นไม่ให้รบกวนชุมชนได้เป็นอย่างดีแล้ว โรงงานยังสามารถนำก๊าซดังกล่าวไปใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันเตา ขณะเดียวกันน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วก็ยังมีคุณภาพของน้ำที่จะปล่อยลงสู่ลำรางสาธารณะเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด ซึ่งโรงงานได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดส่วนหนึ่งกลับมาใช้ภายในโรงงานเพื่อรดต้นไม้ที่อยู่รายรอบโรงงานด้วย
สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์
โทร. 02-625-7344-5, 02-631-0641, 02-638-2713 / e-mail : pr@cpf.co.th