กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร
สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่ มุมมองเศรษฐกิจและคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2549 แนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและปรับประมาณการปี 2548 เพิ่มขึ้น โดย ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร มีความเห็นว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2549 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2548 เพราะราคาน้ำมันจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงเช่นในปีที่ผ่านมา ประกอบกับประเทศต่างๆ เปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น ช่วยเพิ่มปริมาณการค้าของโลก โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด โดยเฉพาะเศรษฐกิจของจีนจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 8.1-8.5% และอินเดียจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 6.9-7.4% โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิคเฉลี่ยที่ระดับ 6.3%
สำนักวิจัยมองว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ก็อยู่ในสถานการณ์ที่แต่ละประเทศจะต้องดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจด้วยความรอบคอบ และมีมาตรการรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยราคาน้ำมัน เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของโลกมีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่ความต้องการน้ำมันในตลาดโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่แรงกดดันด้านราคาของน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2549 ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นต่อเนื่องจากปี 2548 โดยคาดว่า Fed Funds Rate มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.75 - 5.0 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 จากสิ้นปี 2548 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.25 และการระบาดของไข้หวัดนกที่ขยายจากเอเชียไปยังทวีปต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการเดินทางเกือบทั่วโลก ตลอดจนปัญหาความไม่สมดุลระหว่างประเทศ จากการที่สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง และต้องอาศัยเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศชดเชยการขาดดุลดังกล่าว ดังนั้นในระยะสั้นอุปสงค์ของสหรัฐอาจมีความผันผวน และส่งผลให้การส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียจะได้รับผลกระทบ
สำหรับเศรษฐกิจไทยปีหน้า ดร. อนุสรณ์ ที่ปรึกษาสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 — 5.3 จากแรงขับเคลื่อนของการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน และการส่งออก รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 4.0 — 5.0 ใกล้เคียงกับปี 2548 แม้ว่าการบริโภคจะได้รับผลกระทบจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาน้ำมันแพง และถูกกดดันจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น แต่ได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมาตรการเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล อาทิ การกระจายเงินตามโครงการเอสเอ็มแอลไปสู่หมู่บ้านต่าง ๆ จำนวน 77,000 หมู่บ้าน การปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน เป็นต้น
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาสสามของปี 2548 และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ดีกว่าที่คาดการณ์ ผู้บริโภคและผู้ผลิตในประเทศได้ปรับตัวรับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่แท้จริง ทำให้การบริโภคน้ำมันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้สำนักวิจัยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2549 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 — 5.0 ชะลอตัวลงจากปี 2548 เนื่องจากผลของนโยบายทางการเงินในการควบคุมเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2548 ในขณะที่ดุลการค้ามีแนวโน้มขาดดุลลดลง คาดการณ์ว่าจะขาดดุลระหว่าง 3.7-5.1 พันล้านดอลลาร์ ตามการชะลอตัวลงของการนำเข้า รายได้จากภาคบริการส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงและอาจจะเกินดุลเล็กน้อยได้ที่ระดับ 1.3 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือ ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกอีกครั้ง ที่กระทบต่อการบริโภคและการส่งออกไก่ของไทย รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพราะการแก้ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกยังขาดประสิทธิภาพ ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันยังคงมีความรุนแรง จึงต้องใช้ความพยายามในควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ความรุนแรงแพร่ขยายออกไปยังจังหวัดอื่น ๆ จนกระทบต่อการลงทุนและการท่องเที่ยวของประเทศโดยรวม รวมทั้งปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนซึ่งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ให้กับภาคครัวเรือนยังขยายตัวต่อเนื่องในปี 2548 โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 13.8 ดังนั้นการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์และการเพิ่มสูงขึ้นของค่าครองชีพจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีความเสี่ยงฐานะทางการเงินมากยิ่งขึ้น
สำนักวิจัย มองว่าการลงทุนในโครงการ Mega Projects ในปี 2549 โดยเฉพาะในส่วนของระบบขนส่งมวลชน ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรน้ำ และด้านคมนาคม ซึ่งมีวงเงินลงทุนรวมกันประมาณ 2.2 แสนล้านบาทในระยะ 4-5 ปี จะมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับสูงจนเกือบเต็มกำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรม เช่น ในหมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากการกระตุ้นการส่งออกของภาครัฐ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังแข็งแกร่ง รวมทั้งผลของการจัดทำ FTA กับประเทศต่าง ๆ ในขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2549 จะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2547 ทั้งด้านจำนวนกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริม และจำนวนเงินลงทุน สำนักวิจัยมีความเห็นเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในโครงการ Mega Projects นั้น จะต้องพิจารณาถึงประโยชน์ในการสนับสนุนการแข่งขันของประเทศ การประหยัดการใช้พลังงาน รวมทั้งการสร้างความพร้อมในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ประกอบกับต้องให้ความสำคัญกับแหล่งเงินทุนด้วย โดยการเร่งระดมเงินออมในประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตลอดจนจะต้องมีการบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน อย่างไรก็ตาม โครงการ Mega Project อาจส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบลดลงและกดดันให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น อันมีผลให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว นอกจากนี้ ยังอาจจะมีผลทำให้ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นหากไม่มีการบริหารจัดการการนำเข้าที่ดีพอ
สำนักวิจัย คาดว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอีกประมาณร้อยละ 1.0 -1.5 ในปี 2549 หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วหลายครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 เนื่องจากมีแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยเฉพาะแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะ 14 วันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพคล่องในระบบที่มีแนวโน้มลดลง ส่วนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0 - 6.0 ต่ำกว่าการขยายตัวของสินเชื่อเล็กน้อย แม้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จะปรับตัวสูงขึ้นมากในปี 2549 แต่ปริมาณเงินฝากจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนย้ายเงินจากตลาดเงินสู่ตลาดทุน การระดมทุนในโครงการ Mega Projects ตลอดจนการทยอยออกพันธบัตรประเภทต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ สำหรับค่าเงินบาท สำนักวิจัยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 39.0 — 41.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทได้แรงหนุนจากดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปรับตัวดีขึ้น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ตลอดจนการดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตามในบางช่วงเงินบาทอาจถูกกดดันจากการปรับตัวสูงขึ้นของ Fed Funds Rate รวมทั้งความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร มองว่าการลงทุนในตลาดหุ้น มีแรงหนุนจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่ง และราคาน้ำมันในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น ประกอบกับมีหุ้นที่มีพื้นฐานดีเข้าตลาด แต่จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จะส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นของไทยไม่สามารถปรับขึ้นได้มากนัก โดยกลุ่มหุ้นที่ยังน่าสนใจลงทุนได้แก่ กลุ่มสื่อสาร กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้อยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยในช่วงครึ่งแรกของปีอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทุกช่วงอายุคงเหลือ ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี อัตราผลตอบแทนยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง และมีความผันผวนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี
สำนักวิจัยประเมินว่าการลงทุนในโครงการ Mega Projects ของรัฐบาลซึ่งมีวงเงินลงทุนถึงประมาณ 1.8-2.2 ล้านล้านบาท จะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นนับตั้งแต่ในปี 2549 เพราะจะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2.9 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 16 ของวงเงินในโครงการดังกล่าว และจะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง โดยโครงการลงทุนที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือการลงทุนในระบบขนส่งมวลชนเฟสแรกซึ่งจะเปิดประมูลในช่วงต้นปี 2549 ด้วยวงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท สำนักวิจัยมองว่า แม้โครงการดังกล่าวจะมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในด้านสนับสนุนการแข่งขันของประเทศ การประหยัดการใช้พลังงาน รวมทั้งการสร้างความพร้อมในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ แต่สิ่งสำคัญที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปด้วยก็คือ ในเรื่องแหล่งที่มาของเงินทุน เพราะหากพิจารณาจากแหล่งที่มาของเงินทุน จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 42 ของวงเงินทั้งหมด โดยเฉพาะการกู้จากต่างประเทศ จะมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ในขณะที่การกู้ยืมในประเทศจะต้องคำนึงถึงความเพียงพอของเงินออมในประเทศ โดยต้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการออมในประเทศควบคู่ไปด้วย เพื่อไม่ให้ไปแย่งทรัพยากรจนส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมากเกินไป ในขณะเดียวกันจะต้องมีการบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในบางโครงการ เพื่อลดภาระการกู้ยืม--จบ--