กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เชิญนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคม เพื่อรับฟังความเห็นและ ข้อเสนอแนะ ให้กฎหมายมีความสมบูรณ์
นายนคร ศิลปอาชา รองปลัดกระทรวงแรงงาน หัวหน้ากลุ่มภาระกิจด้านประกันความมั่นคงในการทำงาน กล่าวว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2533 ซึ่งแก้ไขมาแล้ว 2 ครั้ง คือ แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่2) พ.ศ.2537 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แต่เนื่องจากในปัจจุบันหลังจากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับ ได้มีการเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไข จากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น คณะกรรมาธิการแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) องค์กรแรงงานต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป พระราชบัญญัติประกันสังคมฯ จึงมีบางประเด็นที่ไม่เป็นธรรมและเหมาะสมกับสถานการณ์ สปส.จึงได้แก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา แต่เนื่องจากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นผลให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง สปส.จึงต้องนำกลับมาพิจารณาและทบทวนอีกครั้ง โดยมีการนำเสนอคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2550 และได้มีมติให้สปส.จัดทำประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฯอีกครั้ง เพื่อให้กฎหมายมีความสมบูรณ์และเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวนี้ สปส.ได้เชิญนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และกลุ่มองค์กรต่างๆและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นพร้อมกับรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อให้กลุ่มบุคคลคนดังกล่าวได้รับทราบและเข้าใจในสาระสำคัญของกฎหมายประกันสังคมที่จะปรับปรุงแก้ไข อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่นี้ ประกอบด้วย การเสนอขอให้ยกฐานะของสปส.เป็นองค์กรมหาชน สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ อาทิ การขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ การกำหนดให้ผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ไม่ต้องนำส่งเงินสมทบกรณีว่างงาน การกำหนดให้ผู้ประกันตนม.39 ที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 120 เดือน (10ปี) จ่ายเงินสมทบเฉพาะ 4 กรณีเพียงเท่าเดียว และการแก้ไขระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนทุกกรณีให้ยื่นขอได้ภายในกำหนด 2 ปี จากเดิมเพียง 1 ปี ส่วนกรณีชราภาพให้ยื่นภายใน 5 ปี เป็นต้น