จีนระแวงทุนต่างชาติ สั่งห้ามขึ้นราคา สร้างความมั่นคงอาหารในประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday December 20, 2010 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจำนครปักกิ่ง อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงสหรัฐอเมริกา นาย Henry Alfred Kissinger ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ใครสามารถควบคุมธัญหาร ผู้นั้นสามารถควบคุมมนุษยชาติ” ธัญพืชเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของโลก ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาป้องกันประเทศ ได้ให้คำจำกัดความของความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามด้านความมั่นคงในรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security : NTS) ที่เป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญในสถานการณ์โลกปัจจุบัน และกำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก การพิจารณามาตรการใดที่เป็นหนทางในการรับมือกับปัญหาความมั่นคงด้านอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตลอดไป จึงเป็นประเด็นสำคัญของมหาอำนาจใหม่อย่างประเทศจีนที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งสงครามแย่งวัตถุดิบ ปัญหาจากทุนต่างชาติ รายงานจากคณะกรรมการปฎิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีนเดือน ก.พ. ๒๕๕๓ เผยว่า ในปี ๒๕๕๒ เงินทุนต่างชาติได้ไหลเข้าเก็งกำไรกิจการประเภท พลังงาน ทองคำ เชื้อเพลิง และในปี ๒๕๕๓ เงินทุนมีแนวโน้มที่จะไหลไปยังกิจการประเภทธัญหาร ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาธัญพืชสูงขึ้น ผลลัพธ์เป็นไปตามคาด ราคาพืชอาหารสูงขึ้น ประชาชนเดือดร้อนวุ่นวาย เกิดแรงกดดันถึงรัฐบาล จนสำนักนายกรัฐมนตรีจีนได้ออกมาตรการเข้ม ๑๖ ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าอาหารที่สูงเกินรับในช่วงต้นเดือน พ.ย. ๕๓ ที่ผ่านมา ตามรายงานข่าวที่สำนักงานเกษตรฯได้เคยรายงานไปก่อนหน้านี้ ซึ่งสถาบันวิจัยสังคมและสื่อต่างๆในจีนได้พุ่งเป้าต้นตอปัญหาสินค้าอาหารแพงไปที่การขยายกิจการด้านการเกษตรของบริษัท Yihai Kerry กรุ๊ป (บริษัทร่วมทุนอเมริกาADM-สิงคโปร์ Wil Mart) ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันพืชในจีนถึงร้อยละ ๖๐ มีศักยภาพในการแปรรูปแป้งข้าวสาลี ๕๐-๖๐ ล้านตัน/วัน มากกว่าบริษัท Sino Grain รัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของจีน เป็นรองเพียงแค่ บ. Wu De Li ผู้ผลิตแป้งข้าวสาลีรายใหญ่สุดของจีน นาย Bao Kexing ผู้จัดการใหญ่บริษัท Sino Grain กล่าวว่า “รู้สึกกังวลใจที่ทุนต่างชาติเข้ามาควบคุมตลาดน้ำมันพืชจีนมากขนาดนี้ นอกจากนี้ยังมีการขยายกิจการสร้างโกดังรับซื้อแป้งข้าวสาลี โกดังรับซื้อและโรงสีข้าวในหลายพื้นที่ ฯลฯ โดยอาศัยการเปิดตลาดน้ำมันพืชเป็นตัวนำในการเปิดตลาดสินค้าพืชอาหารอื่นๆ สร้างความวิตกอย่างยิ่งต่อกิจการธัญหารในประเทศ ที่ผ่านมาบริษัทกิจการธัญพืชยักษ์ใหญ่ของโลก ๔ บริษัท ได้แก่ ADM;Archer Daniels Midland Company, Bunge, Cargill, Louis Dreyfus ได้เคยเข้ามาหารือแนวทางร่วมมือกับบริษัท Sino Grain โดยมีแนวคิดที่จะประกอบกิจการแปรรูปและกระจายธัญหารในจีน และมีเป้าหมายอีกด้านหนึ่งที่จะเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบในจีน เนื่องจาก Sino Grain เป็นบริษัทคลังธัญหารที่สำคัญของประเทศ จึงเป็นที่หมายตาของกิจการทุนต่างชาติจำนวนมาก แม้ Sino Grain จะปฎิเสธความร่วมมือ แต่คาดว่าท้ายที่สุดกิจการต่างชาติเหล่านั้นจะสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบในจีนได้มากขึ้น เนื่องจากระเบียบต่างๆได้ผ่อนปรนและเปิดเสรีมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันบริษัทต่างชาติสามารถร่วมมือกับบริษัทคลังธัญพืชท้องถิ่นที่เป็นวิสาหกิจ และรัฐวิสาหกิจต่างๆได้ทั่วประเทศจีน” ลดปริมาณเงินในระบบ เพิ่มมาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตร แนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืนคณะกรรมการปฎิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีนได้ออกโรงเตือน ๔ บริษัทธัญพืชและน้ำมันพืชยักษ์ใหญ่ในจีน ได้แก่ บริษัท Sino Grain ,Yihai Kerry, Zhong Fang Group , Jiu Shan Group ห้ามขึ้นราคาสินค้าภายใน ๔ เดือนนี้ ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศเตรียมเปิดประมูลถั่วเหลืองจำนวน ๑ แสนตันในวันที่ ๗ ธ.ค. ๕๓ ซึ่งเป็นการเปิดประมูลอีกครั้งหลังจากได้เปิดคลังประมูลสินค้าอาหารจำเป็นหลายชนิดไปก่อนหน้านี้ จากปรากฎการณ์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าสังคมและรัฐบาลจีนมีความวิตก และอ่อนไหวต่อปัญหาความมั่นคงอาหารในประเทศอย่างยิ่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจีน นาย Xie Yang กล่าวว่า “หากกิจการธัญหารส่วนใหญ่ตกอยู่ในกำมือทุนต่างชาติ จะส่งผลกระทบต่อมาตรการควบคุมเสถียรภาพทางการตลาด ถึงแม้คลังธัญหารของชาติจะมีปริมาณธัญหารสำรองมากเพียงไรก็ตาม” หนังสือพิมพ์ China Industrial & Economy เผยว่า เป็นธรรมดาของเงินทุนที่ต้องมีการเคลื่อนไหว ถึงแม้จะไม่มีเงินทุนต่างชาติไหลทะลักเข้ามา ลำพังปริมาณเงินในระบบของจีนก็มีมากถึง 43 ล้านล้านหยวน ซึ่งเป็นธรรมดาที่เงินเหล่านี้ต้องหาทิศทางที่ไหลไป สินค้าอาหารจึงตกเป็นเป้าหมายเนื่องจากเป็นสินค้าที่ยังมีช่องว่างในตลาดในตอนนี้” การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจึงต้องลดการเคลื่อนไหวของเงินทุนเพื่อป้องกันการเก็งกำไร และใช้มาตรการอุดหนุนการเกษตรที่มีประสิทธิผล ดังเช่นตัวอย่างของประเทศพัฒนาที่มีการใช้งบประมาณอุดหนุนด้านการเกษตรสูงมาก เช่น ออสเตรเลีย อเมริกา เป็นต้น ที่รายได้เกษตรกรร้อยละ ๘๐ มาจากงบสนับสนุนจากรัฐบาล ยกตัวอย่างในปี ๒๕๕๐ ราคาเนื้อสุกรจีนเพิ่มสูงมาก แต่ราคาเนื้อสุกรประเทศเยอรมันกลับถูกกว่าจีนมาก เป็นเพราะรัฐบาลเยอรมันได้ให้เงินอุดหนุนเกษตรกรเลี้ยงสุกรตัวละ 30 ยูโร ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรในประเทศเยอรมันมีเสถียรภาพ แต่เกษตรกรประเทศจีนเลี้ยงสุกรตัวหนึ่งกลับต้องเสียภาษีถึงตัวละ 80 หยวน เห็นได้ชัดว่าประเทศพัฒนามีนโยบายให้อุตสาหกรรมอุดหนุนการเกษตร แต่การกสิกรรมจีนกลับถูกเบียดเบียนโดยอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างในช่วงที่ราคาปัจจัยการผลิตสูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ พื้นที่เกษตรมากกว่าร้อยละ 20 ถูกทิ้งว่าง ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน รัฐบาลจึงควรออกนโยบายอุดหนุนการเกษตรที่ทำให้เกษตรกรได้กำไรและผลประโยชน์อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันต้องป้องกันและควบคุมเงินทุนทั้งในและนอกประเทศต่างๆที่จะเข้ามาเก็งกำไรและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการตลาด จึงจะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงและยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ