การประชุมแผนเศรษฐกิจปี ๕๓ นัยยะต่อการพัฒนาการเกษตรจีนในอนาคต

ข่าวทั่วไป Monday December 20, 2010 15:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจำนครปักกิ่ง การประชุมการทำงานเศรษฐกิจส่วนกลางจีน (Central Economic Work Conference) ประจำปี ๒๕๕๓ มีเนื้อหาสำคัญที่แปลกใหม่คือ จีนจะปรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจากเดิมที่มุ่งเน้นการเติบโตทางตัวเลข GDP มาเป็นการเน้นให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากขึ้น ซึ่งทุกปีที่ประชุมฯจะประดิษฐิ์คำสำคัญเพื่อให้จดจำง่าย เช่นเดียวกับในปีนี้ที่มีคำสำคัญ ๖ ข้อดังนี้ คือ “ เศรษฐกิจปลอดภัยและเข้มแข็ง เกษตรกรรมเข้มแข็งและเป็นประโยชน์ บริการสาธารณะ เศรษฐกิจสีเขียว ขยายการส่งออก” มุ่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อ พร้อมผลักดันนโยบายเกษตรเข้มแข็ง ด้วยแนวคิดที่ว่าเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานของกิจการทั้งหมด การประชุมการทำงานเศรษฐกิจส่วนกลางจีนปี ๕๓ ในครั้งนี้ รัฐบาลกลางจีนจึงได้ประกาศเร่งผลักดันนโยบายเกษตรสมัยใหม่(การเกษตรที่เน้นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การจัดการที่ทันสมัย) และการเพิ่มอุปทานผลิตผลการเกษตรซึ่งเป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วนอันดับสองรองจากการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าผันผวนอันเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อ จากแนวทางดำเนินการข้างต้น ทำให้เห็นว่ารัฐบาลกลางจีนกลับมาให้ความสำคัญกับเกษตรกรรมอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจชาติ โดยที่ประชุมฯได้มีมติจะคงยึดมั่นแนวทางนโยบายในการทำให้กิจการเกษตรจีนเข้มแข็ง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ด้วยเพราะคำนึงถึงสาเหตุอันเนื่องมาจากปัญหาความแตกต่างทางรายได้ระหว่างสังคมเมืองและชนบทที่มีช่องว่างเพิ่มมากขึ้น และดัชนีราคาผู้บริโภคในชนบทเพิ่มสูงมากกว่าเขตเมือง รายได้ของประชาชนในเขตชนบทเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าและเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผิดรูป นอกจากนี้จากตัวเลขสถิติตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ เป็นต้นมาสินค้าเกษตรเป็นสาเหตุหลักของปัญหาเงินเฟ้อในจีน ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาเร่งด่วนในจีน สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีวัดเงินเฟ้อที่สำคัญได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.ที่ขยายตัว ๔.๔% เพิ่มขึ้นเป็น ๕.๑% ในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เป็นระดับสูงสุดในรอบ ๒๘ เดือน โดยราคาอาหารที่พุ่งขึ้น ๑๑.๗% เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนี CPI สูงขึ้น เนื่องจากราคาอาหารมีสัดส่วนสูงถึง ๑ ใน ๓ ในการคำนวณน้ำหนักดัชนี CPI ของจีน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์นครปักกิ่ง นาย Zhao Hong กล่าวว่า “การประชุมฯในครั้งนี้ภารกิจแรกที่รัฐบาลจีนต้องเร่งแก้ไขคือ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆจากภาวะเงินเฟ้อ รัฐบาลควรเร่งใช้มาตรการ สร้างเสถียรภาพราคาสินค้า ยับยั้งอัตราเงินเฟ้อและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งวิธีการดังกล่าวข้างต้น ล้วนเป็นแนวทางสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ แต่ปัจจุบันเนื่องจากแนวทางปรับโครงสร้างที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเงินลงทุนที่ไม่มีช่องทางเลือกอื่นในการลงทุน จึงเกิดปรากฎการณ์เก็งกำไรในกิจการเดิมๆเช่น อสังหาริมทรัพย์ ผลิตภัณฑ์การเกษตร เป็นต้น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ได้ผลจึงต้องอาศัยทั้งนโยบายของรัฐ และนวัตกรรมจากกิจการในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างแนวทางการลงทุนใหม่ๆในจีน สรุปความเห็น การประชุมเศรษฐกิจส่วนกลางฯในครั้งนี้เป็นเครื่องสะท้อนเป็นอย่างดีว่า “เกษตรกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจชาติ” รัฐบาลจีนตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อครั้งประวัติการณ์นี้ได้สร้างความวิตกแก่ผู้นำจีนเป็นอย่างยิ่งจนในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา และรัฐบาลจีนได้ออกสั่งการให้เพิ่มอุปทานสินค้าเกษตรในตลาดเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรผันผวน และเพิ่มซับพลายสินค้าหลักที่จำเป็นให้แก่ประชาชน ซึ่งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของดัชนี CPI จะชะลอตัวลงต่ำกว่าระดับ ๕ % เนื่องจากมาตรการควบคุมราคาสินค้าของรัฐบาลเริ่มเห็นผล อ้างอิง :Daily Economy ,www.soufun.com วันที่ 13 ธ.ค. 53
แท็ก central   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ