AQSIQ: DNA barcoding กับการตรวจสอบศัตรูพืชกักกัน

ข่าวทั่วไป Monday December 20, 2010 15:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจำนครปักกิ่ง ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีการเข้ามาของ Invasive Alien Species มากที่สุดในโลก จากการรายงานของ the International Union for Conservation of Nature (IUCN) เกี่ยวกับ Invasive Alien Species ที่มีอันตรายจำนวน ๑๐๐ ชนิดนั้น พบว่า มีการเข้ามาในประเทศจีนถึง ๕๐ กว่าชนิด สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า ๑๓๐,๐๐๐ ล้านหยวน หรือประมาณ ๖๕๐,๐๐๐ ล้านบาทในแต่ละปี ที่ผ่านมา ศัตรูพืชกักกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งแมลงวันผลไม้ ที่ตรวจพบในสินค้าเกษตรนำเข้าประเภทผักและผลไม้ มักจะอยู่ในรูปของหนอน และดักแด้ เมื่อตรวจพบต้องนำไปเลี้ยงจนเป็นตัวเต็มวัยในห้องปฏิบัติการก่อน จึงจะสามารถใช้วิธีการทางอนุกรมวิธานจำแนกได้ว่า เป็นแมลงวันผลไม้ชนิดใด ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ปัจจุบันเริ่มมีการหันมาใช้เทคนิคด้าน DNA barcoding ในการตรวจสอบชนิดของแมลงวันผลไม้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ CIQ กวางตุ้ง ที่มีศูนย์วิจัยแมลงวันผลไม้โดยเฉพาะ โดยเทคนิค DNA barcoding นี้ เป็นการนำเอายีน COI ที่อยู่ในไมโทรคอนเดรียของแมลงวันผลไม้วัยใดก็ได้ มาตรวจสอบหาลำดับ DNA จากนั้นจึงนำลำดับ DNA ที่ได้ ไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลแมลงวันผลไม้ ที่มีอยู่ใน GenBank ซึ่งผลตรวจสอบที่ได้ มีความแม่นยำสูง และกระบวนการตรวจสอบทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน ทำให้สามารถย่นระยะเวลาในการตรวจสอบกักกันพืช เป็นผลดีต่อการรักษาความสดของผักผลไม้นำเข้าได้ ข้อดีของการใช้เทคนิดด้าน DNA barcoding ๑. สามารถใช้ตรวจสอบได้กับแมลงวันผลไม้ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นไข่ หนอน ดักแด้ หรือตัวเต็มวัย และสามารถใช้ตรวจสอบตัวอย่างที่ไม่สมบูรณ์ได้เช่นกัน ๒. สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง ๓. สามารถนำไปฝึกปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่กักกันพืชได้อย่างง่ายดาย ช่วยลดการพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานได้ เป็นต้น ข้อเสนอแนะ — แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องจาก China Agricultural University เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทาง AQSIQ ได้ให้ความสำคัญกับการนำเอาเทคนิคด้าน DNA barcoding มาใช้ในการตรวจสอบชนิดของแมลงวันผลไม้เป็นอย่างมาก โดยมีการทุ่มงบประมาณในการวิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะ ตลอดจนมีการพัฒนาฐานข้อมูลขึ้นมาเอง เพื่อลดการพึ่งพาฐานข้อมูลของ GenBank หรือ BOLD และเตรียมที่จะอบรมเทคนิคนี้ให้กับเจ้าหน้าที่กักกันพืชทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อได้ว่า อีกไม่เกิน 2 ปี จะมีการนำเทคนิคนี้มาใช้ในด่านตรวจพืชทุกด่านทั่วประเทศอย่างแน่นอน จึงเห็นว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ ไทยควรเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ เพื่อให้ก้าวทันต่อสถานการณ์ด้านความก้าวหน้าทางด้านกักกันพืชต่อไป ข้อมูลจาก http://www.aqsiq.gov.cn/zjxw/dfzjxw/dfftpxw/201012/t20101209_172214.htm ๙ ธ.ค. ๕๓

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ