กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังเผยฐานะการคลังในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 ยังคงเข้มแข็ง เงินคงคลัง ณ สิ้นพฤศจิกายน 2553 มีจำนวน 2.4 แสนล้านบาท จากรายได้รัฐบาลที่เก็บได้เกินเป้า ตลอดจนการเร่งดำเนินบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณ
ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 249,864 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 15,919 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.8 โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น ทำให้การจัดเก็บภาษีของ 3 กรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ในขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 430,604 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณ 180,740 ล้านบาท เมื่อรวมกับการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 45,105 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวม 225,845 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 36,021 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ขาดดุลทั้งสิ้น 189,824 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 มีจำนวน 239,498 ล้านบาท
นายอารีพงศ์สรุปว่า “การจัดเก็บรายได้ที่ยังคงสูงกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้ฐานะการคลังของรัฐบาลอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง โดยกระทรวงการคลังมั่นใจว่าจะสามารถทำหน้าที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงทางการคลังได้”
ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554
หน่วย: ล้านบาท
2 เดือนแรก เปรียบเทียบ
ปีงบประมาณ 2554 ปีงบประมาณ 2553 จำนวน ร้อยละ
1. รายได้ 249,864 233,945 15,919 6.8
2. รายจ่าย 430,604 278,954 151,650 54.4
3. ดุลเงินงบประมาณ -180,740 -45,009 -135,731 301.6
4. ดุลเงินนอกงบประมาณ -45,105 -68,220 23,115 -33.9
5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4) -225,845 -113,229 -112,616 99.5
6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 36,021 31,000 5,021 16.2
7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6) -189,824 -82,229 -107,595 130.8
ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
รายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จาก www.fpo.go.th สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 0 2273 9020 ต่อ 3568
ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดประจำเดือนพฤศจิกายน 2553และในช่วง 2 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม — พฤศจิกายน 2553)
ในเดือนพฤศจิกายน 2553 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 117,894 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 96,960 ล้านบาท และดุลเงินนอกงบประมาณขาดดุล 20,934 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 225,845 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้ชดเชยการขาดดุลเงินสดด้วยการกู้จำนวน 36,021 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 มีจำนวนเท่ากับ 239,498 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่มีความมั่นคงต่อฐานะการคลังของรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ฐานะการคลังเดือนพฤศจิกายน 2553
1.1 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 126,193 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 8,076 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 6.8) โดยเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจัดเก็บภาษีส่วนใหญ่สูงกว่าเป้าหมาย ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลให้มีการนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้นมาก
1.2 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 223,153 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 34,539 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 18.3) ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ 196,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว และรายจ่ายลงทุน 10,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 101.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 15,951 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 29.1 (ตารางที่ 1)
การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 24,444 ล้านบาท สำนักงานประกันสังคม 22,993 ล้านบาท และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 21,397 ล้านบาท
ตารางที่ 1 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเดือนพฤศจิกายน 2553
หน่วย: ล้านบาท
พฤศจิกายน เปรียบเทียบ
2553 2552 จำนวน ร้อยละ
1. รายจ่ายปีปัจจุบัน 207,202 166,116 41,086 24.7
1.1 รายจ่ายประจำ 196,445 160,782 35,663 22.2
1.2 รายจ่ายลงทุน 10,757 5,334 5,423 101.7
2. รายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 15,951 22,498 -6,547 -29.1
3. รายจ่ายรวม (1+2) 223,153 188,614 34,539 18.3
ที่มา: กรมบัญชีกลาง
1.3 จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้น ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขาดดุล 96,960 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 20,934 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิจำนวน 19,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุล เงินสดจำนวน 117,894 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 มีจำนวน 239,498 ล้านบาท (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 2 ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดเดือนพฤศจิกายน 2553
หน่วย: ล้านบาท
พฤศจิกายน เปรียบเทียบ
2553 2552 จำนวน ร้อยละ
1. รายได้ 126,193 118,117 8,076 6.8
2. รายจ่าย 223,153 188,614 34,539 18.3
3. ดุลเงินงบประมาณ -96,960 -70,497 -26,463 37.5
4. ดุลเงินนอกงบประมาณ -20,934 -31,422 10,488 -33.4
5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4) -117,894 -101,920 -15,974 15.7
6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 20,021 31,000 -10,979 -35.4
7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6) -97,873 -70,920 -26,953 38.0
ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
2. ฐานะการคลังในช่วง 2 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — พฤศจิกายน 2553)
2.1 รายได้นำส่งคลัง รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 249,864 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 15,919 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 6.8) โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการแข็งค่าของเงินบาท โดยภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีสรรพสามิตรถยนต์
2.2 รายจ่ายรัฐบาล การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 430,604 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 151,650 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 54.4) ประกอบด้วยรายจ่ายปีปัจจุบัน 401,319 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 63 และรายจ่ายปีก่อน 29,285 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.4 (ตารางที่ 3)
รายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 401,319 ล้านบาท แบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำ 386,401 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 60.8 และรายจ่ายลงทุน 14,918 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 148.3 เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่แล้ว เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2552 ทำให้ในช่วงก่อนหน้านั้น สามารถเบิกจ่ายได้เฉพาะรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนที่ได้ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไว้แล้วเท่านั้น
ตารางที่ 3 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในช่วง 2 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2554
(ตุลาคม — พฤศจิกายน 2553)
หน่วย: ล้านบาท
2 เดือนแรก เปรียบเทียบ
ปีงบประมาณ 2554 ปีงบประมาณ 2553 จำนวน ร้อยละ
1. รายจ่ายปีปัจจุบัน 401,319 246,259 155,060 63.0
1.1 รายจ่ายประจำ 386,401 240,252 146,149 60.8
1.2 รายจ่ายลงทุน 14,918 6,007 8,911 148.3
2. รายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 29,285 32,694 -3,409 -10.4
3. รายจ่ายรวม (1+2) 430,604 278,954 151,650 54.4
ที่มา: กรมบัญชีกลาง
2.3 ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ขาดดุล 225,845 ล้านบาท โดยเป็น
การขาดดุลเงินงบประมาณ 180,740 ล้านบาท และการขาดดุลเงินนอกงบประมาณจำนวน 45,104 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ 56,290 ล้านบาท และรายจ่ายเหลื่อมจ่ายจากปีงบประมาณ 2553 จำนวน 14,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน รวมทั้งสร้างความมั่นคงของฐานะการคลัง โดยชดเชยการขาดดุลดังกล่าวด้วยการกู้จำนวน 36,021 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับ 189,824 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น 239,498 ล้านบาท (ตารางที่ 4)
ตารางที่ 4 ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 2 เดือนแรก
ปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม — พฤศจิกายน 2553)
หน่วย: ล้านบาท
2 เดือนแรก เปรียบเทียบ
ปีงบประมาณ 2554 ปีงบประมาณ 2553 จำนวน ร้อยละ
1. รายได้ 249,864 233,945 15,919 6.8
2. รายจ่าย 430,604 278,954 151,650 54.4
3. ดุลเงินงบประมาณ -180,740 -45,009 -135,731 301.6
4. ดุลเงินนอกงบประมาณ -45,105 -68,220 23,115 -33.9
5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4) -225,845 -113,229 -112,616 99.5
6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 36,021 31,000 5,021 16.2
7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6) -189,824 -82,229 -107,595 130.8
ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 0-2273-9020 ต่อ 3568