หารือแก้ไขน้ำเสีย 3 คลองพื้นที่บางพลัด

ข่าวทั่วไป Monday May 21, 2007 15:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--กทม.
นายจักรพันธ์ พรนิมิต ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือกับสภาเขตบางพลัดและผู้แทนสำนักการระบายน้ำในแนวทางแก้ไขสภาพคลองในพื้นที่เขตบางพลัด คือ คลองบางยี่ขัน คลองบางจาก และคลองบางบำหรุ พร้อมเปิดเผยว่า คลองบางบำหรุซึ่งมีความยาวตลอดคลองประมาณ 3 กม. กทม. ได้ทำการก่อสร้างเขื่อนดาดท้องคลองแล้วเสร็จไป 2.25 กม. เหลืออีก 750 เมตร ช่วงตั้งแต่ ถ.สิรินธร — ทางรถไฟสายใต้ ติดกับพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การไหลเวียนของน้ำในคลองดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยในปีงบประมาณ 2551 นี้ สำนักการระบายน้ำจะเสนอแผนก่อสร้างเขื่อนในช่วงที่เหลือ โดยคาดว่าใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะช่วยให้การระบายน้ำในคลองบางบำหรุดีขึ้น แต่ในช่วงนี้ทางสภาเขตบางพลัดจะได้ทำการประสานกับเทศบาลบางกรวยให้ช่วยปล่อยน้ำดีจากคลองบางกรวยเพื่อไล่น้ำเสียในคลองบางบำหรุเป็นการบรรเทาปัญหาไปก่อน
ด้านคลองบางยี่ขันช่วงที่ผ่านมามีการลดระดับน้ำในคลองเพื่อรองรับน้ำฝนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในลักษณะการทำงานของแก้มลิง แต่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียตามมา จึงได้เสนอให้สำนักการระบายน้ำสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมสถานีสูบน้ำในพื้นที่บริหารจัดการน้ำให้เคลื่อนตัวบ้างโดยไม่กระทบการป้องกันน้ำท่วม โดยใช้วิธีการปล่อยน้ำเข้าคลองบางบำหรุและคลองผักหนามตอนคลองบางกอกน้อย และสูบน้ำออกปากคลองบางยี่ขันตอนแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเหม็นได้
ส่วนคลองบางจากมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ เป็นคลองที่ไหลไปตามท่อที่กทม. ได้วางไว้เพื่อให้คลองไหลลอดอุโมงค์ข้ามแยกบางพลัดซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ดิน จึงทำให้น้ำในคลองบางจากประสบปัญหามีตะกอนดินตกค้างเป็นจำนวนมาก ทำให้การไหลเวียนของน้ำในคลองประสบปัญหา สำนักการระบายน้ำจึงได้ดำเนินการขุดลอกตะกอนดินออกจากท่อลอดและติดตั้งเครื่องสูบตะกอนขนาด 10 นิ้ว ความสามารถสูบสูง 18 เมตร จำนวน 2 เครื่องแล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอให้ติดตั้งเครื่องกวนตะกอน เพื่อติดตั้ง บริเวณคลองบางจากช่วงที่ลอดใต้อุโมงค์บางพลัดเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย
นายจักรพันธ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาสภาพน้ำในคลองทั้งสามแห่ง โดยรณรงค์งดทิ้งขยะและช่วยกันลดการปล่อยน้ำเสียลงคลองดังกล่าวพร้อมดึงเยาวชนให้มีส่วนร่วมโดยให้เยาวชนในชุมชนเป็นผู้จดบันทึกสภาพน้ำเพื่อรายงานสำนักงานเขต ซึ่งหากการดำเนินการที่เขตบางพลัดประสบผลสำเร็จ ตนจะได้นำเสนอแผนการดังกล่าวต่อที่ประชุมผู้บริหารกทม. เพื่อปรับใช้กับพื้นที่อื่นต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ