พม.เดินหน้ายุทธศาสตร์เยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม หลังครม.ผ่านความเห็นชอบ เสนอมาตรการจี้ผู้ชายร่วมรับผิดชอบ ลดปัญหาทำแท้ง-เด็กเร่ร่อน

ข่าวทั่วไป Wednesday December 22, 2010 13:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--พม. วันนี้ (๒๒ ธ.ค.๕๓) เวลา ๐๙.๐๐ น.ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทำท้องแล้วต้องรับ”เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหาแนวทางการออกกฎหมายหรือมาตรการทางสังคมในเรื่อง การให้ผู้ชายมีส่วนร่วมรับผิดชอบในกรณีทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยรมว.พม.เปิดเผยว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นปัญหาที่สังคมกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ในการดูแลเด็กและเยาวชนของประเทศไทย โดยในประเทศไทยพบว่า อัตราการคลอดบุตรของแม่วัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง ๑๕-๑๙ ปี อยู่ที่ประมาณ ๗๐ รายต่อวัน ในหญิงวัยเดียวกัน ๑,๐๐๐ ราย ซึ่งค่าเฉลี่ยดังกล่าวสูงกว่า ค่าเฉลี่ยของระดับภูมิภาคเอเชียซึ่งอยู่ที่ ๕๖ ราย ต่อหญิงในวัยเดียวกัน ๑,๐๐๐ ราย และจากสถิติการคลอดบุตรของเด็กไทย ที่มาคลอดบุตรที่ โรงพยาลของรัฐ พบว่าในปี ๒๕๔๔ มีอัตราร้อยละ ๑๐.๓๗ แต่ในปี ๒๕๕๐ สถิติเพิ่มสูงขึ้นเป็นอัตราร้อยละ ๑๗.๙๐ ซึ่ง เด็กในกลุ่มอายุ ๑๓-๑๕ เป็นกลุ่มที่มีการตั้งครรภ์สูงที่สุดถึงร้อยละ ๙๘.๕ โดยจังหวัดที่มีเด็กอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี มาคลอดบุตรในโรงพยาบาลของรัฐ สิบอันดับแรก ได้แก่ ๑) จังหวัดกำแพงเพชร ๒) ประจวบคีรีขันธ์ ๓) พิจิตร ๔) นครสวรรค์ ๕) ลพบุรี ๖) อุทัยธานี ๗) สมุทรสงคราม ๘) ชัยนาท ๙) กาญจนบุรี ๑๐) อ่างทอง ทั้งนี้ ประเภทของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่อาจตั้งครรภ์ไม่พร้อม ได้แก่ ๑. เด็กและเยาวชนในโรงเรียนซึ่งศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น ๒. เด็กและเยาวชนในชุมชนแออัด ๓. เด็กและเยาวชนที่พักอยู่ในหอพัก โดยเฉพาะหอพักที่ไม่ได้ปฏิบัติตามพ.ร.บ. หอพัก พ.ศ. ๒๕๐๗ ๔. เด็กและเยาวชนที่ทำงานอยู่ในโรงงาน และ๕. เด็กเร่รอน ซึ่งจากสภาวะทางร่างกายและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ยังไม่พร้อม ทำให้การตั้งครรภ์ในวัยนี้ส่งผลเสียทั้งต่อมารดาและบุตร ไม่ว่าจะเป็นการขาดโอกาสทางการศึกษา คุณภาพชีวิต หลายรายมุ่งหาวิธีการยุติการตั้งครรภ์ด้วยการทำแท้ง โดยเลียนแบบพฤติกรรมจากทีวี เช่น ใช้วิธีการตกบันได ชนหรือกระแทกท้องด้วยความรุนแรงเพื่อให้แท้ง หรือเลือกการทำแท้งเถื่อน นายอิสสระ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหานี้ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนขึ้น โดยจัดทำร่างยุทธศาสตร์ขึ้นมา ๖ ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ด้านการป้องกัน โดยการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาในการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษาแก่นักเรียน พร้อมปรับทัศนคติบุคลากรด้านการศึกษา รวมทั้งเปิดโอกาสให้แม่วัยเยาว์ได้กลับเข้าศึกษาต่อ ยุทธศาสตร์ด้านการช่วยเหลือและบำบัดฟื้นฟู โดยการสนับสนุนที่พักพิงและบริการให้คำปรึกษา ฟื้นฟูร่างกาย จิตใจ และสังคม จัดฝึกอาชีพ แม่วัยเยาว์ที่ต้องการกลับไปเรียนต่อต้องได้รับโอกาสการเข้าเรียน ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างบทบาทและองค์ความรู้แก่ผู้นำทางความคิดของเด็กและเยาวชน โดยการปรับทัศนคติพ่อแม่ให้ยอมรับความผิดพลาดของลูกและร่วมกันหาทางออก ยุทธศาสตร์การขจัดสิ่งยั่วยุและอิทธิพลจากสื่อ โดยการตรวจสอบควบคุมสื่อที่ไม่เหมาะสม ส่งเสริมให้สถาบันด้านสื่อมวลชนให้มีการผลิตสื่อด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ยุทธศาสตร์ด้านการผลักดันนโยบาย โดยมีกลไกขับเคลื่อนระดับชาติ จังหวัด และท้องถิ่น ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และยุทธศาสตร์การสำรวจข้อมูล การพัฒนาระบบงาน และการติดตาม โดยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลทุกปีงบประมาณ สรุปประมวลผลสถานการณ์ปัญหาและหาทางแก้ไขในคณะกรรมการระดับชาติและจังหวัด ในการช่วยเหลือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในเด็กและเยาวชน ซึ่งยุทธศาสตร์เหล่านี้ จะเป็นมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างป็นระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปสู่การตั้งครรภ์ไม่พร้อม และส่งเสริมความรับผิดชอบให้ผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม ต้องร่วมรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตร โดยขณะนี้ คณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบเป็นยุทธศาสตร์แล้ว และกระทรวงฯ จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ประกาศเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาชน ได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ป้องกันและแก้ไขปัญหาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม นายอิสสระ กล่าวอีกว่า จากกรณีการพบซากทารก ๒,๐๐๒ ศพ ที่วัดไผ่เงิน ได้จุดประกายให้สังคมมีมุมมองใหม่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยไม่พุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เริ่มมองไปที่ผู้ชายที่มีส่วนทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม และควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ไม่ใช่ให้ผู้หญิงต้องแบกรับปัญหาแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งมุมมองเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ชายนี้ แยกได้เป็น ๒ มิติ คือ สังคมจะมีมาตรการอย่างไร ในการให้พ่อวัยเยาว์ หรือผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่เป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน ๑๘ ปี มีส่วนร่วมรับผิดชอบ และหากเป็นผู้ชายทั่วไป ควรมีมาตรการทางสังคมหรือมาตรการทางกฎหมาย กำหนดให้รับผิดชอบหรือไม่อย่างไร “การสัมมนาในวันนี้ จะเป็นเวทีในการร่วมหารือและรับฟังความคิดเห็น ประเด็นการส่งเสริมให้ผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ เพื่อที่ผู้หญิงจะได้ไม่ต้องแบกรับความทุกข์แต่เพียงผู้เดียว และเป็นการหาทางออกห้ปัญหาการทำแท้งเถื่อน การฆ่าทารก หรือการทอดทิ้งบุตร ได้ลดจำนวนลงหรือหมดไปในที่สุด” นายอิสสระ กล่าว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ